ดวงประเทียบ

 

ดวงประเทียบภีษมะ มหาภารตะยุทธ
9 ต.ค. 2559

 

ดวงประเทียบตอนนี้ ขอไปถึงประเทศอินเดียย้อนยุคหลังรามเกียรติ กล่าวถึงเทพองค์หนึ่งที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวฮินดู รองจากพระกฤษณะแล้ว ก็มีภีษมะนี่แหละ แต่คนดีอย่างนี้ก็หายากจริงๆ เหนื่อยใจ หนักอก รับผิดชอบตั้งแต่ต้นจนถึงกาลอวสาน เรียกว่าเหนื่อยจนตาย แต่ก็เป็นตัวเอกของเรื่องภารตะยุทธ์ แถมเป็นต้นกำเนิดของเรื่องราวทั้งหมดด้วย
 
ภีษมะหรือเจ้าชายเทวพรต เป็นพระโอรสของพระราชาศานตนุแห่งกรุงหัสตินาปุระ แคว้นกุรุ กับพระแม่คงคา เป็นปู่คนหนึ่งของทั้งฝ่ายเการพและฝ่ายปาณฑพ ภายหลังจากที่เจ้าชายเทวพรตได้ให้สัตย์สาบานแก่ฟ้าดินว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับบัลลังก์กษัตริย์และจะไม่แต่งงานมีลูกกับหญิงคนใดแล้วนั้น ก็ได้ชื่อใหม่คือท้าวภีษมะ พระบิดาคือท้าวศานตนุก็ซาบซึ้งพระทัยมาก เพราะจะมีเมียใหม่ก็เกรงใจลูก ลูกก็มีน้ำใจ ขนาดไปเชื้อเชิญมาเป็นแม่เลี้ยงตน จึงให้พรกับภีษมะว่า จะให้ภีษมะมีอายุยืนยาวเท่าไรก็ได้ ไม่มีวันตาย นอกเสียจากว่าภีษมะจะต้องการตายเองจริง ๆ
 
เกริ่นมาถึงตรงนี้ พอจะร้องอ๋อได้แล้วใช่ไหมคะ ถ้าเคยดูหนังแล้ว ก็จะรู้จักว่าภีษมะคือใคร ถ้าไม่รู้จักก็ไม่เป็นไรอ่านไป เรียนดวงไปก็จะรู้จักไปเอง
 
ภีษมะนั้นต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส เพราะเป็นผู้เห็นเรื่องราวทุกอย่าง ความพินาศของราชวงศ์กุรุ การรบพุ่งกันบนสงครามกุรุเกษตรและผลพวงของสงคราม
 
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะชาติก่อนท้าวภีษมะเคยเกิดเป็นหนึ่งในคณะเทพวสุ ก็คือคณะเทพที่มี ๘ องค์ด้วยกัน และมีภรรยาครบทุกองค์ เมื่อจะไปที่ใดก็ต้องเสด็จไปทั้ง ๑๖ องค์ มีอยู่วันหนึ่ง ภรรยาของเทพทยุซึ่งเป็นหนึ่งในคณะเทพวสุ อยากได้แม่โคนันทินีของฤๅษีวสิษฐ์ซึ่งเป็นฤๅษีคนสำคัญ เทพทยุรู้ว่าผิดแต่ก็ช่วยกันกับเทพอีก ๗ องค์ในการโขมยวัว แต่ฤๅษีวสิษฐ์ก็จับได้ จึงสาปให้เทพทั้ง ๘ องค์ไปเกิดรับความทรมานบนโลกมนุษย์ แต่เทพ ๗ องค์นั้นเป็นเพียงตัวประกอบในการช่วยกันโขมยวัวเท่านั้น ตัวตั้งตัวตีนั้นคือเทพทยุ จึงถูกสาปให้ไปเกิดบนโลกมนุษย์รับความทรมานแสนสาหัสหนักกว่าใครเพื่อน ทั้งหมดจึงไปขอให้พระแม่คงคารับหน้าที่เป็นพระมารดาของเทพ ๘ องค์นี้ และคอยโยนเทพทั้ง ๗ องค์ที่มาเกิดบนโลกมนุษย์นี้ลงแม่น้ำทันที จะได้ไม่ต้องมารับกรรมมาก ดังนั้นเมื่อทราบข่าวการตายเร็วของใครต่อใคร เขาคงกลับไปเป็นเทวดา เพราะอยู่ในโลกก็ทรมานแสนสาหัส ก็อย่าไปสงสัยถามไถ่ เพราะแน่นอน ไม่ใช่เรื่องของเรา
 
ส่วนเทพทยุที่ทำผิดหนักกว่าใครเพื่อน ก็ได้มาเกิดนานกว่าคนอื่น ก็คือท้าวภีษมะนั่นเอง โดยพระแม่คงคาได้นำตัวท้าวภีษมะไปร่ำเรียนวิชาพระเวทและคัมภีร์เวทานตะโดยฤๅษีวสิษฐ์ ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่สาปให้ภีษมะมาเกิดบนโลกนานกว่าใคร
 
เรื่องของเทพและฤาษีก็เป็นเรื่องเข้าใจยาก เดี๋ยวดีเดี๋ยวสาป เลยส่วนใหญ่คนอ่านจำเรื่องไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ ยังได้ร่ำเรียนวิชารัฐศาสตร์เกี่ยวกับการปกครองจากพระพฤหัสบดี และวิชายิงธนูโดยภควาจารย์หรือฤๅษีปรศุราม (ที่เกลียดพวกวรรณะกษัตริย์แต่คราวนี้ยอมสอนให้)
 
 
ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, อาจารย์แอน, ภีษมะ, มหาภารตะ, ปัญจมหาบุรุษโยค, ดวงจตุสดัย
 
เรื่องราวของภารตะยุทธนี้ อ่านยาก ศัพท์เยอะ ตัวละครมาก แต่ก็สนุกมาก สำหรับภีษมะขอวางลัคนาไว้ที่ราศีเมษ แต่ต้องเกาะที่อัศวิณีทลิทโทฤกษ์ต้นธาตุไฟ (1) และมีดาว ๕ เป็นเกษตรกุมดาว ๐ อยู่ที่ภพวินาศ ภพวินาศจัดเป็นภพของกรรมเก่าด้วย ให้ดาว ๕ สถิตย์ที่อุตราภัทรบท โจโรฤกษ์ และดาว ๐ สถิตที่บูรพาภัทรบท ราชาฤกษ์
 
การวางลัคนาและดวงดาวคราวนี้ต้องอาศัยฤกษ์ประกอบด้วย เพราะเรื่องราวของภีษมะเยอะมากจริงๆ ดูหนังก็ ๓๒ ชั่วโมงถึงจะจบ แบบติดต่อกันนะ ไม่ต้องหลับต้องนอนกัน
 
ใครที่มีลัคนาอยู่ที่อัศวิณี ตามนิยายดาวมีความหมายว่าจะมีปัญญา รู้ศิลปศาสตร์มาก ถึงผู้ใดจะทำให้ตายก็มิตาย จะมีมิตรสหายและบริวารมาก ตรงกับลักษณะของภีษมะไหม แต่จะให้ดาว ๔ อยู่ด้วย ลักษณะดาว ๔ ที่พักร์ (2) ด้วยถอยหลังมาเจอดาว ๑ ตามตำราบอกว่าประเสริฐนัก เป็นผู้รักษาสัตย์เป็นเลิศ ทั้งสถิตอยู่ที่ภรณี มหัทธโนฤกษ์ มักทำกิจอย่างรู้กาล และศัตรูปองร้ายอย่างไรไม่ถึงที่ตาย มีผู้คอยพิทักษ์รักษาอยู่แข็งแรง นานไปศัตรูจะกลับมาเป็นมิตร เพราะฉะนั้นถ้าวางดวงชะตาแบบนี้ ก็เท่ากับกำหนดความเป็นไปของภีษมะตามที่เราได้อ่านกัน ถ้าจำไม่ได้ก็ย้อนไปอ่านข้างต้นใหม่นะคะ
 
ส่วนดาว ๕ ที่เป็นเกษตรราศีมีน อยู่ภพวินาศเป็นผู้ที่มีกรรมชักนำมา ให้ทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์และเป็นแบบอย่าง ตอนจบนอนบนเตียงลูกศร คือต้องธนูของอรชุนจนพรุนไปทั้งร่าง จึงให้เกาะฤกษ์ที่เกี่ยวกับธนู เพราะเป็นฤกษ์ที่กษัตริย์ทำกรรมมาในอดีต ยิงกวางด้วยธนูและตัวเองก็ได้รับบาดเจ็บจนตาย เมื่อดาว ๕ เกาะในฤกษ์นี้หมายความว่าด้วยเหตุแห่งกรรม ท้ายสุด มีเหตุแห่งความร้อนใจ จึงนำความเสื่อมและวินาศฉิบหาย ทั้งจะแพ้เมื่อคู่ต่อสู้มีกำลังเหนือตน
 
เหตุแห่งความเสื่อมเกิดจากความแตกแยกในหมู่ญาติ จึงให้ดาว ๗ เป็นประอยู่ภพพันธุ ได้รับกระแสจากดาว ๕ คู่พระคู่โจร (3)
 
ดาว ๐ ที่อยู่ร่วมราศีกับดาว ๕ ให้เกาะบูรพภัทรบท ราชาฤกษ์ มีความหมายของการจากพ่อแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย มีทรัพย์ มีมิตรสหาย แต่จะเสียเพราะผู้หญิงตามท้องเรื่องเพราะแม่เลี้ยง แต่อย่าเข้าใจผิด เพราะภีษมะไม่ได้เจ้าชู้ ทั้งไม่ได้แต่งงาน
 
แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ได้ไปชิงตัวเจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสี ๓ พระองค์ก็คือ เจ้าหญิงอัมพา เจ้าหญิงอัมพิกา และเจ้าหญิงอัมพาลิกา มาเป็นมเหสีของวิจิตรวีรยะผู้เป็นน้องต่างมารดา (ตอนนั้นจิตรางคทะเสียชีวิตไปแล้วและโดยปกติมีข้อตกลงกันมานานแล้วว่า หากแคว้นกาสีมีพระธิดาจะต้องยกให้กับเจ้าชายแคว้นหัสตินาปุระก่อน แต่คราวนี้กลับทำพิธีสยุมพรแต่ไม่ได้เชิญเจ้าชายแคว้นหัสตินาปุระไปร่วมด้วย) แต่เมื่อชิงตัวทั้งสามมายังกรุงหัสตินาปุระเรียบร้อย เจ้าหญิงอัมพาเกิดบอกกับภีษมะว่า ตอนที่ภีษมะกำลังจะไปชิงตัวนางนั้น นางกำลังจะทำพิธีสยุมพรกับท้าวศัลวะซึ่งเป็นคู่รักของนาง ทุกคนคือท้าวภีษมะ พระนางสัตยวดีและวิจิตรวีรยะตกใจมากกับเรื่องที่เกิดขึ้น จึงส่งตัวเจ้าหญิงอัมพาให้ท้าวศัลวะ แต่ท้าวศัลวะไม่ยอมรับตัวเจ้าหญิงอีกต่อไป เจ้าหญิงอัมพาเสียใจมาก เมื่อกลับมาหาท้าวภีษมะและขอร้องให้แต่งงานกับตน แต่ท้าวภีษมะทำไม่ได้เพราะเคยให้สัตย์สาบานกับฟ้าดินไว้ นางอัมพาโกรธแค้นท้าวภีษมะมาก จึงขอให้ฤๅษีปรศุรามผู้เป็นอาจารย์ของท้าวภีษมะมาขอร้องแทน แต่ก็ไม่เป็นผลและยังต้องต่อสู้กับท้าวภีษมะอีกด้วย แต่ผลก็ไม่รู้แพ้รู้ชนะ เพราะภีษมะกำลังจะตัดสินการสู้กันโดยใช้วิชาอัสตระชื่อวิชาปรัสวาปะ ซึ่งเป็นวิชาทำลายล้างโลก แต่ก็ถูกพระนารายณ์และพระศิวะห้ามไว้ก่อน เจ้าหญิงอัมพาจึงไม่สมหวังและขอพรกับเทพบุตรสันมุข พระองค์จึงให้พวงมาลัยที่ไม่มีวันเหี่ยวเฉากับนาง เพื่อเอาไปคล้องคอกับผู้ที่จะฆ่าท้าวภีษมะให้ แต่ไม่มีกษัตริย์คนใดยอมรับ มาถึงคนสุดท้ายคือท้าวทรุปัท พระองค์ก็ไม่ยอมเช่นกัน เจ้าหญิงจึงแขวนพวงมาลัยในที่เสาในท้องพระโรงและได้พรจากพระศิวะให้นางเป็นคนฆ่าภีษมะด้วยตนเอง นางทนรอชาติหน้าไม่ไหวจึงเผาตนเองในกองไฟไปเกิดใหม่เป็นพระธิดาของท้าวทรุปัทชื่อ ศิขัณทิน (แต่ภายหลังได้แลกเพศกับยักษ์ตนหนึ่ง)
 
ส่วนในสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรนั้น ท้าวภีษมะต้องเข้าร่วมกับพวกเการพ และเป็นแม่ทัพให้กับทุรโยธน์ ท้าวภีษมะไม่เต็มใจนักเพราะแต่ละฝ่ายต่างก็เป็นหลานของตน จึงเข้าร่วมกับฝ่ายเการพและบอกว่าจะไม่สังหารพี่น้องปาณฑพอย่างเด็ดขาด
 
แต่ในที่สุดแล้ว ภีษมะก็ตายด้วยน้ำมือของอรชุนซึ่งเป็นหลาน ไม่ใช่ศิขัณทิน ในสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร โดยอรชุนระดมยิงธนูใส่ภีษมะเป็นจำนวนมาก แต่ภีษมะยังไม่ตาย โดยสอนวิธีการปกครองให้กับพวกปาณฑพก่อนที่ตนเองจะตั้งใจตาย เมื่อสอนหลาน ๆ ฝ่ายปาณฑพจบ ภีษมะก็ได้ตายจากไปและขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ดังเดิม
 
ภายใต้ศึกสงครามและความเมตตาของภีษมะที่มีต่อหลานๆ ดูมันขัดกัน เลยให้ดาว ๖ ซึ่งต้องอยู่ไม่ไกลดาว ๑ และดาว ๔ นำหน้าลัคนาอยู่ราศีพฤษภ เมื่อพระอาทิตย์ตก ดาว ๖ จะอยู่ในตำแหน่งอสูรสงคราม (4) และให้เกาะอยู่โรหิณีฤกษ์ และต้องอยู่ในองศา ๑๕ โดยประมาณเพื่อรับแสงจากดาวอันเดอบาเรน (Aldebaran) คือดาวแห่งสงคราม แต่เมื่อเป็นดาว ๖ จึงกอรปด้วยความรักและเมตตา ทั้งเป็นผู้คอยแก้ปัญหา เพราะโยคกับดาว ๗ ซึ่งเป็นประ ทำให้การแก้ปัญหานั้นยืดเยื้อไม่จบสิ้น
 
ให้ดาว ๗ ที่ราศีกรกฏเกาะอยู่ในฤกษ์อาสเลษะ เป็นดาวที่คู้แขนมีความหมายว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นภพญาติพี่น้องกันเอง ถึงได้เป็นเรื่องยืดเยื้อเพราะดาว ๗ นี้แหละ เป็นทั้งดาวซ้ำซี้ซ้ำซาก ยืดเยื้อและล่าช้า ดาว ๗ เป็นดาวเจ้าเรือนมาจากภพกรรม ภีษมะต้องกรรมจากผู้อื่นเป็นเหตุมาตลอด ตั้งแต่พ่อจะมีเมีย มาถึงน้องจะแต่งงาน ก็ก่อให้เกิดความแค้นจน มาถึงหลาน
 
จึงให้ดาว ๒ เป็น ๒ อดิศร (5) เป็นสิบอยู่กลางฟ้าและเป็นประเล็งประ อย่างน้อยก็นำความยิ่งใหญ่มาให้ภีษมะ มีกำลังสามารถแบกรับภาระได้ทั้งหมด เกาะอยู่ศราวณะ ภูมิปาโลฤกษ์ มีความหมายถึงเป็นคนหยิ่งในศักดิ์ศรี และยึดมั่นในวาจาที่ลั่นออกไปแล้ว จะเสียเพราะวาจาสัตย์ของตนเช่นกัน เพราะจะถูกคนอื่นล่อลวงให้เปล่งวาจา ท้ายสุดก็เป็นอันตรายกับตนเอง และดาว ๒ ก็มาจากภพพันธุอีก
 
วางดาว ๓ ดาวแห่งขุนพลเป็นอุจไม่มีใครสู้ กุมดาว ๒ หมายถึงเป็นรูป ๑ ๓ และ ๗ เบียนกันเป็นหักบาสก์ (6) มีดาว ๒ ร่วม ด้วยหญิงหรือไม่หญิงไม่ชายเป็นเหตุ ให้ต้องอาวุธของอรชุนหลานตัวเองเพราะเล็งกันในภพพันธุ และให้ดาว ๓ เกาะในฤกษ์ศตพิสัช หมายถึงจะมีอุปัทวันตรายมาก ถูกยิงถูกแทง ทั้งดาว ๓ มาจากภพมรณะด้วย
 
ยังเหลือดาว ๘ และ ๙ ยายให้เล็งลัคนาอยู่ราศีตุลย์ ดาวพระเคราะห์คู่นี้มีพละกำลังดั่งจอมทัพ เล็งลัคนาทำให้เป็นผู้ที่ดวงชะตากล้าแข็ง ทั้งนี้วางเป็นรูปปัญจมหาบุรุษโยค (7) และลัคนาก็ได้องค์เกณฑ์ทั้งสองชั้น คือทั้งลัคนาและดาวเจ้าเรือน ต่างก็ได้ปัศวะเกณฑ์ มีดาวในภพที่ ๑๐ เหมือนกัน จะขอทิ้งท้ายให้ลองใส่ฤกษ์กันเองดีไหม ว่าดาว ๘ และ ๙ ควรอยู่ในฤกษ์อะไร...
 
 
 
เคล็ดโหราศาสตร์
 
1. ต้นธาตุไฟ
 
ในทางโหราศาสตร์นั้นแบ่งราศีทั้ง 12 ราศีออกเป็นสี่ธาตุหลัก คือ
 
ราศีเมษ สิงห์ ธนู เป็นราศีธาตุไฟ มีราศีเมษเป็นแม่ธาตุ
ราศีพฤษภ กันย์ มังกร เป็นราศีธาตุดิน มีราศีมังกรเป็นแม่ธาตุ
ราศีเมถุน ตุลย์ กุมภ์ เป็นราศีธาตุลม มีราศีตุลย์เป็นแม่ธาตุ
ราศีกรกฎ พิจิก มีน เป็นราศีธาตุน้ำ มีราศีกรกฎเป็นแม่ธาตุ
 
คำว่าต้นธาตุไฟ(ปลายธาตุน้ำ) คือลักษณะของการโคจรของดาวฤกษ์จากราศีธาตุน้ำ เพื่อเข้าสู่ต้นราศีธาตุไฟ เช่น โคจรผ่านราศีมีนเข้าไปยังราศีเมษ โคจรผ่านราศีกรกฎเข้าไปยังราศีสิงห์ โคจรผ่านราศีพิจิกเข้าไปยังราศีธนู โบราณจารย์ถือว่าฤกษ์ต้นไฟปลายน้ำนี้จะเกาะตรียางค์ลูกพิษ และเป็นนวางค์ขาดที่เรียกว่า ฉินทฤกษ์ ถือเป็นความร้ายแรงที่ต้องเลี่ยงเสีย ยกเว้นเสียว่าเป็นวรโคตรรนวางค์จึงจะพ้นจากความร้ายนั้นได้
 
2. ดาวพักร์
 
การโคจรของดาวฤกษ์ทุกดวง (ยกเว้นดาวอาทิตย์ ดาวจันทร์ ดาวราหู ดาวเกตุ และดาวมฤตยู) สามารถจะมีการโคจรที่เป็นวิกลคติได้ ซึ่งการโคจรลักษณะนี้ถือว่าผิดปกติ และให้โทษเทียบเท่ากับเป็นดาวบาปเคราะห์
 
การโคจรของดาวในลักษณะถอยหลัง เรียกว่า ดาวพักร์
การโคจรของดาวที่ช้าผิดปกติ ราวกับหยุดนิ่งอยู่กับที เรียกว่า ดาวมนท์
การโคจรของดาวที่เร็วผิดปกติ เรียกว่า ดาวเสริด
 
3. คู่พระคู่โจร
 
การกุมกันของดาว ๗ (ประธานฝ่ายบาปเคราะห์) และดาว ๕ (ประธานฝ่ายศุภเคราะห์) เรียกว่าคู่พระคู่โจร ทำให้ได้รับความกดดันที่ยากจะหลีกเลี่ยง
 
4. ดาว ๖ ตำแหน่งอสูรสงคราม
 
การโคจรของดาว ๖ นั้น จะมีระยะที่โคจรห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 48 องศา หากดาว ๖ โคจรได้ระยะห่างจากดาวอาทิตย์ได้ระยะเกือบ 45 องศานั้น เรียกว่าศุกร์เพ็ญ จัดว่ามีกำลังมากที่สุด แต่เมื่อใดที่ดาว ๖ โคจรเข้าร่วมหรือประชิดองศากับดาวอาทิตย์นั้น เรียกว่าศุกร์ดับ ทำให้คุณภาพของดาวศุกร์เสียไปสิ้น หากดาวศุกร์นั้นโคจรนำหน้าดาวอาทิตย์ ในขณะที่ก่อนดวงอาทิตย์อุทัย จะสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ชัดเจน เรียกดาวศุกร์นี้ว่าศุกร์เทวะ หากดาว ๖ โคจรตามหลังดาวอาทิตย์ เมื่ออาทิตย์ลับฟ้าแล้วจะเห็นดาวศุกร์ได้ชัดเจน เรียกว่าศุกร์อสูร
 
5. ดาวจันทร์อดิศร
 
ดาว ๒ ที่สถิตในราศีมังกร นอกจากจะมีคุณภาพเสื่อมเป็นประเกษตรแล้ว แต่ถ้าหากมีการโคจรเกิน 10 องศาครองในฤกษ์ภูมิปาโลแล้ว ถือเป็นข้อยกเว้นที่โหราจารย์ยกย่องว่าเป็นดาวจันทร์อดิศรที่ให้คุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดาว ๑ โคจรเข้าราศีกรกฏ เล็งดาว ๒ ในราศีมังกรทำให้ดาว ๒ เพ็ญ
 
6. ดาวหักบาสก์
 
ดาว ๑ ดาว ๓ และดาว ๗ ถึงกันในลักษณะเป็น 1 4 7 10 หรือถึงลัคนา ท่านว่ามักเจออุบัติเหตุ เสียชีวิตกะทันหัน ต้องอาวุธ บาดเจ็บ หรือภัยพิบัติกระทันหัน
 
 
ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, อาจารย์แอน, ภีษมะ, มหาภารตะ, ปัญจมหาบุรุษโยค, ดวงจตุสดัย, มหัทธโน
 
 
7. ปัญจมหาบุรุษโยค
 
หรือเรียกว่า ดวงจตุสดัย ดวงกากบาท หรือดวงได้เกณฑ์ หมายถึงเรื่อนที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 10 เป็นจตุเกณฑ์ต่อลัคนา ทำให้มีชาตาชีวิตที่เข้มแข็ง ชีวิตมักหักเห เผชิญอุปสรรค ขึ้นอยู่กับดาวที่ได้เกณฑ์ว่าเป็นดาวบาปเคราะห์หรือดาวศุภเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเกณฑ์ที่จะทำให้ประสพความสำเร็จในที่สุด หากมีดาวเป็นเกษตร หรืออุจจ์ในเกณฑ์ด้วย ทางฮินดูเรียกว่า ปัญจมหาบุรุษโยค จะได้เป็นใหญ่
 
 
ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, อาจารย์แอน, ภีษมะ, มหาภารตะ, ปัญจมหาบุรุษโยค, ดวงจตุสดัย, มหัทธโน