ดวงประเทียบ

 

ดวงประเทียบ อิลา
8 ต.ค. 2559

 

เรื่องราวของนางอิลาผู้นี้ เริ่มต้นที่เมืองของท้าวอิลราช ชื่อเมืองพลหิกา ซึ่งเป็นเมืองที่มีความร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนให้ความรักใคร่เทิดทูน และพระองค์ก็มีพระโอรสนามว่า “สสพินทุ์”
 
วันหนึ่งพระองค์ออกประพาสป่าไล่เนื้อทราย อันเป็นกีฬาที่มีเกียรติของพระราชา พระองค์มีเหตุให้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตหวงห้ามเฉพาะ ที่พระอิศวรและพระอุมากำลังทรงพระสำราญอยู่ พระอิศวรเป็นเทพสูงสุดของชาวฮินดูและเป็นพระสวามีของพระอุมา ซึ่งในขณะนั้นพระอิศวรกำลังแปลงร่างเป็นหญิงหยอกล้อพระอุมา และด้วยเหตุแห่งฤทธิ์ของพระองค์ ทำให้ทุกสิ่งบริเวณนั้นกลายเพศเป็นหญิงตามพระองค์ไปหมด รวมทั้งผู้พลัดหลงเข้าไปในบริเวณนั้น คือท้าวอิลราชและเหล่าบริวารก็กลายเป็นหญิงตามๆ กันไปหมด
 
พระอิศวรทรงพระพิโรธผู้ล่วงละเมิดพระองค์เป็นอย่างยิ่งจึงสาปซ้ำลงไปอีก แม้ท้าวอิลราชจะอ้อนวอนขออภัยอย่างไร พระอิศวรก็ไม่หายเคืองพระทัยและไม่ยอมถอนคำสาป พระอิลราชจำต้องเข้าทางหลังบ้าน คืออ้อนวอนพระอุมาให้ช่วยเหลือ ซึ่งพระอุมาอดรู้สึกสงสารไม่ได้จึงช่วยผ่อนผันให้ว่า เฉพาะแต่ท้าวอิลราชเท่านั้นที่มีเพศหญิงเดือนหนึ่งเต็ม แล้วจะกลับกลายเป็นชายเดือนหนึ่งเต็ม สลับหมุนเวียนกันไปแถมยังให้พรกำกับเป็นการช่วยเหลือพระองค์ไม่ให้ต้องลำบากใจ
 
   ขณะเป็นกษัตริย์   กิจที่กระทำปวง
บุรกาลก็ดาลดวง     หฤทัยลืมเลือน
ขณะคืนพระองค์จริง กิจหญิง บ แม่นเหมือน
มนโมหะฟั่นเฟือน    ดุจใช่หทัยเดียว
 
คือที่มาที่ไปของอิลา นางในวรรณคดีผู้มีสองเพศและสองจิตใจ เวลาที่นางเป็นหญิงจะลืมเรื่องราวทั้งหมดที่ทำเวลาเป็นชาย และขณะใดที่เป็นชาย จะลืมเรื่องราวที่ทำทั้งหมดตอนเป็นหญิง(ดีนะเนี่ย) และพระอุมายังประทานพรให้มีรูปโฉมงดงามเลอเลิศอีกต่างหาก ทีนี้ตอนที่เป็นหญิงนี่ซิจะไปอยู่ที่ไหนกัน ท้าวอิลราชที่กลายเป็นนางอิลาพร้อมด้วยบริวาร พากันท่องเที่ยวในป่าอย่างไร้จุดหมาย จนกระทั่งมาถึงสระบัวที่ดูแล้วมีน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา เป็นของคู่กันกับหญิงสาวสวยทุกยุคทุกสมัย นางงามทั้งหลายจึงพากันเล่นน้ำอย่างสบายใจ
 
และที่ใกล้ๆ กันนี้พระพุธดาบสทรงมาบำเพ็ญพรตอยู่ พระพุธองค์นี้พวกเรารู้จักกันดี เป็นองค์เดียวกันกับเทพเจ้าแห่งวาจาและการพาณิชย์นี่แหละค่ะ มีรูปกายเป็นชายหนุ่มสง่างามแต่ถือเพศฤๅษี พระพุธของเราได้ยินเสียงสาวๆ ก็เล็งญาณดู ก็ได้ทราบความเป็นจริงทุกอย่าง เกิดความสงสาร และเพราะเหตุที่นางอิลามีความงามมาก ทำให้ฤๅษีพระพุธตบะแตกจึงรับนางเป็นภรรยา ส่วนบริวารที่เหลือให้กลายร่างเป็นกินรีอยู่ตามเขาตามป่าไป น่าสงสารนะคะ เป็นอันว่าเหล่าบริวารเหล่านี้ซึ่งไม่ใช่ตัวเอก ไม่มีโอกาสกลับเป็นมนุษย์อีกเลย
 
ทีนี้เรื่องจะยุ่งตอนที่พอจะครบหนึ่งเดือน นางอิลากลับเป็นท้าวอิลราช กษัตริย์หนุ่มรูปหล่อเหมือนเดิม พอคืนร่างเดิม ปัญหาต่างๆ ก็ประดังเข้ามา ท้าวอิลราชย่อมต้องมีความสงสัยว่า ล่าสัตว์อยู่ดีๆ ทำไมมาอยู่ที่อาศรมของพระพุธได้ แล้วเหล่าข้าราชบริพารหายไปไหนหมด พระพุธกลัวว่าท้าวอิลราชจะเสียพระทัย จึงหลอกไปก่อนว่า บริวารเกิดอุบติเหตุหินถล่มทับตายหมด เหลือท้าวอิลราชเพียงพระอง์เดียว ถึงขนาดนั้น พระองค์ก็ทรงเศร้าพระทัย ดำริจะกลับเมือง
พระพุธรีบขอไว้ ทั้งเกลี้ยกล่อมให้พระองค์อยู่บำเพ็ญพรตพร้อมกับพระพุธไปก่อน ซึ่งท้าวอิลราชก็เห็นชอบด้วย ดังนั้นยามเป็นชาย ท้าวอิลราชก็บำเพ็ญพรตพร้อมพระพุธ และพอเป็นหญิง นางอิลาก็เป็นชายาของพระพุธ คาดว่าตอนนี้ท้าวอิลราชไม่ทุกข์เท่าไหร่ เพราะในแต่ละภาคของตนไม่จดจำอะไรไว้ แต่ความทุกข์น่าจะอยู่กับพระพุธมากกว่า มีชายาก็ไม่เหมือนคนอื่นเขา เอาออกงานก็ไม่ได้ ไม่ชายไม่หญิง วุ่นๆ วนๆ อย่างนี้ จนกระทั่งนางอิลาประสูติโอรสนามว่า “ปุรุรพ” คราวนี้พระพุธดำริที่จะช่วยเหลือท้าวอิลราชจริงๆ จังๆ เสียที จึงเชื้อเชิญพระฤๅษีที่มีชื่อมาอีกหลายองค์ เพื่อร่วมปรึกษาหาวิธีแก้คำสาปให้ท้าวอิลราช ซึ่งหนึ่งที่เชิญมานั้นคือพระฤๅษีกรรทมประชาบดีพรหมบุตร บิดาท้าวอิลราชรวมอยู่ด้วย
 
พระฤๅษีกรรทมแนะนำให้กระทำพิธีอัศวเมธเพื่อบูชาพระอิศวร พิธีอัศวเมธหรือพิธีปล่อยม้าอุปการ คือการนำม้าที่มีลักษณะดี มาทรงเครื่องประดับแล้วให้วิ่งไปตามชอบ โดยมีกองทัพตามหลัง เมื่อม้านี้ไปถึงแคว้นใดกษัตริย์แคว้นนั้นต้องออกไปต้อนรับม้า ไม่เช่นนั้นกองทัพที่ตามมาจะเข้าปราบปรามทันที พอได้เวลาประมาณ ๑ ปี จึงนำม้านั้นเข้าพิธีบูชายัญ โดยให้ฤๅษีทั้งหลายสาธยายมนต์เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งท้าวอิลราชก็กระทำตามนั้นทุกประการ
 
พิธีอัศวเมธได้สร้างความพอพระทัยให้แก่พระอิศวรมาก จึงเสด็จมาคลายคำสาปให้ท้าวอิลราช และจากนั้นไม่ปรากฏร่างของนางอิลาอีกเลย
 
วรรณคดีเรื่องนี้นำมาจาก “อิลราชคำฉันท์” ประพันธ์โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร(ผันสาลักษณ์) โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรวจแก้ไขเพิ่มเติม
 
 
ดวงปรเทียบ, อิลา, โหราศาสตร์ไทย, อาจารย์แอน, ดวงกลับเพศ
 
 
คราวนี้มาดูดวงประเทียบนะคะ
 
ท้าวอิลราชรูปงามมีประวัติอย่างนี้ มีลัคนาอยู่ราศีกันย์และมีดาว ๖ กุม มีรูปเป็นทรัพย์จนเทพเจ้าหลงใหล คือพระพุธนั่นแหละค่ะที่หลงใหล ลัคนาเป็นนระมีดาว ๖ กุม เป็นนระเกณฑ์ จึงมีศักดิ์เป็นถึงกษัตริย์ครองเมืองเป็นปึกแผ่น ลัคนามีดาวปัตนิกุมอยู่ด้วย นอกจากให้ผลของนระเกณฑ์แล้ว ดาวปัตนิที่มีกุมอยู่มีผลในเรื่องของกลับเพศ เพราะดาวในภพปัตนิแสดงผลดาวเพศตรงข้าม ซึ่งดาวประจำภพปัตนินี้เป็นดาวเกษตรที่มีดาวเนปจูนครองอยู่ ร่วมกับดาว ๕ ในที่นี้ถือว่าดาวเนปจูนมาจากภพปัตนิ
 
ดาว ๑ ดาวแสดงเพศชาย ต้องมีดาว ๒ เพศ หรือที่เรียกว่าดาวกระเทยกุมอยู่ ร่วมดาว ๙ ดาวแสดงเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มีความหมายว่าถูกสาปให้กลับเพศ หรือได้รับปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด ดาว ๔ ตนุลัคน์อยู่ที่ราศีสิงห์ ภพวินาศ ภพแห่งความลึกลับและเวทมนต์
 
ภพปัตนิของตนุลัคน์คือราศีกุมภ์ เจ้าเรือนคือดาว ๐ กุมดาว ๗ และดาว ๓ อยู่กลางฟ้า ถือว่ามีอิทธิพลต่อดวงชะตามาก และส่งผลให้ดาวทั้ง ๓ ดวงเป็นดาวเพศหญิงทั้งหมด เพราะถูกดาวภพปัตนิอันหมายถึงเพศตรงข้ามกับเจ้าชะตาเกาะกุม หรือร่วมราศี
 
ดาว ๒ ที่อยู่ภพปัตนิของตนุลัคน์ เป็นดาวเพศหญิง ราศีกรกฏที่มีกลุ่มดาวทั้งห้าดวงสถิตย์อยู่ พลอยกลายเป็นดาวเพศหญิงตามเพศของราศี และยังเป็นการนำกลุ่มดาวบริวารทั้งหมดให้เป็นเพศหญิงไปหมดด้วย ซับซ้อนหน่อยนะคะ ต้องคิดตาม
 
เป็นอันว่าอิทธิพลของดาวเพศหญิงครอบคลุมไปหมด แม้กระทั่งภพปัตนิของดาว ๑ ตนุลัคน์ตัวที่สองที่สถิตย์อยู่ราศีกรกฏ ภพตรงข้ามคือความหมายของภพปัตนิ คือราศีมังกรที่มีดาว ๗ เป็นดาวเจ้าเรือนเกษตร และดาว ๗ ดวงนี้ก็กลายเป็นดาวเพศหญิงไปอีก ท้าวอิลราชจึงหลีกเลี่ยงชะตากรรมไม่พ้นต้องกลับเพศเป็นหญิงในที่สุด การที่มีลัคนาอยู่ราศีกันย์อันเป็นภพรวนเร ทำให้ต้องกลับไปกลับมาเปลี่ยนเพศอยู่อย่างละหนึ่งเดือน ดาวตนุลัคน์เป็นวินาศอยู่อย่างเงียบๆ ไม่มีใครรู้ในป่าและลูกเล่นของโหรก็คือ ๔ เป็นเจ้าแห่งราศีกันย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นสามีลึกลับของท้าวอิลราชคือ พระพุธนั่นเอง
 
สนุกไหมคะ ฉบับนี้เรียนดวงจากวรรณคดีให้ความรู้เรื่อง “ดาวกลับเพศ” ไงคะ