บทความพิเศษ

 

ประวัติศาสตร์กับทำเล
17 พ.ค. 2558

 

 

        เรื่องราวของการสร้างบ้านแปงเมือง เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองบ้านเมืองระดับสูงไม่เคยละเลย แม้ประวัติการสร้างเมืองเชียงใหม่ ก็มีตำนานที่น่าสนใจ

 

อาจารย์แอน, ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, ajarnann, เวียงหนองล่ม


         สำหรับเวียงหนองล่ม คนสมัยใหม่อาจละเลยเพราะคิดว่าเป็นเพียงตำนานบ้าง เป็นเพียงพงศาวดารบ้าง ซึ่งอาจมีความจริงสอดแทรกอยู่เพียงน้อยนิด แต่ความจริงนั้นจะมีอยู่มากน้อยเพียงไร เป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี จะต้องค้นหาหลักฐานกันไป แต่ที่แน่ๆคือ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับ ทำเล นิมิตร ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า  เหตุการณ์อย่างนั้นเคยเกิดขึ้นจริง เพียงแต่มุมมองของชาวบ้าน ผู้พบเห็น แล้วเล่าต่อกันมาก็ดี จดบันทึกจากคำบอกเล่าก็ดี  เป็นไปในลักษณะของเทวดาสร้างสรรค์  หรือปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องราวของผู้รู้ที่คำนวณเวลาของสภาพดินฟ้าอากาศได้อย่างแม่นยำดังเรื่องราวที่ปรากฏในสามก๊ก ถึงการคำนวณที่แม่นยำราวกับเทพยดามาบอกของ จูกัดเหลียง หรือ ขงเบ้ง ที่คนไทยเรารู้จักดี

         จากหนังสือ “พงศาวดารโยนก” บริเฉท ๓  ว่าด้วยสร้างเมืองนาคพันธุนคร

         “ครั้งนั้น ยังมีพระมหากษัตราธิราชชาติไทยเมืององค์หนึ่ง มีพระโอรส ๓๐ องค์ พระธิดา ๓๐ องค์ ราชกุมารองค์น้อยนั้น ทรงนามสิงหนวัติกุมาร เหตุด้วยมีกำลังมากดุจราชสีห์ ราชกุมารองค์นี้ได้พาบริวารเป็นจำนวนคนแสนครัว ออกจากเมืองนครไทยเทศราชคหะ ในเดือนอาสาฬหมาส ขึ้น ๒ ค่ำ วันพุธ ข้ามแม่น้ำสารยูไปหนอาคเนย์ เพื่อจะแสวงหาภูมิประเทศที่สมควรตั้งพระนคร  แต่เสด็จสัญจรรอนแรมไปโดยอรัญวิถีได้สี่เดือน ถึง วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ก็ลุถึงแม่น้ำขละนทีคือแม่น้ำของ อันเป็นแว่นแคว้นอาณารัฐแห่งเมืองสุวรรณโคมคำขอมเขต ซึ่งเป็นเมืองร้างมานานแต่ครั้งศาสนาพระพุทธกัสสป” และจาก “ค้นหาอดีตของเมืองโบราณ” ศรีศักร วัลลิโภดม

         “…เรื่อง เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ไทยเมืองของพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร และเรื่องของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ลวจักราช เรื่องของราชวงศ์แรก เป็นเรื่องของการอพยพเคลื่อนย้ายของชนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่ง จากเขตมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ลงมาตามลำน้ำโขง เข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นบ้านเมืองในเขตที่ราบลุ่มเชียงแสนริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำสงครามสู้รบกับพวกกล๋อมหรือขอม ได้ชัยชนะแล้วตั้งเมืองหลวงที่เมืองโยนกนาคพันธ์ บริเวณหนองล่ม ต่ำจากเมืองเชียงแสนลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้…”

         “ไทยเมือง” ในที่นี้ คือ ไทยโม หมายถึง ไทยใหญ่ นั่นเอ  

         ประวัติการสร้างเมืองของเจ้าสิงหนวัติ น่าสนใจมาก เพราะกล่าวถึงพราหมณ์จำแลง ตามตำนานกล่าวว่า คือ พญานาคราชจำแลงกายเป็นพราหมณ์ มากล่าวคำอนุญาตให้สถานที่ตั้งพระนคร ทั้งยังขอคำปฏิญาณแห่งราชกุมาร ให้ตั้งอยู่ในศีลสัตย์สุจริตธรรม แล้วพาราชบุรุษ ๗ คนของเจ้าสิงหนวัติไปยังสถานที่สมควร จากนั้นพญานาคราชก็สำแดงฤทธิ์ขวิดควักพื้นดินเป็นคูขอบรอบจังหวัดที่จะสร้างกำแพงเมืองขึ้นมา กว้าง ๓,๐๐๐ วา ทุกด้าน เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ชื่อเมืองจึงปรากฏนามตามนามพันธุนาคราชและเจ้าสิงหนวัติกุมารรวมกันเป็น “เมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร” ภายหลังเรียกแต่ว่า “ โยนกนครหลวง”

 

อาจารย์แอน, ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, ajarnann, เวียงหนองล่ม

ภาพประกอบจาก www.oknation.net/blog/bypunnee/2011/03/28/entry-1

 

 

        คติที่เราได้จากพงศาวดารโยนกนครนี้ก็คือ การอพยพจากเหนือลงสู่ใต้ เป็นการเลือกทำเลที่แสดงความอุดมสมบูรณ์กว่า จากที่สูงลงสู่ที่ราบติดแม่น้ำ เพราะตามประวัติดังกล่าวข้างต้นได้เอ่ยถึงแม่น้ำ “ของ” ซึ่งก็คือ แม่น้ำโขงในปัจจุบัน

         ที่ราบลุ่มคือ นาคนาม พราหมณ์ที่มาแนะการสร้างเมือง เป็นไปได้หรือไม่ คือพราหมณ์ผู้รู้หลักการสร้างเมือง เพราะพราหมณ์นั้นต้องได้เรียนรู้วิชาดูทำเล ดูฟ้า ดูดิน เพราะเป็นหนึ่งใน ๑๘ วิชาที่วรรณะกษัตริย์ และวรรณะพราหมณ์ ต้องเรียนรู้อยู่แล้ว

         การขอศีลจากเจ้าสิงหนวัติ เป็นธรรมเนียมของการสร้างเมือง ที่เมื่อแรกเริ่มก่อร่างสร้างเมือง ต้องมีภาคพิธีกรรม ขออนุญาตปลูกปักสิ่งก่อสร้างลงในดิน ต้องไม่ฆ่าสัตว์หรือผิดศีลธรรมใดๆ  เพื่อผลแห่งศีลจะอำนวยบ้านเมืองให้เจริญ เป็นคตินับแต่โบราณถึงปัจจุบัน ที่กลายมาเป็นพิธิลงเสาเอก ต้องขอร้องให้พราหมณ์มาทำพิธี เพราะเป็นผู้ถือศีลและไม่กินเนื้อสัตว์      

         อานิสงส์ของศีล ก็เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า ถ้าไม่ฆ่าสัตว์ อายุก็จะยืน.. ไม่ลักทรัพย์ อยากได้เอาของๆ เขา  ก็จะมั่งคั่งร่ำรวย มีกินมีใช้ ..ไม่ประพฤติผิดในกาม ลูกหลายบริวารจะเชื่อฟัง ไปไหนคนก็นับถือ ชื่อเสียงขจรขจาย ..ไม่พูดปด คนก็เชื่อถือ ไปไหนคนเมตตาอำนวยความสะดวก .. ไม่ดื่มสุรา ปัญญาก็เกิด ความวิบัติจะไม่เข้ามาเยือน

         เมื่อจะเริ่มต้นกิจการ หรือปลูกสร้างบ้าน จะมีการทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางที่อยู่มาแต่เดิม เป็นการแสดงความเคารพ จากนั้นต้องถือศีล ทั้งให้คำมั่นในการรักษาศีลสัตย์ ก็จะทำให้อายุของบ้านจะยืนยาวนาน ผู้อยู่อาศัยก็เป็นสุข มีความเจริญมั่งคั่ง ไม่ต้องอาศัยการทำทำเลมากนัก และด้วยเหตุนี้แว่นแคว้นโยนกนาคพันธุนคร จึงมีอาณาเขตแผ่ไพศาลไปในทิศาภาคทุกทิศ และมีอายุยาวนานถึง ๔๕ ราชวงศ์ เป็นเวลา ๔๖๐ ปี แต่เมื่อผิดคำที่บรรพบุรุษเคยให้สัตย์ไว้ ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

         ..แคว้นโยนก เดิมนั้นมีกษัตริย์ปกครอง ต่อมาไม่นานก็ถึงความวิบัติ เนื่องมาจากบ้านเมืองขาดศีลธรรม เป็นเหตุให้สิ่งนอกเหนือธรรมชาติลงโทษ บันดาลให้บ้านเมืองจมหายลง กลายเป็นเวียงหนองล่ม จนทุกวันนี้….

         จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ทำเลดีแต่ผิดคำสัตย์ ผิดคำปวารณา พูดอย่างไรไว้ไม่ทำตาม ความพินาศและวิบัติจะเข้ามาเยือน การเริ่มต้นของการดูทำเลสร้างบ้านแปงเมือง จึงต้องขึ้นอยู่กับคุณธรรมของทั้งผู้ให้และผู้รับด้วย ผลดีจึงจะเกิดอย่างต่อเนื่อง ซินแสจีนทั้งหลาย จึงต้องสั่งสอนสืบต่อกันมา ถึงคุณธรรมของผู้อยู่อาศัยและคุณธรรมของผู้ดูทำเลต้องเสมอกัน จึงอยู่ในจรรยาบรรณข้อแรกของการดูทำเล  “ อิก..เต็ก”  คือ  ข้อหนึ่ง..ต้องมีคุณธรรม