เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

กรรมบท ๑๐
10 มี.ค. 2560

 

อันที่จริง เรื่องที่จะเอ่ยถึงในตอนนี้ไม่เชิงวิชาการ แต่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกรรมบท ๑๐ จึงต้องขึ้นหัวเรื่องอย่างนี้

 

กรรมบท ๑๐ นั้นปฏิบัติไม่ยาก เพียงเพิ่มการปฏิบัติจากศีลห้า ในข้อที่เกี่ยวข้องกับวาจา คือ ไม่พูดคำหยาบ ไม่เพ้อเจ้อ ไม่นินทา ไม่ยุยงส่อเสียดให้เขาแตกกัน และไม่อาฆาตพยาบาท

 

ซึ่งถ้าหากเราคล่องศีลห้า ปฏิบัติจนเป็นนิสัย เป็นความเคยชิน จะเพิ่มการปฎิบัติในกรรมบท ๑๐ เป็นของไม่ยาก เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครใคร่ครวญคิดจะปฏิบัติ เพราะยังไม่เห็นความสำคัญ พูดง่ายๆ ยังไม่เห็นอานิสงส์ว่ามันจะได้บุญอย่างไร หากพูดเพราะๆ และไม่เคยด่าใครสักคน

 

ทุกวันนี้ เราจะได้ยินความทุกข์ของคนกลุ่มหนึ่งที่จิตตกเพราะคำพูดของคน บางคนแทบไม่มีกำลังใจที่จะกระทำความดีต่อไป เมื่อได้รับคำพูดที่บั่นทอนเอามากๆ คุณเคยจิตตกแบบนี้หรือเปล่า

 

ถ้าหากว่าเคย ต้องฝึกการทำใจไว้ เพราะอย่าลืมว่า ความดีที่เรากระทำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเป็นคนระมัดระวังในเรื่องของคำพูด ไม่เคยให้คนอื่นต้องกระทบกระเทือนเพราะคำพูดของเราเลย แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนจ้วงจาบ พูดจาให้เราได้ยิน ทำลายความดีของเราด้วยคำพูด ใส่ร้ายป้ายสี ดูถูกดูแคลนเรา ขอให้รู้เถิดว่า คนๆ นั้นทำบาปทางวาจา และบุญต่างๆ ที่เราเคยทำมาไม่มีทางเสียหายหรือเป็นมลทินเพราะคำพูดเหล่านั้น แต่คนเหล่านั้นกลับมีมลทิน เป็นการละเมิดกรรมบท ๑๐ ทำบาปทำกรรม และกรรมนั้นจะติดตัวไปอย่างไม่เคยลบเลือน

 

คนที่ชอบพูดส่อเสียด เสียดแทง พูดอะไรใช้คำคม ให้คนอื่นได้ยินเจ็บช้ำน้ำใจ แถมยังทะนงตนว่าเป็นคนมีคารมคมคาย พูดจาอะไรกับใครไม่มีแพ้ ไม่เคยรู้ตัวว่า ทำให้เกิดความเจ็บใจแก่คนอื่น อย่างนี้ พระพุทธองค์ถือว่าเป็นการสร้างกรรม

 

คนที่ชอบพูดจาข่มคน สร้างอำนาจให้กับตน แต่สร้างความมัวหมองให้คนอื่น ทำนองว่าข้าดีคนเดียว คนอื่นดูๆ ไม่ได้ความ คนนี้เป็นคนสร้างกรรม เป็นคนน่ารังเกียจ

 

คนที่ความดีไม่เคยทำ เห็นคนอื่นทำความดี ไปคอยตำหนิติเตียนว่าเขาให้เสียกำลังใจ หรือมีคำพูดจนคนอื่นท้อใจ หยุดที่จะกระทำความดีนั้น อันนี้บาปมหันต์ เทียบเท่าคนที่ขัดขวางหรือรบกวนผู้ที่กำลังทำสมาธิ อันนี้ถึงนรกทันที ไม่มีข้อแก้ตัว

 

คนที่จ้องทำลายคนอื่นด้วยคำพูด ใช้คำพูดทำให้คนอื่นเข้าใจผิดว่า คนนั้นเป็นคนไม่ดี หรือไม่เก่งจริง ชอบนินทาให้ร้าย หรือพูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เพ้อเจ้อเหลวไหล หาความจริงไม่ได้ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดว่า คนที่พูดถึงนั้นไม่ดีจริง บาปย่อมสนองแน่นอน

 

คนที่ไปทำบุญแล้วพูดโน่นพูดนี่ ทำลายศรัทธาของคนอื่น หรือก่อความเดือดร้อนทางวาจา รบกวน หรือทำให้ผู้อื่นจิตตก หรือทอนกำลังใจผู้ที่กำลังประกอบบุญกุศล คนนั้นบาป

 

พวกเราที่ได้รับการรบกวนทางวาจา ทำให้เกิดความระคายใจ มีอยู่มากมาย หลีกเลี่ยงกันไม่ค่อยพ้น ทำให้โลกเราไม่น่าอยู่ ไม่น่าเสวนา ไม่น่าสมาคม ไม่น่าใกล้ชิด เหล่านี้ล้วนแล้วมาจากพฤติกรรมทางวาจาที่น่ารังเกียจทั้งสิ้น

 

เราควรเริ่มต้นพิจารณาตัวเราเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ทุกวัน ทุกขณะจิต เราปล่อยวาจาอันน่ารังเกียจนี้ออกมาหรือเปล่า ถ้าเราทำ ต้องฝึกตนเองให้เลิก ให้มีคำพูดที่คนฟังสบายใจ ฝึกตนเองทุกวัน หัดสังเกตสีหน้าคนอื่น หรือจะหันมาดูความเจริญของตัวเราก็ได้ ถ้าหากเราเป็นคนทำอะไรไม่ขึ้น ทำอะไรไม่เจริญ แสดงว่าเรายังไม่ผ่านขั้นตอนของผู้ที่เจริญแล้ว ให้พยายามปฏิบัติต่อไป เพราะการปฎิบัติธรรมขั้นง่ายๆ เรายังไม่ผ่าน ก็อย่าพึ่งไปปฏิบัติข้ออื่นเลยค่ะ

 

เพราะฉะนั้น เราพึงพิจารณาแก้ไขที่ตัวเราก่อนว่า เป็นคนมีวาจาดีจริงๆ หรือเปล่า เป็นข้อแรก

 

ข้อต่อมา พิจารณาคนใกล้ตัว คนข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา บุตร เพื่อนสนิท สังคมรอบๆ ตัวเรา ใครมีวาจาน่ารังเกียจบ้าง เราต้องคอยห้ามปราม ดุ ชักชวนให้ใช้แต่ว่าจาดี ด้วยการใช้ถ้อยคำที่อ่อนโยน เพราะก่อนที่เราจะตักเตือนคนอื่น เราต้องควบคุมตัวเราให้คนอื่นเห็นตัวอย่างที่ดีเสียก่อนนะคะ และถ้าเราฝึกวาจาของเราดี จิตใจเราก็ดี การเลือกคำพูดที่จะตักเตือนคน ก็จะเป็นคำพูดที่ดี เป็นคำพูดที่กลั่นกรองแล้ว และเป็นคำพูดที่สามารถทำให้คนอื่นใช้วาจาดีตามเรา อย่าลืมว่าคนที่เราตักเตือน จะต้องเป็นคนที่ใกล้ชิดกับเรา สนิทกับเรา และอยู่ในฐานะที่เราจะตักเตือนได้ เพราะถ้าเราขาดกาลเทศะในการตักเตือนคน เราอาจได้รับวาจาที่ไม่ดี ทำให้เราโกรธ และเริ่มใช้วาจาที่ไม่ดีโต้ตอบ ซึ่งเป็นการเสียความดีของเรา

 

การประคับประคองวาจาของเรา จะเทียบเท่ากับการประคับประคองสมาธิ เพราะเราต้องมีสติในการระงับหรือสำรวมวาจาอยู่เสมอ มีอานิสงส์สูงเช่นเดียวกับการฝึกสมาธิเหมือนกัน

 

ข้อสาม พิจารณาสิ่งแวดล้อมทางบุคคลว่า สถานที่ที่เราทำงานและอยู่อาศัย มีคนที่มีวาจาน่ารังเกียจหรือไม่ ซึ่งเราต้องไวและรู้ทันที เพราะดูง่ายกว่าโหงวเฮ้งเสียอีก เราควรหลีกเลี่ยงอย่างละมุนละม่อมแต่แรกเริ่ม เพราะถ้าเราเผลอไปคบหาอย่างใกล้ชิด เราก็จะโดนพิษสงทางวาจาทันที หลีกเลี่ยงยากมาก เพราะฉะนั้น หากเราพบคนอย่างนี้ พึงหลีกเลี่ยงทันที จะเป็นมงคลกับตัวเราเอง

 

แต่หากเราเป็นคนที่กำลังเผชิญกับความเจ็บช้ำน้ำใจอยู่ เพราะเผลอไปเกี่ยวข้องกับคนที่มีวาจาอย่างนี้ หรือคนที่ขี้อิจฉา จงใช้ความอดทนและท่องไว้เสมอว่า ช่างมัน พยายามใคร่ครวญในเวลาเดียวกันว่า เราเคยทำเช่นนี้หรือเปล่า กรรมจึงตอบสนองเรา ถือว่าใช้หนี้ไป ต่อไปเราจะไม่มีวันที่จะละเมิดกรรมบท ๑๐ นี้อีก คราวนี้ใช้คืนให้หมด ดีกว่าติดหนี้เงิน มันจะหาใช้ยาก ใช้หนี้ให้โดยถูกนินทาง่ายกว่า สบายกว่าเยอะ คิดอย่างนี้มีความสุขดีนะคะ ลองฝึกคิดอย่างนี้อยู่เสมอๆ แต่ต้องแน่ใจอยู่เสมอว่าเราเป็นคนที่สะอาดทางวาจาจริงๆ

 

มีคำพูดอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่า มีบาปมีกรรมเหมือนกัน คือชอบใช้อารมณ์กับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ต่ำกว่าตน เช่นพูดกับคนใช้ กับคนขับรถ กับยาม กับคนที่มีอาชีพบริการรับซ่อม กับช่างฝีมือต่างๆ ใช้วาจาที่ไม่น่าฟัง ด่าตะคอก รวน เสียดแทง พูดหยาบ ไม่เพราะ ถ้าใครชอบพูดอย่างนี้ กดทุกคนให้ต่ำ ถือว่ามีกรรมอย่างยิ่ง ถ้าเรายิ่งพูดยิ่งปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้เราต้องเกิดเป็นคนต้อยต่ำ เป็นคนชั้นต่ำยากจน ต้องรับใช้ผู้คนไปหลายร้อยชาติ มันไม่คุ้มกัน

 

บุคคลที่เกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ คือคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนมากที่สุด ไม่ยกตนข่มท่าน ใช้วาจากริยาดีกับคนทุกชั้น ระมัดระวังวาจาไม่ให้กระทบกระเทือนใคร ใครก็ตามที่คิดจะบำเพ็ญบารมี ควรเริ่มที่วาจาก่อน ฝึกการพูดกับผู้น้อยนี่แหละ ที่เขาว่า สำเนียงส่อภาษา กริยาส่อสกุล ถ้าจะเปรียบเทียบไปในเรื่องกฎแห่งกรรม ก็คือส่อถึงกรรมที่จะได้รับด้วย

 

ถ้าหากทุกคนพยายามใคร่ครวญถึงกรรมบท ๑๐ พยายามให้มีปิยะวาจาออกมาทุกเวลาทุกขณะจิต ตักเตือนคนใกล้ชิด เลือกที่จะคบแต่คนที่มีวาจาดี ไม่ส่อเสียด ไม่นินทา ไม่กระแหนะกระแหน เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์สังคมดีๆ เป็นการสร้างความดี เป็นการบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่งเหมือนกัน แถมยังง่ายกว่าการบำเพ็ญบารมีด้านอื่นด้วยซ้ำไป

 

แต่ถ้าเรายังประมาท ไม่เคยย้อนดูตนเอง คอยแต่จะมองคนอื่นแล้วไปว่าเขา เราข้ามขั้นตอนของการปฎิบัติ ไม่ใคร่ควรพิจารณาตนเองก่อน เราก็ขาดคุณสมบัติที่จะไปตักเตือนคนอื่น แต่เรายังฝืนทำ ก็เท่ากับผิดวาจา ไปว่าคนอื่นให้ช้ำใจ เพราะถ้าเราไม่ปฏิบัติเอง ก็จะไม่มีวันรู้เป็นอันขาดว่า การมีวาจาดีให้คนอื่นสุขใจนั้นเป็นอย่างไร อย่างนี้สังคมก็ไม่เป็นสุข เพราะเรามีส่วนด้วย มีส่วนที่ทำให้สังคมไม่น่าอยู่เพราะวาจา เราก็ยังต้องเผชิญเวรกรรมอยู่นั่นแล้ว เดี๋ยวเราโดนเขาว่า เดี๋ยวเราก็ว่าเขา อย่างนี้ วนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น ไม่มีวันหมดสิ้นกรรม

 

เรื่องของวาจาเป็นเรื่องสำคัญ ศีลเป็นเครื่องกำกับให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ไม่เบียดเบียนกัน แต่เรื่องของวาจา ก็เป็นเครื่องจรรโลงใจ ให้สังคมมีความเยือกเย็นเป็นสุข สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกโดยไม่ทุกข์ร้อน มีความอดทนและรู้จักสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดี

 

จึงขอให้เราทั้งหลายถือกรรมบท ๑๐ เพิ่มจากศีล ๕ เพียงเรื่องวาจา เราก็จะได้ชื่อว่า เป็นคนดีทั้งกาย วาจา และใจ เป็นผู้สำรวมในอินทรีย์อย่างครบถ้วน เป็นคนดีในทางพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์

 

ขอให้ทุกคนมีความสุขในการที่จะเปล่งวาจาดีๆ ออกมาทุกคนค่ะ