บทความพิเศษ

 

ประวัติศาสตร์นอกตำรา ตอน ซุนปิน (ตอนที่ 2)
17 พ.ค. 2558

 

 

อาจารย์แอน, ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, ajarnann, ซุนปิน

 

ซุนปิน ตอนที่ 2
โดย...อาจารย์ษณอนงค์ คำแสนหวี (อาจารย์แอน)



         ซุนปินได้เข้าเรียนวิชาพิชัยสงคราม  ร่ำเรียนวิชาโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ดูพื้นที่ ฝึกทั้งบุ๋นและบู๊ไปพร้อม ๆ กับผางเจวียน ต่อมาผางเจวียนเห็นว่าสมควรแก่เวลา รีบจบก่อนเพื่อเลือกเมืองที่จะเป็นที่ปรึกษา แสวงหาความเป็นใหญ่ก่อน จึงลาออกมาเป็นที่ปรึกษาแคว้นเว่ย พร้อมทั้งบอกเพื่อนว่าถ้าคิดทำงานเมื่อไรให้ติดตามตนไปที่แคว้นเว่ย

         ผางเจวียนได้เข้าเป็นที่ปรึกษาแคว้นเว่ยสมใจ  วันหนึ่งเว่ยอ๋องปรึกษาข้อราชการ ผางเจวียนติดขัดนึกไม่ออก บุคคลที่สติปัญญาไม่แจ่มใสบริสุทธิ์ ย่อมมองโลกแคบ ขาดความสังเกต ทำให้ไม่รู้รอบ ประสบการณ์น้อย ขาดความรอบคอบ ทำให้ขาดปัญญา ดังนั้นผางเจวียนจึงส่งข่าวถึงซุนปินให้มาช่วยโดยด่วน 

         ตอนนั้นอาจารย์ก็เตือนศิษย์ว่า เรื่องของใครก็ของใครอย่าไปยุ่ง เขาแก้ปัญหาไม่ได้ เราไปแก้ได้ ผางเจวียนเป็นคนที่อิจฉา ซุนปินจะเป็นอันตราย ซุนปินแสนฉลาด จิตใจดี ใช้จิตตนคำนวณทรชน ก็ไม่เชื่ออาจารย์ บอกว่าตนโตมาด้วยกัน นี่เรียกว่าฉลาดแต่ไม่เฉลียว ไม่เชื่อคำอาจารย์ที่ตนกราบไหว้เป็นศิษย์ ทั้งยอมรับนับถือว่าเหนือกว่าตน เป็นอาจารย์ตน กลับไม่เชื่อคำอาจารย์ และซุนปินก็ได้รับผลอย่างสาหัสสากรรจ์ในเวลาต่อมา เวลานั้นด้วยความเมตตาขัดกับชื่อ "ปีศาจ" อาจารย์มอบถุงไถ้หนึ่งใบบอกว่ายามคับขันให้เปิดดู 

         ปรากฏว่าเมื่อซุนปินมาถึง คำเสวนาในการศึกเป็นที่ถูกใจ เว่ยอ๋องเห็นความเชี่ยวชาญในพิชัยสงครามของซุนปิน คิดตั้งซุนปินเป็นที่ปรึกษาสองรองผางเจวียน ผางเจวียนเกิดความอิจฉาดังคำคาดคะเนของอาจารย์ไม่มีผิดเพี้ยน เพ็ดทูลเว่ยอ๋องเป็นทำนองว่า ซุนปินเป็นชาวเมืองฉี ศัตรูของแคว้นเว่ย อาจเป็นภัยในอนาคต ตั้งเป็นที่ปรึกษาลอยก็แล้วกัน 

         แต่คนเก่งก็คือคนเก่ง จะมีตำแหน่งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะเว่ยอ๋องเรียกมาปรึกษาข้อราชการไม่เคยขาด บางครั้งถึงกับเรียกมาลำพังโดยไม่มีผางเจวียนมาด้วย เป็นอย่างนี้อยู่นานวัน ในที่สุด ผางเจวียนก็คิดว่า ขืนเป็นเช่นนี้ ตนต้องสูญเสียตำแหน่งอย่างแน่นอน จึงเข้ายุยงเว่ยอ๋องว่า ซุนปินมีพฤติกรรมไม่น่าไว้ใจ ชอบไปติดต่อเจรจาในทางลับกับผู้คนที่มาจากรัฐฉีเสมอ ผางเจวียนยังทำหลักฐานเท็จ ปรักปรำซุนปินเป็นไส้ศึกมาล้วงความลับรัฐเว่ย ผางเจวียนลงอาญาเถื่อน ตัดเส้นเอ็นที่ขาของซุนปินออกทั้งสองข้าง พร้อมสักหน้าผากในฐานะคนทรยศ แล้วนำไปขังในเล้าหมู คับขันแล้ว ซุนปินนึกถึงคำอาจารย์ เปิดถุงไถ้ดุ พบคำว่า "แกล้งบ้า" ซุนปินก็เข้าใจได้ทันที 

         ถ้าเราเป็นซุนปิน เราอาจเปิดอ่านตั้งแต่วันแรกที่ลับตาอาจารย์ เราเจอคำว่า แกล้งบ้า คงนึกว่าอาจารย์บ้าโดยไม่ต้องแกล้ง โชคดีที่ซุนปินเชื่ออาจารย์โดยเคร่งครัด เปิดอ่านเวลาคับขันจริง ๆ  จึงรู้วิธีแก้ทันที 

         ซุนปินแกล้งบ้าให้ผางเจวียนตายใจ ถึงขนาดเก็บขี้หมูมาลิ้มลองอย่างเอร็ดอร่อย คือทางรอด ผางเจวียน  คลายเวรยามอย่างหนาแน่นนั้น จนซุนปินหาทางเล็ดรอดไปแคว้นฉี

         ฉีเวยอ๋อง ปรกติโปรดเลี้ยงคนเก่งทั้งบุ๋นและบู๊อยู่แล้ว ทั้งยังเคยทรงปรารถนาได้คนตระกูลซุนที่มีชื่อทางบุ๋นและบู๊ ประจวบเหมาะเพียงแต่พบกันในสภาพที่ไม่ทรงโปรดนัก แต่ก็ตั้งให้เป็นที่ปรึกษาช่วยราชการอยู่กับ  "เถียนจี้"  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดรัฐฉี 

         ใครเคยอ่านสามก๊ก จะเห็นว่าขงเบ้งอ่านประวัติซุนปิน เขียนทางแก้ไขยามคับขันใส่ถุงไถ้ให้จูล่งเหมือนกัน และอึ้งย้งในมังกรหยกก็ใช้วิธีของซุนปิน เอาชนะการต่อสู้กับมองโกล ดังนี้เราเรียกว่า ยุทธการม้าแข่ง ซุนปินนี่แหละต้นตำหรับ

         ฉีเว่ยอ๋องโปรดปรานม้าแข่ง มักจัดให้ประลองฝีเท้าอยู่เสมอ เถียนจี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็มีม้าฝีเท้าดีหลายตัว  มักนำไปแข่งขันกับฉีเวยอ๋อง ชนะบ้างแพ้บ้าง เสมอบ้าง แต่ส่วนใหญ่แพ้ ล่าสุดก่อนซุนปินมาอยู่ ก็เสียพนันถึง ๕๐๐ ตำลึงทอง วันหนึ่งซุนปินที่นั่ง ๆ นอน ๆ ดูม้าแข่งมานาน ก็บอกให้เถียนจี้ไปท้าพนันฉีเวยอ๋องใหม่ แล้วให้เพิ่มเดิมพันเป็น ๑,๐๐๐ ตำลึงทอง โดยให้เถียนจี้เสนอกติกาว่า ให้จัดแข่งม้าเป็นสามเที่ยว ผู้ชนะสองในสาม จึงเป็นผู้ชนะได้เงินรางวัล ๑,๐๐๐ ตำลึงทอง 

        เถียนจี้อยากลองที่ปรึกษาหน้าใหม่ ขาพิการ ดูไม่สง่างาม ก็ทำตามทุกอย่าง การแข่งขันแบ่งเป็น

          เที่ยวที่ ๑ ซุนปินจัดม้าชั้นสามของเถียนจี้ แข่งกับม้าชั้นหนึ่งของฉีเว่ยอ๋อง ยังไงม้าชั้นหนึ่งก็ไม่แพ้อยู่แล้ว เอาม้าชั้นสามนั่นแหละไปแข่ง ไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อย   ปรากฏว่า ม้าฉีเว่ยอ๋องชนะขาดลอยตามคาด

          เที่ยวที่ ๒ จัดม้าชั้นหนึ่งของเถียนจี้ แข่งกับม้าชั้นสองของฉีเวยอ๋อง   ปรากฏว่า ม้าของเถียนจี้ชนะแบบลุ้นพอสนุก

          เที่ยวที่ ๓ จัดม้าชั้นสองของเถียนจี แข่งกับม้าชั้นสามของฉีเวยอ๋อง

          ปรากฏว่า ของเถียนจีชนะกันอย่างสูสี ลุ้นกันขาดใจ 

         เป็นอันว่า เถียนจี้ได้เงินไป ๑,๐๐๐ ตำลึงทอง แต่ฉีเวยอ๋องสนุกกับการแข่งขันครั้งนี้มาก ทั้งชื่นชมความคิดอันหลักแหลมของซุนปิน ซุนปินเองก็ได้ใจเถียนจี้ ให้ได้เงินตั้ง ๑,๐๐๐ ตำลึงทอง 

         ฉีเวยอ๋อง ทรงมีคำสั่งแต่งตั้งซุนปินเป็นเสนาธิการทหารรัฐฉี 

         ขงเบ้งวิจารณ์การแข่งม้าครั้งนี้ว่า "แบบนี้ไม่ใช่การแข่งม้าธรรมดา เป็นการวางแผนยุทธการในการทำศึกบนสนามรบ" 

         เราพึงเป็นอึ้งย้งปรับมาใช้กับสถานการณ์ที่เหมาะสม และคงได้รู้ว่า ที่ปรึกษาสำคัญสมัยสามก๊ก เขาเอาตำราเรียนพิชัยสงครามจากที่ไหน

         เหตุการณ์ตอนนี้ให้ข้อคิดเราหลายประการ 

         ซุนปินเก่งเกิน แม้แต่เพื่อนที่โตมาด้วยกันยังอิจฉาให้ร้ายเกือบถึงตายอย่างน่าอนาถ 

         ซุนปินเอาตัวรอดแบบยืดได้หดได้ ยอมบ้าอย่างสมจริงสมจัง

         ฉีเวยอ๋องไม่มองคนที่ภายนอก มองที่สติปัญญา ที่ใดใจกว้างจะได้คนดีไว้กับตัว 

         เถียนจี้ และฉีเวยอ๋องเป็นนักกีฬา เอานิสัยของความใจกว้างของนักกีฬามาใช้ในการปกครอง รัฐฉีถึงเข้มแข็ง


         (โปรดติดตามตอนต่อไป)


" รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ไม่เป็นอันตราย (知彼知已,百战不殆) "
ความหมายก็คือรู้จักศัตรู และ รู้จักตนเอง ไม่ว่าจะรบกี่ครั้งก็ไม่มีทางได้รับความเสียหาย