เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ความแตกต่างระหว่างพุทธศาสตร์ กับไสยศาสตร์ (ตอนที่ ๒)
18 พ.ค. 2558

 

 

ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, อาจารย์แอน, ajarnann

 

 

        ในการดำเนินชีวิตปัจจุบัน บางคนอาจจะไม่ชอบไสยศาสตร์   เลยไปมองบุคคลอื่นว่าไม่ดี  ตัวเราเองมีโอกาสเป็นไสยศาสตร์ด้วยเหมือนกันที่ไปว่าคนอื่นแบบนั้น  อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีความเป็นไสยศาสตร์อยู่ในตัวทั้งสิ้น  เพราะมาจากสัญชาติญาณเดิมที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น  และสัญชาติญาณแห่งความกลัวด้วย  พุทธกับไสย  สามารถเปรียบเทียบจิตใจคนได้   เพราะคนหนึ่ง  ซีกหนึ่งมีความปลอดโปร่งแจ่มใส    อีกซีกหนึ่งเป็นความมืดบอดของสติปัญญาอยู่ในใจ  เป็นความเศร้าหมอง ก็จะมาด้วยกัน  ในด้านสัญชาติญาณความกลัว  เด็ก ๆ ทุกคนกลัว  จิ้งจก  ตุ๊กแก  จิ้งจกร้องเป็นธรรมดา  แต่คนบอกว่าจิ้งจกทัก  หรือจิ้งจกตกลงมาตายตรงหน้า  จะถือว่าโชคร้าย  กลายเป็นการก่อให้เกิดความกลัว   เป็นไสยศาสตร์ขึ้นมาทีละน้อย  หรือการเห็นนกบินชนกระจกแล้วตกลงมาตาย  ก็เกิดความกลัวอีก 

 

        ข้าพเจ้าเคยบอกให้ลูกศิษย์ลองจับกาลชาตาดู ในตอนที่เกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่ผิดปกติจริง ๆ ลองใช้หลักของเหตุและผล  กรณีนก ไม่รู้ว่าเป็นกระจก บินมาด้วยความเร็วชนกระจกก็เลยตาย  ไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์  บางคนจะรับประทานอาหารทีหรือทำอะไรที่ไม่สำคัญ  จะจับทิศ ใช้ไสยศาสตร์เข้าไปจนขาดเหตุผล  ศาสตร์อาจารย์แอนที่ร่ำเรียนมาจะไม่ใช่แบบนี้นะค่ะ      ทำไมคนถึงเชื่ออย่างนั้น  ศาสตร์โบราณที่ข้าพเจ้าร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์  จะไม่มีศาสตร์ใด ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ถ้าได้ศึกษาอย่างจริง ๆ   ครูบาอาจารย์ท่านได้อธิบายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ  ถ้าไม่สามารถอธิบายถึงเหตุและผลได้  จะเป็นสิ่งที่ไร้สาระ  ขาดเหตุผล  การจะโทษใครก็ตามโทษไม่ได้  เพราะธรรมชาติในประวัติศาสตร์ของเรา  ชนชาติไทยมีวัฒนธรรมเก่าแก่หลายพันปี  เกิดติดตัวขึ้นมากับประเพณีและวัฒนธรรม ที่เดินควบคู่กันไปกับไสยศาสตร์   เป็นความเชื่อที่สืบ ๆ  ต่อกันมา  มีระบบยึดถือแน่นแฟ้นอยู่  ตามประเพณีของไทยเรา จะไม่เหมือนกับจีนหรืออินเดีย  แล้วเกิดมากลัวในสิ่งที่อธิบายไม่ได้ เข้าใจไม่ได้  กลัวในสิ่งที่ไม่เห็นตัว  เป็นระบบของคนไทยแท้ ๆ มาแต่โบราณ

 

        ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์  ก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามา  คนไทยยกเรื่องความหวาดกลัวเหล่านี้เป็นเรื่องของภูตผีปีศาจ  เทพ เทวดาดลบันดาลทั้งสิ้น   ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์  ตัวอย่างเช่น  เรามีห้องอยู่ ๒  ห้อง  ห้องขวามือเปิดไฟสว่างจ้า  ห้องซ้ายมือมืดสนิท  ถ้าเข้าไปในห้องที่มืด ๆ คนเดียว  จะเกิดความรู้สึกกลัว  มากกว่าเข้าไปในห้องที่สว่าง   เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่  หรือถ้าเด็ก ๆ จะเข้าไป  ผู้ใหญ่ก็จะบอกในทำนองว่า “  อย่าเข้าไปเลยนะ  ไม่รู้มีอะไรอยู่ “   เชื่อในสิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมา    แต่ถ้ามีเด็กคนไหนกล้าหาญเข้าไปแล้วเปิดไฟ  ห้องมืดจะสว่าง  ไม่มีอะไรที่น่าหวาดกลัว  เป็นพุทธิปัญญา    สิ่งนี้เป็นความเชื่อตามประเพณี    เกิดจากความไม่รู้ของผู้เฒ่าผู้แก่ก่อน  แล้วก็บอกต่อด้วยเหตุอันใดก็ตาม  ดังห้องมืดที่เห็นเป็นตัวอย่างง่าย ๆ

 

        หรือคนโบราณบอกกับลูกสาวว่า  กลางคืนอย่ากรีดหวี  เดี๋ยวมีผีมารับตัว  เป็นไสยศาสตร์  การกรีดหวีคือการหวีผม  จะเปรียบเทียบว่าผู้หญิงกลางคืนจะไม่ให้หวีผม  เพราะถ้าหวีผมตอนกลางคืนหมายถึงผู้หญิงไปเที่ยว  หรือลูกหลานหนีออกไปเที่ยว เป็นต้น  หรืออย่าปลูกชวนชมเพราะเป็นไม้ปีศาจ  จะเป็นไสยศาสตร์นะค่ะ  จะเห็นได้ว่าคนโบราณจะทำอะไรเป็นปริศนา   ให้ชวนมาชมลูกสาวบ้านนี้สวย  ก็เลยกล่าวว่า  อย่าปลูกนะชวนชม  การศึกษาวัฒนธรรมประเพณีว่าเป็นไสยศาสตร์หมด  ถ้าศึกษาให้ลึกซึ้งอีกชั้นหนึ่ง  ก็จะมองว่าเป็นเหตุผลที่ซ่อนอยู่  ปัจจุบันต้องสอนลูกหลานอีกอย่างหนึ่ง  ตามยุคตามสมัยที่เปลี่ยนไป 

 

        ประเพณี และวัฒนธรรมจะเป็นตัวที่รักษาและถนอมไสยศาสตร์เอาไว้  เพราะเป็นคำสอนที่สืบๆ ต่อกันมา  แต่ถ้าเป็นพุทธศาสตร์  จะเอาสิ่งที่คนโบราณสอน นำมาวิเคราะห์  ตีความ  คัด  เพื่อที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย   เช่นเดียวกับวิชาโหราศาสตร์และวิชาฮวงจุ้ยต้องวิเคราะห์ว่า  คนโบราณบัญญัติวิชานี้มาจากอะไร  มีเหตุผลอะไร  และเหตุผลนั้น  ปัจจุบันลบล้างไปแล้วหรือยัง  เช่นห้องมืด  อย่าเข้าไปนะ  เดี๋ยวมีอะไร    ถ้าคนกล้าที่จะเปิดห้องนั้นเพราะมีไฟฟ้าก็จะไม่มืดแล้ว  เช่นเดียวกับปัจจุบัน  ถ้ามีปัญหาที่สามารถคลี่คลายได้ด้วยตนเอง    ศาสตร์อันนี้ก็ไม่ควรนำมาใช้อีก   แต่ถ้าหลายคนไปยืนเรียงในห้องมืด  และถามความรู้สึกของคนที่หนึ่งว่าเป็นอย่างไร  คนที่สองและสามจะกลายเป็นอุปทานไป  พร้อมใจกันโอนเอียงไปทางนั้น  แต่พอเปิดไฟจะไม่เห็นมีอะไรเลย  จะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมความเชื่อไป 

 

        ไสยศาสตร์ไม่ใช่ว่าจะมีแต่จุดเสีย  จุดที่ดี ๆ ก็มี เช่น  มีผู้เฒ่าผู้แก่สอนว่า ทำแบบนี้เดี๋ยวธรณีสูบนะ  บังเอิญช่วงนั้นที่กล่าวถึง  ดาวพฤหัสกับดาวเสาร์เล็งกัน เกิดแผ่นดินถล่ม  แต่ไสยศาสตร์ขู่กันแบบนี้กลับมีผลดี  ทำให้คนไม่กล้าทำบาป  ทำกรรม  แต่ละศาสตร์จะมีเหตุผลและอธิบายได้  และบางสิ่งบางอย่างเป็นเรื่องกฏแห่งกรรม ฉะนั้นอย่าปะปนกันระหว่างกฎแห่งกรรมและไสยศาสตร์    กฎแห่งกรรมเป็นสัมมาทิฐิ  ไสยศาสตร์เป็นมิจฉาทิฐิ  คือความเชื่อแบบผิด  ๆ   แต่สัมมาทิฐิเป็นความเชื่ออย่างถูกต้อง  บางคนต้องพบกับกฎแห่งกรรม  ก็กล่าวว่าเทวดาฟ้าดินลงโทษ   เห็นเป็นไสยศาสตร์ทั้งๆ ที่เป็นพุทธศาสตร์  เป็นสัมมาทิฐิแท้ ๆ เลย  คือคนกล่าวลืมกฎแหงกรรม    เจ้ากรรมนายเวร บางคนเข้าใจเรื่องของผี  เจ้ากรรม คือเจ้าแห่งความคิด  การกระทำ  คือตัวเราเองทั้งที่ทำกรรมดีและกรรมชั่ว  นายเวรคือผลที่ตอบสนอง    ฉะนั้นเจ้ากรรมนายเวรคือกฎแห่งกรรมนั่นเอง  จะติดตามเราไปทุกที่  ถ้าเราเข้าใจแบบนี้  การทำความดีของเราจะประกอบไปด้วยเหตุผล  ไม่ใช่ความงมงาย  ตัวอย่างเช่น  การ ใช้อุบายบวกกับไสยศาสตร์  เด็ก ๆ จะชอบฟังนิทาน  จึงเล่านิทานผสมกับไสยศาสตร์เพื่อหลอกเด็ก  เช่น ลูกแก้วนั่นสวย  ให้นั่งมองไปจะเป็นแก้ววิเศษสารพัดนึก  ให้นั่งมองแล้วหลับตานึกว่าแก้วนั้นเป็นเพชร    เป็นแก้วที่มีคุณ  แล้วขออะไรก็ได้  เด็กก็จะนั่งมองแล้วหลับตาอยู่แบบนั้น  จนกระทั่งเด็กบอกเขาเห็นแก้วเป็นเพชรหละ  สวยงามมากเลย  และขอให้เขาสอบได้ที่๑  แล้วจะได้ที่  ๑    นี่เป็นเหตุที่เขาทำปฏิภาคนิมิตให้เป็นอุคหะนิมิต  มองลูกแก้วให้เป็นเพชรได้  จิตเขามีสมาธิเข้มแข็ง  จะเรียนอะไรก็จำได้หมด  เรียนเก่งจิตจะแจ่มใสมาก  เป็นการเอาไสยศาสตร์มาเป็นอุบาย  เพื่อให้เกิดผลดีเป็นกุศโลบาย    แต่ถ้าเด็กนี้นำเรื่องนั่งมองแก้วไปบอกเด็กคนอื่นว่าเป็นแก้ววิเศษจะไม่เกิด นะค่ะ  ต้องทำอุคคหะนิมิต  ให้สมาธิเป็นเลิศก่อนจึงจะเกิด  การจะเอาแก้วไปตั้งหิ้งพระ  และอธิฐานทั้งเช้าและเย็น  และนำทองไปปิดจะกลายเป็นไสยศาสตร์ไป  ในส่วนที่สอนเด็ก  ที่ทำสมาธิจะได้พุทธศาสตร์  เด็กที่นำไปบูชาจะได้ไสยศาสตร์  เป็นความแตกต่างกัน

 

        คนเราในบางครั้ง  อาจจะโน้มน้าวไปในทางไสยศาสตร์  แต่บางครั้งจะไปทางพุทธศาสตร์  จึงขึ้นอยู่กับว่า  จังหวะและเวลาของจิตใจขณะนั้นแจ่มใสเพียงใด    และในบางครั้ง ความอ่อนแอทางจิตใจเข้ามาพักพิง  เราจะต้องการสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ  บางทีมากจนกระทั่งมองทุกอย่างเป็นไสยศาสตร์ไป  แต่ถ้าบุคคลใดก็ตามที่ดำเนินชีวิตในทางพุทธศาสนามาโดยตลอด  จะมีความเข้มแข็งทางจิต  มีกำลังความสามารถที่จะมีสติที่จะใคร่ครวญตนเองได้    จิตก็จะอยู่ในทางพุทธศาสนา  ความแตกต่างระหว่างพุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์  คงทำให้ท่านผู้อ่านได้รับประโยชน์บ้างนะค่ะ