- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
29 ส.ค. 2558
เบญจธาตุ หรือ ธาตุทั้ง 5 ในทางฮวงจุ้ย ซึ่งได้แก่ น้ำ ไม้ ไฟ ดิน ทอง เป็นองค์ประกอบหลักภายในสภาพแวดล้อม โดยทั่วไป มีผลกับอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด กับบุคคลต่าง ๆ ในสังคมของเรา ธาตุซึ่งมีปริมาณที่ไม่สมดุลกัน ย่อมจะทำให้อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ของบุคคล มีความแปรเปลี่ยน ดังพอสรุปได้ดังนี้
ธาตุทอง
• ธาตุทอง ได้แก่โลหะทุกชนิด หรือวัตถุหนัก ๆ ซึ่งมีความหมายถึง “ความสุข” หากทองมากเกินไป หรือ ตัวบุคคลที่มีธาตุทองมากเกินไป ก็จะกลายเป็นทองแตก จะมีผลทำให้ไม่ค่อยมีความสุข ซึ่งอาจจะเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง หรือการดื้อดึงดันในลักษณะขอให้มันแตกหักกันไปเลย ไม่มีการยืดหยุ่นในอารมณ์ ไม่มีการถอยหนึ่งก้าว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีการประนีประนอมกัน เปลือกโลกที่เคลื่อนตัว ยังมีความหมายถึงธาตุทองด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จึงมีผลทำให้ธาตุทองกระทบไปด้วย
• ธาตุทองน้อย จะขาดความหนักแน่น ไม่สามารถทำงานใหญ่ได้ ก่อร่างสร้างตัวไม่ค่อยได้ เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความสุข เป็นคนที่บุคลิก “งุ้งงิ้ง” ตลอด หงุดหงิด ไม่มีความสุขในตนเอง คล้ายกับนั่งก็ไม่สบาย นอนก็ไม่สบาย ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวอยู่ตลอด จึงเป็นผลให้เกิดความอ่อนไหวทางอารมณ์มากผิดปกติ คล้ายกับว่า “ไม่ถึงซึ่งจุดซึ่งตนเองเกิดความพึงพอใจเสียที” หรืออีกนัยก็คือ ไม่พอใจอะไรโดยง่าย ๆ กลายเป็น สิ่งที่อยู่รอบตนไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจได้ ทำให้กลายเป็นความ “โลภ” ไม่มีความสุขในสิ่งที่ตนเองมี อยากไม่จบสิ้นไม่รู้จักพอ
ธาตุดิน
• ธาตุดิน หากธาตุดินมาก ก็จะกลายเป็นคนที่ดื้อดึง คล้ายกับลักษณะของดินที่แข็ง หนัก ซึ่งจะมีผลคล้าย ๆ กับธาตุทอง หรือเรียกได้ว่า “ดื้อรั้นดันทุรัง” หรือ “ดื้อเหมือนโคถึกที่คึกพิโรธ” เป็นลักษณะที่ไม่เอาใครทั้งนั้น มองแต่ตัวเองเป็นหลัก ดึงดันกับความคิดของตนเอง และเห็นว่าถูกต้องอยู่เสมอ จะเห็นในลักษณะของการทุ่มเถียงกันไปมา ไม่มีการยอมรับผิด หรือยอมรับตามความเป็นจริง
• ธาตุดินน้อย ความประนีประนอม ปรองดองไม่มี ความเข้าใจในบุคคลอื่น ๆ ไม่มี อีกทั้งยังขาดความยืดหยุ่น และพลิกแพลงต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ ตรงไปตรงมาเกินเหตุ อีกทั้งยังเชื่อคนอื่น ๆ ได้โดยง่าย ขาดการไตร่ตรอง ขาดความรอบคอบและความหนักแน่น ถูกหลอกและลากไปมาได้โดยง่ายดาย ที่สำคัญที่สุด คือ ขาดเหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรอง
ธาตุน้ำ
• ธาตุน้ำ มีความหมายถึง “มนุษยสัมพันธ์” หากธาตุน้ำมาก ก็จะเป็นพวกเจ้าอารมณ์ นึกถึงแต่ตนเอง ไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่มีวินัย อารมณ์อ่อนไหว ความเศร้าโศกเสียใจใด ๆ ที่จะเข้ามากระทบ ก็มากเกินกว่าเหตุ หากดีใจ ก็เกินกว่าเหตุเช่นกัน เหมือนจะเรียกได้ว่า “เพี้ยน” ไปเล็กน้อย หรือนัยอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธาตุน้ำ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า ธาตุน้ำ คือกระแสหมุนเวียนทางการเงิน หรือ การบริการ ซึ่งหากมีปริมาณมากก็จะกลายเป็นความหมายในเชิงของ “การแก่งแย่งชิงกัน” เช่น การแย่งกันบริการ หรือหากเป็นกระแสหมุนเวียนทางการเงิน ก็คือ เงินเฟ้อนั่นเอง ดังนั้นความหมายของธาตุน้ำที่มาก เป็นความหมายของเจ้าอารมณ์ พร้อมจะทำลายล้าง เป็นการตัดสินกันด้วยอารมณ์ มุ่งร้าย โทสะ และมักโมโหโกรธา
• ธาตุน้ำน้อย หรือ น้ำเสีย มีความหมายถึง ความแล้งน้ำใจ หาหนทางเพื่อเอาเฉพาะตัวรอด และยังมีความหมายถึง ความจริงใจ หากที่ใดน้ำน้อย จะมีผลทำให้ “พูดจริงน้อย” ไปด้วย ขาดความจริงให้กัน พบเห็นสิ่งดี ๆ ก็จะกอบโกยเข้าหาตนเองก่อน และเอาสิ่งที่ไม่ดียกให้คนอื่นไป หรืออีกนัยก็คือ “ชอบโทษคนอื่น” นั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ต้องประสบพบกับ ปัญหาอุปสรรคอยู่เนือง ๆ เปรียบเสมือนกับ ชีวิตไม่ลื่นไม่คล่อง เพราะน้ำไม่ไหลเวียน
ธาตุไม้
• ธาตุไม้ หากธาตุไม้มาก ก็จะเป็นลักษณะของการหงุดหงิด ติดขัด ซึ่งเป็นเหตุมาจาก “ความอ่อนไหว ไปทุกอารมณ์” ไม่คำนึงถึงเหตุผลใด ๆ ซึ่งจะเป็นคนขี้โมโห เอาแต่ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับธาตุดินมาก แต่จะมีความหงุดหงิดนำหน้าก่อนเสมอ และประกอบไปด้วยความ “พาล”
• ธาตุไม้น้อย เป็นผลทำให้เกิดการเจ็บไขได้ป่วยบ่อย เป็นคนที่เกิดอาการแพ้ง่าย อ่อนแอ ทำให้เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความอดทน หรือขาดความอดทนต่อการทำอะไรเป็นระยะเวลานาน ผลของธาตุไม้น้อยอีกประการหนึ่ง คือ ไม่หยั่งราก ไม่ยั่งยืน พอเจออะไรนิดอะไรหน่อยก็หนี ไม่สู้ เปลี่ยนงานง่าย ไม่ทนร้อนทนหนาว กระเสาะกระแสะ หรือเรียกได้ว่า “ขาดขันติ” ส่วนใหญ่จะเป็นพวกคนในเมืองหลวง เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ชีวิตการงานก็เปลี่ยนแปลงบ่อย ชีวิตคู่ก็ไม่ยืนยาว ไม่มีความอดทนใด ๆ ผลคือ ทำให้ขาดความสุข คล้าย ๆ กับธาตุทองมาก
ธาตุไฟ
• ธาตุไฟ หากธาตุไฟมาก ก็จะเป็นลักษณะของขาดความละเอียด หรือ “ชุ่ยจัด” ทำอะไรแบบขาดสมาธิ เป็นลักษณะของคนที่มีสมาธิสั้น ปุบปับ มักเปลี่ยนแปลง เร่งร้อน ไม่นิ่ง ทำอะไรอย่างรวดเร็ว หากมีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ถือได้ว่า “เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย” ก็ว่าได้ ไฟมากจึงถือว่า ไฟไหม้ตนเอง กินตัวเอง ทำให้หมดตัวได้ง่าย ๆ จากความหุนหันพลันแล่นของตนเอง ก่อให้เกิดความเสียหายในทุก ๆ เรื่อง
• ธาตุไฟน้อย เฉื่อยชา เฉื่อยแฉะ ขี้เบื่อ ไม่มีความกระตือรือร้น เนือย ๆ เหมือนบรรยากาศในหน้าหนาว ในแถบประเทศที่มีหิมะตก ซึ่งแสงแดดมีน้อย ง่วงเหงา หาวนอน คล้ายกับคนนอนหลับ แต่หากมีผู้อื่นมาปลุกจะมีความรู้สึกโมโหเป็นพิเศษ สรุปก็คือ ซึมเซา ขี้เกียจ โมโหง่าย