ดวงประเทียบ

 

องค์ชายสี่ (ดวงประเทียบ)
1 ก.พ. 2554

 

องค์ชายสี่ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, หย่งเจิ้ง, องค์ชายสี่, คังซี, หลงเคอตัว

 
          เรื่องราวขององค์ชายสี่  เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว  จึงพอเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันอยู่บ้าง  เพราะเป็นเรื่องราวการแก่งแย่งชิงดี  ในหมู่ราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินจีน ทุกยุคทุกสมัย สามารถนำมาแต่ง ต่อเติมเป็นภาพยนตร์สนุกสนานหลายครั้ง และเรื่องราวขององค์ชายหย่งเจิ้ง  หรือองค์ชายสี่ จะมีอยู่ในภาพยนตร์เรื่องศึกสายเลือด ภาค ๑ และภาค ๒ และเรื่องหลี่ซื่อเหนียง (ล้วนแล้วแต่ผ่านตาข้าพเจ้ามาแล้ว  ซึ่งให้ความบันเทิงมาก  ไม่ได้หลับได้นอนกันสามวันสามคืน)

 



หย่งเจิ้ง ประสูติเมื่อ ค.ศ. ๑๖๗๘ เป็นโอรสองค์ที่ ๔ ของจักรพรรดิคังซี พระนามหย่งเจิ้ง เป็นพระนามรัชกาล  ส่วนพระนามที่จักรพรรดิคังซีทรงตั้งให้นั้น  คือ  “อิ้นเจิน”  ซึ่งมีความหมายว่าจะมีโชควาสนาเพราะความซื่อสัตย์จริงใจ  โดยพระองค์มีความหวังว่า  ในภายภาคหน้า  องค์ชายผู้นี้จะเป็นคนที่ซื่อสัตย์จริงใจตามพระนาม  เป็นการช่วยรักษาราชวงค์ชิงให้วัฒนาสถาพรสืบต่อไป

 



จักรพรรดิคังซีทรงมีพระโอรสทั้งหมด ๙ องค์  ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ทำคะแนนหาสมัครพรรคพวก  ชิงดีชิงเด่น  หวังตำแหน่งองค์ชายรัชทายาท  จึงมีเรื่องกระทบกระทั่งขัดแย้งกันตลอดมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงปลายรัชสมัยของคังซี  ยิ่งทวีความดุเดือดรุนแรงขี้นทั้ง ๆ ที่  จักรพรรดิคังซี  คอยสอนอบรมให้พระโอรสทั้งหลายมีคุณธรรม  มีเมตตาธรรม และมีความกตัญญูอยู่เสมอ
 

เจ้าชายอิ้นเจิน หรือ องค์ชายสี่หย่งเจิ้งนี้กลับรู้จักปฏิบัติตน ให้อยู่ในกรอบแห่งคุณธรรม ตามคำสอนของพระราชบิดาตั้งแต่เยาว์วัย ทุกครั้งที่ร่วมโต๊ะเสวยกับพระราชบิดา  ท่านจะวางพระองค์เรียบร้อย มีมารยาทในการรับประทานอาหาร  และไม่มีการรับประทานอาหารแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ คือไม่มีข้าวเหลือติดชามเลย  แสดงถึงนิสัยที่เห็นคุณค่าแม้แต่อาหาร  ซึ่งในมารยาทอันดีเยี่ยมนี้  ละเอียดแม้กระทั่งท่านไม่เดินเหยียบเงาศีรษะของผู้อื่นเลย และเป็นคนใจบุญมีจิตเมตตา  ซึ่งจักรพรรดิทรงรับรู้นิสัยอันงดงามอย่างนี้ด้วยพระทัยยินดี
 

ในบรรดา ๑๒ ราศี จะมีอยู่ ๓ ราศี  ที่แสดงถึงการอบรมที่ดีงาม  และมีใจกตัญญู  คือ ราศีเมถุน  ราศีสิงห์  และราศีกันย์
 


ประเทียบของหย่งเจิ้งนี้ ข้าพเจ้าให้ลัคนาอยู่ราศีสิงห์  ดังนี้

 

 

ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, หย่งเจิ้ง, องค์ชายสี่, คังซี, หลงเคอตัว

โดยเหตุที่  มีลักษณะเหมือนสิงห์ซ่อนเล็บ และจะได้เป็นกษัตริย์ในภายภาคหน้า  ข้าพเจ้าถือว่า ราศีสิงห์ เป็นราศีเจ้าป่า และมีกำลังกว่าอีกสองราศี

 

ระหว่างที่บรรดา พระญาติพี่น้อง พระเชษฐา อนุชา แย่งชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด  หย่งเจิ้งกลับไม่เข้ายุ่งเกี่ยว แสดงตนสันโดษ  ไม่ปรารถนาลาภยศไม่ทะเยอทะยาน  และเป็นมิตรกับทุกฝ่าย  ไม่แสดงอาการแย่งชิงกับใคร แถมยังคอยกราบบังคมทูล ความดีความชอบของพี่น้องต่อพระบิดา  ในยามที่แต่ละองค์ทำให้จักรพรรดิทรงกริ้ว  ถึงขนาดแสดงความจำนงยอมลดตำแหน่งยศศักดิ์ของตนเพื่อพี่น้อง

 

การไม่ซ้ำเติมพี่น้องที่เพลี่ยงพล้ำและยังคอยปกป้องส่งเสริมเช่นนี้  ทำให้เป็นที่รักของทุกคน  ซ้ำจักรพรรดิยังทรงไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอันมาก

 

ดาว ๐ ที่อยู่เรือนศุภะ จัดอยู่ในตำแหน่งกลางฟ้า  มีอิทธิพลให้ใจกว้าง  มีการคบหาสมาคมกว้างขวาง ดาว ๕ ที่กุมลัคนามาจากภพปุตตะ พี่น้อง บริวาร  เป็นดาวธาตุไฟ  มีกำลังส่งชาตาไปในทางที่ดี เป็นที่รักของผู้ใหญ่ และบริวารรวมถึงพี่น้องด้วย  ดาว ๓ ร่วมได้คู่สมพล  ร่วมดาว เนปจูน  มีบทบาทกับชุมชนคนหมู่มาก  มีความสามารถในการปลุกระดมคน  หรือ  โฆษณาชวนเชื่อ มีดาว  ๔๘๙ เล็งลัคน์ มีคุณสมบัติในการพูดให้คนหลงเชื่อ  แม้จะเป็นเรื่องไม่จริงก็ตาม

 

เล็งลัคน์  หมายถึง  บุคลิกที่หลอกตาคน เพราะดาวพุธ คือดาว ๔ นั้นเมื่อกุม กับดาว ๘ คู่ศัตรู พร้อมดาว ๙ แถมยังอยู่ในราศีกุมภ์  แสดงถึงอำนาจในการหลอกคนให้หลงเชื่อ

 

เพราะการแสดงออกของหย่งเจิ้ง  อย่างสม่ำเสมอว่ารักสันโดษไม่ทะเยอทะยานในเรื่องยศศักดิ์ แถมพระตำหนักของท่านอยู่ใกล้วัดป๋อหลินซื่อ ท่านก็ทรงติดต่อไปมาหาสู่กับพระสงฆ์องค์เจ้าอยู่เป็นนิจสิน  และยังนิมนต์พระมาสนทนาธรรม  แล้วแต่งหนังสือเรื่อง  “ความสุขใจ”  เผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับความสันโดษและโลกุตตรธรรม  อันนี้เป็นอิทธิพลของดาว ๔  และดาว ๙

 

แต่ทั้งหมดนี้  กลับเป็นการตบตาประชาชน หลอกลวงพระราชบิดา และอำพรางศัตรู นี่คือ ดาว ๔  และดาว ๘  ร่วมดาว ๙  เกาะกุม กันอยู่ในราศีกุมภ์ ราศีของธาตุลม

 

กลอุบายนี้ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทำให้จักรพรรดิคังซีทรงโปรดปรานราชโอรสองค์นี้มากที่สุด  ทรงมอบหมายภาระหน้าที่สำคัญ ๆ ให้ปฏิบัติ  ซึ่งมีความหมายว่า  องค์ชายองค์นี้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาทพระองค์หนึ่งด้วย

 

ตนุลัคน์  คือ ดาว ๑ ไปอยู่ในภพ มรณะ ราศีชั้นที่สาม คือ ราศีมีน  ข้าพเจ้าให้ไปอยู่ราศีนี้เพราะ

 

            ข้อแรก  ตนุลัคน์  ไปอยู่ราศีชั้นที่สาม แสดงถึงความหลอกลวง  และตระบัดสัตย์

 

            ข้อที่สอง  อยู่ในภพมรณะ เพราะตามพระราชประวัติ พระองค์สืบทอดพระราชบัลลังก์  โดยมีข้อสงสัยว่า พระองค์เป็นผู้ลอบวางยาพิษให้แก่พระราชบิดา  และยังฆ่าพี่ฆ่าน้องอีกมากมาย  คือพระราชทานความตายให้แก่ผู้อื่น

 

            ข้อที่สาม  อยู่ในภพของดาว เนปจูน  แลกเรือนกัน คือการมีบทบาทกับชุมชน  และมีผลต่อชีวิตพระองค์อย่างมากมาย  คือการคบหากับชาวยุทธ์ ในขณะที่เสด็จไปวัดบ่อย ๆ ทั้งยังเขียนหนังสือ  แต่ดาว ๑ ธาตุไฟ ไปอยู่ในธาตุน้ำ  หมายถึง  ความหักเห หรือความลึกลับของชีวิตพระองค์ เพราะแม้ยามสวรรคต  พระองค์ก็พระเศียรหายโดยไร้ร่องรอยเป็นคดีปริศนา ที่ทางภาพยนตร์ นำมาจิตนาการสร้าง กลายเป็นว่า เป็นฝีมือของ หลี่ซื่อเหนียงจอมยุทธ์หญิง ที่  หย่งเจิ้ง  คบหาตอนเป็นองค์ชาย  (ตอนนี้เพ้อเจ้อนอกเรื่องไปหน่อยนะ,,)

 

            ข้อที่สี่  ข้าพเจ้าให้ ดาว ๑ กุม ดาว ๒  เพราะแสดงถึงจันทร์ดับ  มีดาว ๖ ร่วมด้วย  แสดงถึงการดำเนินการลับ เพราะ ๒๖ เป็นดาวพระคู่โจร หรือ ดาวพระเคราะห์คู่ที่แสดงถึงการผลาญ การเอาเปรียบ การแก่งแย่ง ดาว ๒ ดับ ในภพมรณะ คือ เป็นการลับ

 

เรื่องราวของหย่งเจิ้งยังมีต่อ เพราะเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๒๒  เข้าใจว่า ช่วงหลังที่ทรงพระประชวรบ่อย ๆ ได้ทรงทราบความจริงถึงความดีจอมปลอม ขององค์ชาย ๔ หย่งเจิ้ง และเรื่องราวต่าง ๆ ที่พระองค์เห็นด้วยสายตาเป็นเรื่องหลอกลวง  จึงทรงแต่งตั้งองค์ชาย  ๑๔  เป็นจักรพรรดิสืบต่อพระองค์ แต่พระบรมราชโองการของพระองค์ไปไม่ถึงมือองค์ชาย ๑๔ ซึ่งขณะนั้น เป็นแม่ทัพปราบปรามพวกขบถอนารยชนอยู่นอกด่าน เพราะอำมาตย์ หลงเคอตัว  ผู้มีศักดิ์เป็นลุง  นั้นสนับสนุน  องค์ชายหย่งเจิ้ง  ซ้ำยังร่วมมือกับขุนพล  เหนียนเกิงเหยา ลับลอบแก้ไข พระราชโองการแต่งตั้งองค์ชายสี่แทน

 


จักรพรรดิคังซีสิ้นพระชนม์อย่างน่าสงสัยเมื่อ วันที่ ๑๓ เดือน ๑๑ ค.ศ.๑๗๒๒  และต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ หย่งเจิ้งก็ทรงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ที่ ๔ แห่งราชวงค์ชิง  ทรงพระนามว่า  “ชิงซื่อจง”

 

ภายหลังขึ้นครองราชย์  หย่งเจิ้ง  ก็กวาดล้างพระเชษฐา  อนุชาที่ รักทั้งหลาย  หมดเกลี้ยงไม่มีเหลือเป็นเสี้ยนหนามแม้แต่องค์เดียว  นี่คือฤทธิ์ดาว ๗ ที่เป็นเกษตรในภพอริ ซึ่งได้เกณฑ์กับกลุ่มดาว  ๑๒๖  คือศัตรูแพ้ภัยเพราะดาว “ดำเนินการลับ”  ในภพมรณะ นี่แหละ

 

แม้แต่ผู้สนับสนุนพระองค์  ทั้งเสด็จลุง  หลงเคอตัว  และขุนพล  เหนียนเกิงเหยา  ก็ถูกเนรเทศและถูกตัดหัวในที่สุด

 

หมู่ปัญญาชนที่เขียนหนังสือเปิดโปงความชั่วร้ายของจักรพรรดิองค์ใหม่  ก็ถูกจับประหารชีวิตมากมาย และอิทธิพลดาว  ๔๘๙  พระองค์ออกหนังสือ  “ต้าอี้เจี๋ยหมีลู่”  ลบล้างข้อกล่าวหา แต่ไม่มีใครเชื่อ

 

และแม้ต่อมา  จักรพรรดิหย่งเจิ้ง จะทรงออกหนังสือธรรมะ  กี่เล่ม  พร่ำสอนประชาชน  ให้ปฏิบัติตามคำสอนของขงจื้อ  ให้มีใจเมตตา  มีความกตัญญูกตเวที ก็ไม่มีใครเชื่อถือพระองค์อีก  กลับทรงมีศัตรูมากมาย

 

ซึ่งก็คือ  ฤทธิ์ดาว ๗ ที่เป็นเกษตร ในภพอริ และทรงผลให้บั้นปลายของพระองค์ทรงสวรรคตอย่างลึกลับ  เพราะอิทธิพล ดาว ๑๒๖ ในภพมรณะ  อีกเช่นกัน

 

ชาตานี้ซับซ้อนดีไหมคะ  ลองศึกษาทบทวนดูอีกครั้งนะคะ

 

                                                                                    สวัสดีคะ........