วิเคราะห์ดวงตัวอย่าง

 

เม้ยมะนิก (ดวงประเทียบ)
30 ม.ค. 2554

 

เม้ยมะนิก

 


             เรียนดวงจากวรรณคดีคราวนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้ ไซซี คือเรื่องราวของสาวสวยรูปงามนางหนึ่ง ที่เปลี่ยนฐานะจากสามัญชนคนธรรมดาสู่ความเป็นราชินี นางคือ เม้ยมะนิก นี่เอง

 

ดวงประเทียบ, เม้ยมะนิก, โหราศาสตร์ไทย, ดูดวง, ราชาธิราช, พระยาน้อย



พวกเราคนไทยทั้งหลาย คงพอจะได้ยินชื่อของนางจากพงศาวดารรามัญ(มอญ) ซึ่งถูกนำมาแปลและเรียบเรียงเป็นวรรณคดีภาษาไทยเรื่อง ”ราชาธิราช”ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑  คราวนี้ได้ร้อง”อ๋อ”ตั้งแต่ต้นรายการแล้ว

 


ก่อนจะรู้จักนางให้ดีกว่านี้ เราต้องมาทำความรู้จักเรื่องฤกษ์และความสำคัญของดาวบางดวงเสียก่อน

 



สมัยโบราณ หากครูบาอาจารย์จะสอนลูกศิษย์ ให้มีความเข้าใจในเรื่องของดวงชาตาให้แตกฉาน เขาจะผูกดวงประเทียบมาสอนกัน  ดวงประเทียบ คือดวงสมมติ ที่ผูกขึ้นตามลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของตัวเอกในวรรณคดี แล้วนำมาเป็นหลักสอนสั่งให้ลูกศิษย์ได้จดจำ เช่น ดวงจตุสดัยเกณฑ์หรือปัญจมหาบุรุษโยค ท่านก็ผูกดวงประเทียบของพระรามในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ แล้วก็ให้จดจำกันว่า หากใครมีดวงลักษณะแบบเดียวกับดวงพระราม ก็จะมีชาตาชีวิตคล้าย ๆ กับพระราม ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตต้องหักเหออกมาเดินดงอย่างที่เรา ๆ ทราบกัน

 



เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่พวกเรากำลังเรียนรู้ดวงชาตาของเม้ยมะนิก จึงเป็นดวงประเทียบที่ข้าพเจ้าได้ประมวลผูกขึ้นมา เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างสอนศิษย์ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องวิชาโหราศาสตร์ได้อย่างพิสดารและลึกซึ้งขึ้น

 

 

เป็นอันหมดคำถามว่า รู้วันเดือนปี พ.ศ. ที่เม้ยมะนิกเกิดได้อย่างไร

 



ปรกติ คนเราทุกคนจะมีฤกษ์กำเนิดด้วยกันทั้งสิ้น ฤกษ์ที่พูดถึงนี้ มาจากกลุ่มดาวในจักรวาลที่เรียงรายกันอยู่รอบ ๆ ระบบสุริยจักรวาลของเรานี้ นับรวมกันได้ ๒๗ กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะอยู่ห่างกัน ๑๓ องศา ๒๐ ลิปดา ดาวฤกษ์แต่ละกลุ่มต่างก็มีผลกับดวงชาตาและดวงดาวทุกดวงของเราตามอำนาจของดาวฤกษ์นั้น ๆ  การเรียนรู้โหราศาสตร์จึงจำเป็นต้องเรียนรู้อิทธิพลของดาวฤกษ์ที่เกาะเกี่ยวกับดวงชาตาในขณะที่เจ้าชาตาเกิด

 


การอ่านอิทธิพลของดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ กลุ่มนี้ จะใช้ดวงจันทร์เป็นหลัก คือดูฤกษ์ที่เราเกิดว่า ดาวจันทร์ไปอยู่ในกลุ่มดาวอะไร หรือที่เรียกตามภาษาโหรว่า ดาวจันทร์เสวยฤกษ์ ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลครอบคลุมเจ้าชาตาทั้งชีวิต

 



สำหรับผู้หญิง กลุ่มดาวที่มีความสำคัญที่สุดคือ ปุษยา ตั้งอยู่ในองศาต้น ๆ ของราศีกรกฎและจัดอยู่ในหมวดราชาฤกษ์ ตอนนี้ถ้าใครมีแผ่นลัคนาสำเร็จเอามาหมุนดูก็จะทราบ
 

 

ผู้ที่เกิดเมื่อดาวจันทร์เสวยฤกษ์นี้จะเป็นผู้ที่กล้าหาญมีชัยชนะแก่ศัตรูมีโภคสมบัติมากแต่มักขี้โรค ลูกไพร่จะได้เป็นพระยา  ราชโอรสจะได้เสวยราชเป็นมหาราช    ต่อไปนี้เป็นดวงประเทียบของเม้ยมะนิก

 



เรื่องราวย่อ ๆ ของเม้ยมะนิก เริ่มจากโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าอู่  เชื้อสายของมะกะโท  กษัตริย์ผู้รวบรวมอาณาจักรมอญเป็นผลสำเร็จ  เมืองหลวงอยู่ที่เมืองพะโค  หรือหงสาวดี  โอรสองค์นี้เกิดแต่สนมเอกศิริมายา  มีลิ้นเป็นรอยจักรจึงได้พระนามว่า  มังสุระมณีจักร  และด้วยพระมารดาสวรรคตตั้งแต่มังสุระมณีจักรยังเยาว์อยู่    พระเจ้าอู่จึงให้พระมหาเทวีผู้เป็นพระพี่นางเธอเอามังสุระมณีจักรไปเลี้ยงไว้  ครั้นมังสุระมณีจักรเจริญวัยขึ้น    พระเจ้าอู่จึงทรงให้ชื่อใหม่ว่า  พระยาน้อย  แต่ไม่เป็นที่โปรดปรานนัก  เพราะพระยาน้อยองค์นี้มีรูปโฉมค่อนข้างขี้ริ้ว  ผมหยิกตาพอง  น่องทู่    เป็นคนที่พระเจ้าอู่ลงความเห็นว่าสามหาว  หยาบช้าน่ากลัว  แต่ที่จริงแล้วก็คือลักษณะของดาวราหู  หรือดาว  ๘  นั่นเอง
 


พระยาน้อยมีชายาองค์หนึ่งชื่อ  ตะละแม่ท้าว  และมีโอรสด้วยกันองค์หนึ่ง  ชื่อลาวแก่นท้าว  พอมาถึงตรงนี้เหลือบตามองเรือนปัตนิของเม้ยมะนิกนิดหนึ่ง  เรือนปัตนิคือเรือนที่  ๗   นับจากลัคนามีดาวราหูอยู่  มีตำแหน่งเป็นมหาจักรกุมดาวอังคารซึ่งมีตำแหน่งเป็นอุจ  คือดาว ๓ ๘ กุมกัน  ทั้งยังเป็นดาวคู่ธาตุอันแสดงถึงความมีอำนาจ  และผู้มีวาสนาสูงสุดแต่รูปไม่งาม   ต่อมาเมื่อพระเจ้าอู่ประชวร  มหาเทวีกับชู้สมิงมราหู  ร่วมมือกันชิงราชสมบัติและคิดกำจัดพระยาน้อย  พระยาน้อยจึงหนีไปซ่อมสุมผู้คนที่เมืองตะเกิง  และที่เมืองตะเกิงนี้เองพระยาน้อยได้พบกับเม้ยมะนิก  ซึ่งตอนนั้นอายุเพียง  ๑๖ ปี

 



ดาว ๘ ของเม้ยมะนิกยังคงสำแดงเดชต่อไป  ในเรือนคู่ของเม้ยมะนิก  แสดงถึงคู่ครองที่นอกจากจะไม่หล่อแล้วแถมมีตำหนิอีก  คือมีศรีภรรยามาก่อน  เข้าทำนองพ่อหม้ายเมียเผลอ  วันนั้นพระยาน้อยประสงค์จะเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุมุนาถนอกเมืองตะเกิง    ระหว่างทางผ่านร้านขายแป้งน้ำมันริมทาง  ที่มีคนมารุมกันจนผิดสังเกต  พระยาน้อยเองก็อดเหลือบมองไม่ได้  และเมื่อทั้งสองเพียงสบตากันต่างก็มีใจตรงกันทันที่  ลักษณะอาการรักแรกพบอย่างนี้  หลายคนคงแอบคิดว่า  ดาวอะไรหนอ  เราอยากมีบ้างจัง    ดาวศุกร์ ๖  กับดาวเกตุ  ๙  ค่ะ  หากใครมีดาว  ๖  กับดาว  ๙  กุมกัน โยคกัน  (คือห่างกันสามราศี)เป็นอันใช้ได้  ชาตินี้ย่อมมีสักครั้งที่จะได้ประสบกับรักแรกพบ  เหมือนนางเม้ยมะนิก
 


มีลูกเล่นของโหรอีกนะค่ะ  ถึงอาชีพของเม้ยมะนิก  คือดาวพลูโตธาตุไฟมาอยู่ร่วมกับดาวอังคาร  ธาตุน้ำในราศีธาตุดิน  ลองมาผสมธาตุกันดูนะค่ะ  ธาตุน้ำ + ธาตุดิน  แล้วเอาธาตุไฟมาผสม  ก็คือขายแป้งน้ำมัน  ส่วนดาวราหู  ๘  คือการผสมผสานนั้นเอง  แล้วพระยาน้อย  ก็ส่งคนมารับเม้ยมะนิกไปเป็นสนมเอกอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ  โดยไม่สนว่านางจะมีสามีเป็นตัวเป็นตนมะจัดคิดถึง 
 


เม้ยมะนิกมีดาว  ๖ ๗  คือดาวศุกร์  กับดาวเสาร์  อยู่กุมกันในราศีของชีวิตสมรส  คือราศีตุลย์    จึงมีความผิดหวังในความรัก  อีกประการหนึ่ง  ดาว  ๘  ที่อยู่ในเรือนปัตนินั้นจัดเป็นพินทุบาทว์  และข้อน่าสังเกตอีกประการ  คือดวงของเม้ยมะนิกยังได้จตุสดัยเกณฑ์  ประเภทปัญจมหาบุรุษโยค  และฤกษ์ที่เกิดนั้นอยู่ในปุษยฤกษ์อีกด้วย  พอเจอศัพท์แสลง  ลูกศิษย์ก็มีอันลงไปอยู่ใต้ก้นกุฏิจริง ๆ  คือไม่โผล่ออกมารู้เรื่องอีกเลย

 


พินทุบาทว์  คือเกณฑ์ที่จะต้องพลัดพรากจากบ้านเรือน  หรือจะต้องพลัดพรากจากสามี 

 



จตุสดัยเกณฑ์  คือดาวเป็นรูปกากบาท  ชีวิตมักหักเหเปลี่ยนแปลง  หน้ามือเป็นหลังมือ

 



ปัจมหาบุรุษโยค  คือดาวรูปกากบาท  ที่ได้ตำแหน่งในที่นี้คือ  ๒  ดาวจันทร์ เป็นเกษตร  ๕  ดาวพฤหัส เป็นราชาโชค  ๓  ดาวอังคาร เป็นอุจ  ๘ ราหูเป็นมหาจักร  และดาว  ๖  ศุกร์ เป็นเกษตร อยู่ร่วมดาวเสาร์ ๗  ที่เป็นอุจ         ดาวที่ได้ตำแหน่งอย่างนี้  คือแม้จะลำบากอย่างไร  ในที่สุดก็จะได้ครองเมืองเหมือนดวงพระราม
 


ปุษยฤกษ์  คือฤกษ์ที่ดีที่สุดสำหรับสตรีดังที่กล่าวมาข้างต้น  เป็นอันว่า  ดวงชาตาของเม้ยมะนิก บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าจะได้เป็นราชินี    คราวนี้เชิญผู้อ่านขึ้นมาบนกุฎิร่ำเรียนกันต่อไป

 



หลังจากซ่องสุมผู้คนปราบศึกสงครามชิงราชสมบัติเรียบร้อย   สิ่งที่พระยาน้อยต้องจัดการเป็นอันดับต่อไป  คือหย่าศึกภายในระหว่างตะละแม่ท้าวและเม้ยมะนิก  แต่ไม่ค่อยได้ผลเพราะตะละแม่ท้าวมีความถือตัว  ทั้งยังหึงหวงพยาบาท  จนทำให้เสียการ เพราะในวันราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์   พระยาน้อยกำหนดให้ตะละแม่ท้าวเป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา  ส่วนเม้ยมะนิกเป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้าย    ตะละแม่ท้าวไม่ยอมด้วยความขุ่นเคืองสุดขีด  จนเลยฤกษ์พระราชพิธี  เป็นอันว่าพระยาน้อยทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์มอญ  ทรงพระนามว่า  พระเจ้าราชาธิราช  และสถาปนานางเม้ยมะนิกผู้มาตามพิธีฤกษ์  เป็นพระนางปิยราชเทวีนับเป็นพระมเหสีคู่บารมีพระเจ้าราชาธิราชแต่เพียงผู้เดียว  เพราะถึงแม้พระองค์จะมีสนมอีกมากนาง  แต่ไม่เคยแต่งตั้งผู้ใดเป็นพระมเหสีอีกเลย 

 


เม้ยมะนิก  จึงเป็นนางในวรรณคดีที่โชคดีที่สุด  ที่มีดวงชาตาพลิกผันก้าวจากการเป็นภรรยาของมะจัดคิดถึง  นั่งขายแป้งขายน้ำมันอยู่ร้านริมทาง  ขึ้นมาสู่ราชินีแห่งชาวมอญในที่สุด  อิทธิพลของปุษยฤกษ์นี่แหละค่ะ