- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
19 ม.ค. 2554
“แก้วหน้าม้า” เป็นวรรณคดีที่คนไทยรู้จักดี เรื่องราวใกล้เคียงกับนางซั่นบ้อเหมาในพงศาวดารจีนหรือแท้จริง คือเป็นเรื่องราวของ เจ็งฮองเฮา บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ เจ็งฮองเฮา เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมา เพราะสนุกสนานเหมือนนิยายเลยกลายเป็นเรื่องจริงอิงนิทาน และได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ในที่สุดก็แปลงสัญชาติเป็นเรื่องของแก้วหน้าม้าไป ดวงชาตาที่เห็นข้างต้น เป็นดวงประเทียบ ที่ผูกขึ้นตามเรื่องราว ผูกไว้เพื่อสอนเคล็ดพยากรณ์ ให้ลูกศิษย์ทั้งหลายไม่เบื่อหน่ายในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
เรื่องราวของแก้วหน้าม้า ค่อนข้างพิสดาร และสนุกขบขัน อย่างนี้ต้อง ๙ กุมลัคน์ เพราะดาว ๙ นั้น ครองความแปลกประหลาด ความไม่เหมือนใครเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากคนอื่น ทั้งยังมีอารมณ์ขัน พลิกแพลง ทั้งใจกว้างอีกต่างหาก ( ชื่นชมมากหน่อยเพราะผู้เขียนก็มีดาวดวงนี้กุมลัคน์)
ลัคนาให้สถิตอยู่ราศีพฤษภ มีกำลังมากหน่อย เพราะเป็นราศีธาตุดิน เป็นราศีชั้นที่ ๒ แสดงถึงความหนักแน่นยุติธรรม และเป็นลัคนาที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีป เป็นสามัญชน แต่ได้เป็นมเหสีของโอรสแห่งกรุงมิถิลา
กษัตริย์ผู้ครองมิถิลา คือท้าวภูวดลมงคลราชมีมเหสีนามว่า นันทา และมีโอรสอยู่องค์เดียวรูปหล่อนามว่า “พระปิ่นทอง”
สามีของนางแก้วหน้าม้าในอนาคต ก็ต้องพิจารณาดาว ๑ ในดวงสตรี ดังนั้นสามีรูปหล่อ เป็นลูกคนเดียวเป็นที่รักใคร่แก่ผู้พบเห็นก็ต้องมี ดาว ๑ เป็นราชาโชค อยู่ที่ราศีเมถุน
นางแก้วหน้าม้าผู้นี้ เป็นลูกของคนธรรมดา ตอนเกิด แม่ฝันไปว่า เทวดานำดวงแก้วมาให้ จึงตั้งชื่อว่า “แก้ว”
บุคคลโดยทั่วไป ราศีปัศวะ ถ้าได้องค์เกณฑ์ แสดงว่าชาตาชีวิตไม่ธรรมดา นางแก้วนั้น ดูถ้าชีวิตไม่ธรรมดาตั้งแต่เกิด เพราะมีความฝันนำมาก่อน แสดงถึงความเป็นผู้มีบุญ ดังนั้น ต้องทำปัศวะเกณฑ์คือภพที่ ๑๐ ต้องมีดาวสำคัญ ดวงใหญ่ ก็ต้องแยกประเภท ว่าควรเป็นบาปเคราะห์ หรือ ศุภเคราะห์
ตามวิสัยผู้มีบุญมาเกิด หรือนางเอกในวรรณคดีต่าง ๆ ที่จะสบายเห็นจะไม่มี ต้องฝ่าฟันตกระกำลำบาก ชนิดที่ว่า จะไม่ขอเกิดเป็นนางเอกอีก ขอเป็นตาสีตาสา ตัวประกอบในเรื่องยังจะสบายเสียกว่า ดังนั้นจึงกำหนดดาวบาปเคราะห์ในตำแหน่งปัศวะเกณฑ์ และประธานฝ่ายบาปเคราะห์ก็ต้องยกให้ดาวเสาร์ (๗) ไป
ดาว ๗ ที่อยู่ในภพที่ ๑๐ แสดงถึงความสามารถ และความมุ่งมั่น อันเป็นลักษณะของแก้วหน้าม้าตั้งแต่เยาว์วัย ความจริงแม่ตั้งชื่อให้เพียงว่าแก้ว ตามความฝัน แต่ชาวบ้านเห็นว่าหน้าไม่งาม ดูเหมือนม้า เลยเรียกว่า “นางแก้วหน้าม้า”ที่ใส่ดาว ๙ ให้กุมลัคน์นี่แหละ
ความพิเศษ ที่มีดาว ๙ กุมลัคน์ตามนิทานนั้นบอกว่าแก้วหน้าม้า มีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง คือสามารถรู้ล่วงหน้าว่า ลมฝนจะมาเมื่อไร ที่ไหน ใครทำนาล่ม นาแล้ง นางก็บอกที่เหมาะสมอุดมสมบูรณ์ให้ ดังนั้น จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนบ้านได้ของกินของใช้อยู่เสมอ
โดยปรกติ ดาว ๑ อยู่ที่ไหน ดาว ๔ และดาว ๖ มักอยู่ไม่ไกล การทำดวงประเทียบต้องคำนึงถึงข้อนี้ด้วย ณ ที่นี้ ดาว ๔ เจ้าเรือนปุตตะ คือลาภผลที่พึงพอใจ และถ้าอยู่ในตำแหน่งดี จะได้สม่ำเสมอสอดคล้องกับวงจรแก้วหน้าม้า ดังนั้น จึงใส่ดาว ๔ เจ้าเรือนปุตตะ ไว้ที่ภพกดุมภะ เป็นเกษตรเดิม เป็นดาวที่มีกำลัง กุมกับดาว ๑ ราชาโชค แสดงถึงความฉลาด มีไหวพริบ และความมีเสน่ห์ เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านตามท้องเรื่อง
เมื่อพระปิ่นทอง อายุได้ ๑๕ ปี ไล่เลี่ยกันกับนางแก้ว ทรงว่าวจุฬาขาดลอยไปตกที่หน้าบ้านนางแก้ว นางเก็บได้ และบอกว่าจะคืนให้ถ้ารับนางเข้าวังไปเป็นมเหสี
บุคคลที่มีความรัก หรือมีคู่แต่เยาว์วัย ชาตาชีวิตมักมีพระเคราะห์คู่ จึงพิจารณาหาพระเคราะห์คู่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับนางแก้ว ก็ไปพบว่า
“อังคารจันทร์เมถุน ธนูคู่สำคัญ มักหุนหันการชู้ คู่เจ้าเครา“ และ
“ศุกร์อังคารกักขฬะ บาปและหยาบคาย มีผัวเมียเรี่ยรายอยู่รอบด้าน”
จากคำกลอนโบราณนี้ ต้องให้สอดคล้องกับนิสัยของพระปิ่นทองด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ นางแก้วต้องเผชิญ และเป็นการบอกนิสัยของคู่ครองด้วย เมื่อนางแก้ว เป็นฝ่ายเอ่ยปากำ มัดมือชกพระปิ่นทองเอาว่าวจุฬาเป็นเครื่องต่อรองเรียกร้องเรียกร้อง เข้าข่ายลักษณะดาว ๓ ในราศีเมถุน มากกว่าธนู เพราะว่าราศีเมถุน นำหน้าลัคนา ย่อมให้ผลที่เร็วกว่าราศีธนูที่เป็นภพมรณะ ดังนั้น จึงใส่ดาว ๓ ก่อนที่ราศีเมถุน อนึ่ง ดาว ๑ มักอยู่ไม่ไกล ดาว ๔ และดาว ๖ ดังนั้น ตำแหน่งของดาว ๖ ก็น่าจะอยู่ที่ราศีเมถุน ความสมเหตุสมผลอยู่ที่ว่าดาว ๖ อยู่ในราศีเมถุน มักวุ่นวายเรื่องคู่ครอง ชาตาของนางแก้ว และพระปิ่นทองก็วุ่นวายจริง ๆ
พระปิ่นทองความที่อยากได้ว่าวคืน ก็ตอบรับคำไปอย่างนั้นเอง ประกอบกับนางเอกของเรามีใบหน้าเหมือนม้า
พระปิ่นทองจึงไม่คิดที่จะทำตามคำพูด นางแก้วคงต้องมีดวงชาตาที่ถูกหลอก จึงพิจารณาดาวคู่ศัตรูกับดาว ๔ ซึ่งก็คือ ดาว ๘
ดาวพระเคราะห์คู่ศัตรู หรือคู่มิตร ที่เห็นผลชัดเจน ควรอยู่ตำแหน่งเล็งกันมากกว่ากุมกัน ดังนั้น เมื่อตามท้องเรื่องนางแก้วถูกหลอกชัด ๆ อย่างนี้ จึงใส่ดาว ๘ ไว้ที่ราศีธนู คืออยู่ในตำแหน่งที่เล็งกันอยู่ในภพมรณะ คือตัวเองไม่หลอก พูดตรงแต่ถูกคนอื่นหลอก
นางแก้วรอเท่าไร พระปิ่นทองก็ไม่กลับมารับ นางแก้วจึงรบเร้าให้พ่อแม่เข้าวังไปทวงสัญญานี่แหละอิทธิพลที่ดาว ๔ กับดาว ๘ ส่งอิทธิพล ให้หาเรื่องเดือดร้อนใส่ครอบครัว เพราะปรกติราศีธนู เป็นราศีที่หาเรื่องใส่ตัวอยู่แล้ว ดาวดวงใดไปสถิตอยู่ ย่อมเป็นดาวหาเรื่องไปด้วย
การทวงสัญญาครั้งนี้ ท้าวภูวดลกริ้วโกรธเป็นหนักหนา แต่ไม่ได้โกรธลูกตัวเอง ตรงกันข้ามกับพระมเหสีที่ให้พระปิ่นทองรักษาสัญญา ส่งวอทองไปรับแก้วหน้าม้าทันที
ราศีหรือฤกษ์ที่ส่งผลให้ “ลูกไพร่ได้เป็นพระยา”คือราศีพิจิก อนุราธะราชาฤกษ์ ดังนั้น จึงใส่ดาว ๕ ซึ่งเป็นประธานฝ่ายศุภเคราะห์ ไว้ที่ราศีนี้ เล็งลัคนาเป็นที่เมตตาจากผู้ใหญ่ แม้จะมาจากภพมรณะ คือ ความจำใจ หรือจำยอม แต่ก็ส่งผลให้คนธรรมดาได้ตำแหน่งสะใภ้หลวง
เมื่อได้ดาว ๕ ตำแหน่งนี้ ก็ตรวจดูดาวที่เดินจริง ๆ ในปีที่ดาว ๕ โคจรอยู่ที่ราศีพิจิก คือ ประมาณปีกุน หรือปีชวด ๑ ที่อยู่ราศีเมถุน คือ ประมาณระหว่างวันที่ ๑๕ มิถุนายน -๑๕ กรกฏาคม แล้วก็ใส่ดาวที่เหลือลงไป ให้เป็นเหตุเป็นผลกัน ก็ได้ดวงประเทียบที่เป็นจริงมากที่สุด ในเรื่องของตำแหน่งดวงดาว
นี่เป็นวิธีผูกดวงประเทียบที่ลูกศิษย์พากันสงสัยว่าหามาได้อย่างไร
เรามาวิเคราะห์ชาตาชีวิต ของนางแก้วต่อ
เมื่อนางแก้วเข้าวัง เข้าที่เข้าทางของ ๕ มรณะเล็งลัคน์ และดาว ๗ ปัศวะเกณฑ์ สองดวงนี้ก็เริ่มเล่นงานนางแก้ว
ท้าวภูวดล ผู้ใหญ่ที่เป็นพิษ เพราะมาจากภพมรณะ ให้นางแก้วทำงานที่ยากลำบาก คือให้ไปเอาเขาพระสุเมรุมาไว้ในเมืองภายใน ๗ วัน หากทำไม่ได้ต้องโทษประหาร ถ้าทำได้จะอภิเษกสมรสนางกับพระปิ่นทองเป็นรางวัล
นอกจากมีดาว ๗ อยู่กลางฟ้า หมายถึงขวากหนามของความเป็นใหญ่แล้ว ชาตาของนางแก้วยังได้กากบาท แสดงถึงความหักเหพเนจร ดาว ๕ ที่เป็นดาวมหาจักร ให้คุณทางฤทธิ์และผาดโผน นางแก้วโชคดี ได้พบกับพระฤๅษี หลังจากสะเปะสะปะ ออกจากเมืองมาสองสามวัน ท่านมีความ
เมตตา เลยถอดหน้าม้าให้ กลายเป็นสาวน้อย แถมมีดอีโต้วิเศษ(คือความที่เป็นนิทานชาวบ้าน เลยไม่ต้องถือพระขรรค์อย่างนิทานเรื่องอื่น เพราะชาวบ้านมีความเข้าใจในฤทธิ์เดชของมีดอีโต้มากกว่า)
และพระฤๅษียังมอบเรือเหาะ จะได้ไม่ต้องเดินให้ลำบาก เมื่อได้ของวิเศษมา นางแก้วก็เลยเหาะไปที่เขาพระสุเมรุ แล้วเอามีดอีโต้แซะเอาทองคำส่วนหนึ่งขึ้นเรือเหาะ แล้วสวมหน้าม้าเหมือนเดิม กลับมายังเมืองมิถิลา
ท้าวภูวดลทำอะไรนางแก้วไม่ได้ และยังไม่รักษาสัญญาอีกด้วย ดวงนางแก้วที่มีดาว ๔ ดาว ๘ เล็งกันก็สำแดงเดชอีก คือถูกหลอกครั้งที่ ๒
ท้าวภูวดลกลับส่งพระปิ่นทองไปอภิเษกกับนางทัศมาลีธิดาของท้าวพรหมทัต ซึ่งเรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวการผจญภัยของนางแก้วหน้าม้าและพระปิ่นทอง ตามอิทธิพลของดาวกากบาทของนางแก้วหน้าม้า กว่าจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเป็นที่ยอมรับของสามี และพ่อสามีก็เล่นเอานางแก้วเหงื่อตกเหมือนกัน
ในตอนจบ ของเรื่องราวพระปิ่นทอง มีมเหสีรวมทั้งนางแก้วด้วย เป็นจำนวน ๔ คน ซึ่งก็จะตรงกับดวงประเทียบที่ผูกไว้ มีดาวกุมเล็งดาว ๑ ถึงสี่ดวง
ดาว ๒ ที่เป็นประในราศีมังกร แสดงถึงความมีฝีมือ ที่ตรงกันข้ามกับความเป็นหญิงของนางแก้ว คือรบเก่ง และไม่หยุมหยิมจุกๆจิกๆ ทั้งยังมีความเข้มแข็งมากกว่าพระปิ่นทอง และข้อสำคัญ ดาว ๒ เป็นประในภพศุภะ เป็นจันทร์อดิศรซึ่งการฟันฝ่าอุปสรรคของนางแก้ว และความอดทนเป็นเลิศ ส่งผลให้มีความเป็นปึกแผ่นในชีวิตในที่สุด
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้