ความรู้เกี่ยวกับโหราศาสตร์

 

เคล็ดการผสมดวงดาว
6 ต.ค. 2553

 

โดย...อาจารย์ษณอนงค์ คำแสนหวี (อาจารย์แอน)เคล็ดการพยากรณ์, เคล็ดการผสมดวงดาว, ดาวเกษตร



     เคล็ดการพยากรณ์โดยผสมดวงดาว เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาวิชาโหราศาสตร์ เพราะไม่ว่าจะมีครูอาจารย์คอยชี้แนะ หรือศึกษาด้วยตนเอง แม้จะมีความเข้าใจในความหมายของดาวแต่ละดวง ภพแต่ละภพ ธาตุราศี ฯลฯ แต่เมื่อเวลาจะพยากรณ์จริงไม่ง่ายเลย เพราะดาวแต่ละดวงไม่ได้อยู่ประจำราศีที่เราท่องมา คือ ดาว เกษตร อุจ มหาจักร แต่ โคจรย้ายตำแหน่ง ทั้งไปอยู่ร่วมราศีกับดาวอื่น ๆ ทั้งมีองศาทำมุมกัน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ต้องตีความทั้งสิ้น  

 

การผสมดวงดาวแล้วตีความให้ออกนั้น ต้องอาศัยทั้งทักษะและประสบการณ์ ทั้งมีเทคนิคลูกเล่นเฉพาะตน บางครั้งก็ต้องใช้จิตวิทยาประกอบกัน นี่แหละเป็นเสน่ห์ของผู้พยากรณ์ แต่เสน่ห์นี้ต้องบวกความแม่นยำด้วย เพราะถ้ามีเสน่ห์ พยากรณ์สนุก แต่ เอ... ไม่ตรง ไม่แม่นเลย ก็เสน่ห์นั้นก็หดเหือดหายไป  เพราะพอตีความหมายของดาวไม่ออก แล้ววิชาที่เรียนมามากมายจนท่วมหัวท่วมหูนั้นก็ไม่มีหนทางจะใช้ได้จะแก้ทำเลให้รึ…ก็ตีดวงยังไม่ออกเลย แล้วจะไปแก้ไขทำเลให้ได้ยังไง

 

หลักการผสมดวงดาวนั้น เอาเข้าจริง จะถือเป็นกฎเป็นเกณฑ์สำหรับนักท่องจำทั้งหลายไม่ได้ แต่เป็นประสบการณ์ของครูอาจารย์แต่ละคนมากกว่า  สำหรับอาจารย์คงต้องให้ลองทำเป็นขั้นตอนดังนี้ 
 

  1. ต้องรู้ประวัติความเป็นมา นิสัยใจคอ ของผู้ที่มาขอคำพยากรณ์ของเขาเสียก่อน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญในการพยากรณ์ ซึ่งอาจต้องดูจากลักษณะ ดังนั้นคนที่สามารถพยากรณ์ได้ดี ต้องพอมีความรู้ในด้านการดูลักษณะของคน รวมทั้งการดูสีหน้าของเขาด้วย บางครั้งเราเองต้องรู้จักวิธีตั้งคำถาม  หรืออาจจะเกิดจากคำถามของเราเอง เป็นการชักนำไม่ใช่ให้เขาเล่าเอง เพราะเขาจะเริ่มต้นไม่ถูก วิธีการถามคือถามให้ตรงกับดาวที่เราสงสัย เช่น เขามีดาว  ๑ ที่โดดเด่น เราอาจถามว่าวัยเด็กของเขาโดดเด่นแค่ไหน แล้วถามไถ่ถึงความหมายดาวแต่ละดวงเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ หรือรู้จักเขา หมายความว่า ผู้ขอคำปรึกษาหรือขอคำพยากรณ์ ต้องรู้ด้วยว่า จะพยากรณ์ให้แม่นยำหรือให้คำปรึกษาได้ “เราต้องรู้จักกัน” สิ่งที่เราต้องจับให้ได้คือ ดวงดาวของเขาชี้นำไปในทางไหน เช่นถ้าเขามีดาว ๒ เสีย  หมายถึงการขาดระเบียบวินัยในตนเอง เป็นต้น หรือเขามีดาว  ๕  ที่มีตำแหน่งอุจหรือเกษตรในเรือน อริ มรณะ วินาศ เขามักได้รับชดเชยในสิ่งที่สูญเสียไปเป็นต้น

  2. ด้วยดวงดาวในจักรราศีมีอยู่เพียง ๙ ดวง ในหลักโหราศาสตร์ไทย แต่เราต้องทายคนในโลกนี้  ดังนั้นจำเป็นมากที่ต้องรู้ว่า ดวงดาวที่ปรากฏในชาตา ได้ถูกกรรมชักนำให้มีความหมายไปในทางใด เราจึงบอกจุดหมายปลายทางได้ถูกต้อง  
     
  3. เมื่อเราทำความรู้จักตัวเขา ชีวิตของเขา เข้าใจความเป็นไปดีแล้ว ถึงจะสังเกตการณ์โคจรของดาวแต่ละดวง ณ วันที่เขาเกิด  โดยใช้หลักที่เราท่องจำ เช่น ดาวคู่มิตร หมายถึงความราบรื่น หมายถึงการมีคู่ครอง มีหุ้นส่วน

    ดาวพระเคราะห์ คู่ศัตรู หมายถึงอุปสรรค คนที่สีหน้าไม่ทำให้เกิดความเมตตา ชีวิตมีแต่ความลำบากและปัญหา คู่สมพล หมายถึงความโดดเด่น ความเป็นผู้นำ คุณสมบัติที่เหนือผู้อื่น  ความผาดโผนในชีวิต คู่ธาตุ หมายถึงความชำนาญเป็นพิเศษ การเข้าถึงสถานการณ์ เป็นต้น หรือทบทวนดาวพระเคราะห์คู่ทั้งสิบในภพต่าง ๆเราจะได้รู้จักความเป็นไปในชีวิตของเขามากขึ้น  

     
  4. การตรวจดูพระเคราะห์คู่ต่าง ๆ  ถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะความสัมพันธ์ของดวงดาวในแบบต่าง ๆ มีอีกมากมายจนตาลายที่ไม่คุ้นไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งก็ต้องใช้วิธีผสมตามนิสัยของดวงดาว เช่น (๑) กุม (๒) ชนิดที่องศาเหลื่อมกัน หมายถึง ดาว ๒ ไม่มีกำลัง และถ้าองศาทับกันสนิท นั่น คือ อมาวสี หรือ ดาว ๒ ดับ คือ มักรับเคราะห์ในสิ่งที่ตนไม่ได้ทำ และข้อเสีย คือ กระโดกกระเดก ความหมายแบบนี้ไม่ต้องท่องจำ ใช้ความเข้าใจ อย่างเช่น ในกรณีนี้ เรารู้ว่า ดาว ๒ โอนโยน เยือกเย็น สวยงาม ระเบียบวินัย คิดมากใจน้อย ฯลฯ คือ ความหมายที่เราท่องได้ เมื่อดับไป ความหมายอย่างที่รู้นี้ก็หายไป ดาว ๒ ที่นุ่มนวล ก็ไม่นุ่มนวล หายไป แต่ยังมีอยู่แค่ถูกบดบังรัศมี คือ ความหมายของทำดีไม่มีใครเห็น ต่อไปอีกนิด คือ รับเคราะห์แทนคนอื่น  ถ้า ดาว ๒ เป็นหยิน ดาว ๑ เป็นหยาง ก็ เข้าทำนองหยางแรงกว่าหยินก็ทายว่า นิสัยโผงผาง รุนแรงเวลาทำนายทายทักก็ขยายความ ใช้หลักจิตวิทยาเข้าไปร่วมด้วย เช่นคนที่อารมณ์รุนแรง ก็คือคนที่เห็นแก่ตัว เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่ค่อยคิดถึงใจคนอื่นแถมชอบขัดแย้งกับคนอื่น ที่นี้ขณะที่ทายก็ใส่ศิลปะและการรู้กาลบวกปิยะวาจาไปด้วยว่า “คุณมีนิสัยลุยงานไม่เห็นแก่หน้าใคร บางครั้งอาจไปขัดเจ้านายหรือบางทีลืมนึกถึงคนที่เขาตามคุณไม่ทัน ใจเย็นหน่อยนะจ้ะจะได้ลดความขัดแย้งหรือความหงุดหงิดในใจลง” ฟังดูดีไหมคะพูดความจริงที่คนเขาอยากฟังนะ อย่าไปพูดความจริงที่คนเขาไม่อยากฟัง ว่า“คุณเป็นคนเห็นแก่ตัว ชนิดเอาแต่ใจอย่างวายร้าย คนเลยเกลียดคุณกันทั้งบ้านทั้งเมืองแถมชอบขัดกับเจ้านายอีก นี่ทำงานที่ไหนคงจะไม่ค่อยทนล่ะสิท่า” อย่างนี้แน่ ๆ เลยเราแน่นิ่งไปทันทีสมกับที่ ดาว ๑ ดับ ๒  คือเขาเป็นดาว ๑ เราเป็นดาว   ๒
     
  5. ถ้าหากดวงดาวอยู่ร่วมราศีมากกว่าสองดวง เราก็สามารถใช้หลักเดียวกัน คือเอานิสัยของดวงดาวแต่ละดวงมาผสมกัน เช่น ดาว ๕ อยู่กับดาว ๔ และ ดาว ๘ ให้ทายทีละคู่ เช่น ๔ ๕  ตามตำราว่าเป็นดาวคู่วิชาการ แต่ดาว ๘  ทำให้ชอบนอกเหนือจากตำรา เวลาเรียนอาจไม่ตั้งใจ หรือบางทีรู้สึกว่าเรารู้มากกว่าครู เวลาพูดคุยกับใครมักมีวิธีการแปลก ๆ ให้เขาเกิดความเข้าใจ หรือมีวิธีที่จะพูดให้สำเร็จ คือ ดาว ๘  เป็นตัวแปลก  หรือมีความหมายไปในทางฟุ้ง ขยาย เปลี่ยนแปลง   ส่วนดาวคู่ ๔  ๘เป็นการพูดเชิงบังคับ พูดเชิงนักเลง ถ้าดาว ๔ เป็นปิยวาจา ดาว ๘ ก็พูดนักเลง พูดจาพาลพาโล  ดาวคู่นี้จัดเป็นพระเคราะห์ คู่ศัตรูด้วย จึงทายลักษณะเชิงบังคับ พูดไม่ถูกหู พูดเอาแต่ใจ พูดใช้อารมณ์ มีดาว ๕ ร่วมด้วย  ความหมายก็ดีขึ้น คือ ดีแต่ปาก แต่ใจไม่มีอะไร ส่วนดาว ๕ กับดาว ๘ มีหัวพลิกแพลง ร่วมดาว ๔  จะมีการ พูดจาหลอกเล่น หยอกล้อ เชิงกระแหนะกระแหน เป็นต้น การพิจารณาดวงดาวแบบนี้ ต้องอาศัยความละเอียด และความเข้าใจในความหมายของดาวแต่ละดวงอย่างแตกฉาน และอาศัยประสบการณ์ ซึ่งครูอาจารย์ก็มีหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์เพิ่มพูนแก่ศิษย์ เป็นพื้นฐาน  
     
  6. หลังจากพิจารณาดวงดาวต่าง ๆ พอเข้าใจความหมายแล้ว ขั้นต่อไป ให้กำหนดเอาภพเจ้าเรือนภพมาอ่านด้วย จะได้ความละเอียดมากขึ้น รวมทั้งความหมายของบาปเคราะห์และศุภเคราะห์ที่ให้ผลดีควบคู่กันไป ธาตุของดวงดาวก็มีส่วนให้การอ่านดวงดาวหลายดวงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในขั้นตอนนี้ ต้องอาศัยสมาธิและความเข้าใจ ดังนั้นการตรวจสอบดวงชาตา ต้องระมัดระวังดูให้ครบทุกด้าน บางทีความหมายของดาวที่โคจรร่วมกันดี แต่อยู่ภพที่ไม่เอื้ออำนวยให้แสดงผลเต็มที่ เราก็ต้องทายตามนั้น เช่น ดวงดาวแสดงว่าเขามีทรัพย์แต่อยู่ภพกัมมะ ก็เหนื่อยหน่อยกว่าจะได้ทรัพย์มา อยู่ภพอริ ต้องหมุนเงิน มีหนี้สิน อยู่ภพมรณะ ต้องรอมรดกหรือโบนัส อยู่ภพวินาศ ทรัพย์ได้มาโดยเสน่หา หรือ ได้มาด้วยวิธีแปลก ๆ หรือแม้แต่วิบัติไม่รู้ตัว  

  7. เคล็ดการพยากรณ์, มหาจักร, เคล็ดการผสมดวงดาว, ดาวคู่มิตร, ดาวคู่ศัตรู, คู่สมพล
  8. สังเกตว่า ดาวพระเคราะห์ชุมนุมกันอยู่ภพไหนมากที่สุด  ให้เพ่งเล็งไปยังภพนั้นก่อน เพราะภพนั้นมักจะมีอิทธิพลกับเจ้าชาตา ถ้าหากไม่มีก็อย่าไปอยากมี แล้วมาถามอาจารย์ด้วยความน้อยใจว่า ทำไมหนูไม่มี   
     
  9. ดาวที่ชุมนุมในจรราศี สามารถกล่าวได้ว่าอิทธิพลนั้นแผ่กระจายไปสู่ลัคนาค่อนข้างมากกว่าทุกราศี สามารถกล่าวได้ว่ามีอิทธิพลถึงนิสัยใจคอเพราะฉะนั้นให้ถามถึงนิสัยใจคอหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับดวงดาวในจรราศีก่อน(จรราศี คือ เมษ กรกฎ ตุลย์ และมังกร)  
     
  10. ดาวหลายดวงที่อยู่ในภพอริ จะหมายถึงความเกี่ยวพันกับสภาพความเป็นลูกจ้างการรับงานประมูล บริวาร สัตว์เลี้ยงทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหมายของดาวแต่ละดวงจากวงจรของชีวิตเคยไปเยี่ยมบ้านลูกศิษย์ท่านหนึ่งมีดาวชุมนุมอยู่ภพอริ แทบไม่ต้องถามอะไรมานักเพราะบ้านนั้นเลี้ยงสุนัขไม่ต่ำกว่า ๒๐ ตัว
     
  11. เคล็ดข้อสุดท้าย คือ หาอ่านตามตำราต่าง ๆ แล้วจดจำเสียบ้าง

การผสมดวงดาวเพื่อตีความให้เก่งกาจนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นสำคัญคนที่ชั่วโมงบินมากย่อมได้เปรียบแต่คนที่มีประสบการณ์มากก็ต้องไม่ทิ้งกฎเกณฑ์หรือหลักวิชา เพราะหลักวิชาเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เราตีความได้ถูกต้อง ประสบการณ์จะเน้นความมั่นใจและจดจำในหลักวิชา ตลอดจนกฎข้อเว้น ให้เราบันทึกไว้เป็นปูมเฉพาะตน

 

         ศิษย์ทั้งหลายพึงจดจำไว้ว่าวิชาโหราศาสตร์ เป็นวิชาที่มีครู เราต้องทำให้วิชานี้เป็นวิชาที่มีคุณค่า อย่ายัดเหยียดอย่าง่าย ๆ ในการพยากรณ์ ใครมาบอกว่า ดูดวงให้หน่อยซิว่าเป็นไง มีคำถามแบบนี้ ศิษย์อาจารย์แอน ตอบไปเลยว่า ดูไม่เป็น แต่ถ้าขอคำปรึกษา เราจะใช้วิชาที่เรียนมาเพื่อช่วยให้เขาสบายใจ อย่างนี้เราจะพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ และเป็นอานิสงส์ของโบราณจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาสืบต่อ ๆ กันมา