บทความพิเศษ

 

พิชัยสงครามกับสามก๊ก ตอนที่ ๑๘/๓ - เล่าปี่
7 ก.พ. 2559

 

การพูดคุยกันสองต่อสองของผู้ยิ่งใหญ่สองคนนี้ น่าสนใจ

 

หนึ่งบุคลิกเรียบร้อยอ่อนโยน ซ่อนความในใจได้อย่างลึกซึ้ง กิริยาภายนอกอ่อน แต่ภายในลึกซึ้งเจ้าแผนการ มีมายาเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า

 

หนึ่งเข้มแข็ง ลำพองผยอง แต่ไม่ละเอียด แม้จะช่ำชองในการดูลักษณะคน แต่ก็มั่นใจในตนเองมากเกินไป จึงมองข้ามบางสิ่งบางอย่างไป

 

ถ้าเปรียบเทียบกับธาตุราศีบน เล่าปี่เป็นธาตุหยิน โจโฉเป็นธาตุหยาง เล่าปี่เป็นธาตุไม้หยิน โจโฉก็เป็นธาตุไม้หยาง ยืนต้นตระหง่านสูงเด่น ไม่ก้มมองไม้พุ่ม

 

จุดจบของสองจอมคนที่มีความเป็นหยินหยางก็ต่างกัน

 

จุดจบของเล่าปี่ เพราะอารมณ์คั่งแค้นที่น้องร่วมสาบานถูกเด็ดหัว ต้องการทำสงครามโดยไม่ฟังที่ปรึกษา ต่างกับสมัยที่ยังไม่เป็นใหญ่ ลำบากยากจนร่อนเร่หาแผ่นดิน ก็เชื่อฟังที่ปรึกษา แต่พอเป็นใหญ่ อารมณ์ของหยินที่กดไว้ คือ ความเอาแต่ใจ ก็สำแดงเดช ใครให้เหตุผลอย่างไรก็ไม่ฟัง เพราะไม่ต้องควบคุม ระมัดระวังตนเองอีกต่อไป อันตรายของธาตุฝ่ายหยิน คือ ความเอาแต่ใจ ไร้เหตุผล

 

จุดจบของโจโฉ ฝ่ายหยาง คือ คิดมากหวาดระแวง โรคประจำตัวคือ ปวดหัว หรือความดันโลหิต เมื่อคิดมากก็ปวดหัว หวาดระแวงถึงขนาดฆ่าหมอเทวดาฮูโต๋ ซึ่งเป็นคนเดียวที่รักษาตนเองได้ อันตรายของธาตุที่เป็นหยาง คือ คิดมากหวาดระแวง

 

สรุปง่ายนิดเดียว แต่มีความหมาย และเป็นบทเรียนที่กว้างใหญ่ไพศาลสำหรับหลายคนที่ได้อ่านสามก๊ก ตอนนี้...ใช่ไหมคะ