บทความพิเศษ

 

พิชัยสงครามกับสามก๊ก ตอนที่ ๑๖/๑ - ยี่เอ๋ง
19 ม.ค. 2559

 

สามก๊กตอนต่อไปนี้ถ้าจะบอกว่า เป็นกรรมของโจโฉ ก็จะผิดหูผิดตาท่านผู้อ่านไปบ้าง เพราะน่าจะเป็นกรรมของยี่เอ็งมากกว่า เพราะใครๆ ก็รู้ว่า ยี่เอ๋ง ต้องตายก่อนวัยอันควรเพราะโจโฉแท้ๆ ไฉนจึงกลับเป็นกรรมของโจโฉไปได้ ลองฟังเหตุการณ์แล้วมาวิเคราะห์กันดูนะคะ เพราะตอนนี้จะแนะนำให้รู้จักยี่เอ็ง

 

ในครั้งนั้น เมื่อโจโฉได้เตียวสิ้วและกาเซี่ยงมาเป็นพวก ก็ดีใจยิ่งนัก แต่งตั้งให้กาเซี่ยงเป็น กิมจิมง่อ (อาแป๊ะขา อ่านว่าอะไรนะคะ) ในหนังสือสามก๊กบอกว่า แปลว่าที่ปรึกษาค่ะ แล้วโจโฉก็ถามเตียวสิ้ว กาเซี่ยงว่า จะเกลี้ยกล่อมเล่าเปียว เจ้าเมืองเก็งจิ๋ว อย่างไรดี

 

ทั้งสอง กิมจิมง่อ คือที่ปรึกษานี่แหละ ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวว่า เล่าเปียว เป็นคนชอบคบคนที่มีสติปัญญา ถ้าจะให้ไปเกลี้ยกล่อมเล่าเปียวนั้น ต้องจัดหาคนที่มีสติปัญญาจึงจะได้

 


บอกแล้วว่า ถ้าจะอ่านสามก๊ก ก็ต้องเข้าใจว่า ต้องมีอยู่สองประโยค คือ หาสติปัญญามิได้ หรือ ต้องมีสติปัญญา ถ้าเป็นคนโง่ก็ต้องตกม้าตายแต่แรก จึงจะควร

 

ตอนนั้น โจโฉก็ได้รับคำแนะนำจากซุนฮิวว่า ผู้มีสติปัญญาเห็นจะเป็น ขงหยง ซึ่งโจโฉก็ให้ซุนฮิวไปเชิญตัวขงหยงมา แต่ขงหยงนั้น คงจะมีความกลัวโจโฉ ไม่อยากได้ผลงานหินๆ อย่างนี้  ก็รู้อยู่ว่า เก็งจิ๋วนั้น เปรียบประดุจขนมหวานของทุกก๊ก เกลี้ยกล่อมสำเร็จก็ดีไป แต่ถ้าไม่สำเร็จ ผลที่ออกมายากที่จะให้อาจารย์แอนพยากรณ์ได้ จึงกล่าวแนะนำเพื่อนรักของตนคนหนึ่ง มีนามว่า “ยี่เอ๋ง” ว่าเป็นผู้มีสติปัญญากว่าตนถึงสิบเท่า สมควรให้แต่งตั้งเป็นข้าราชการด้วยซ้ำไป แล้วจะได้ไปเกลี้ยกล่อมเล่าเปียว

 

ซุนฮิวเห็นชอบด้วย ขงหยงก็ทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าเหี้ยนเต้ในที่ประชุมขุนนาง พระเจ้าเหี้ยนเต้รับมา ก็มิได้ตรัสว่ากระไร ส่งเรื่องให้โจโฉ แล้วบอกว่า “จะว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน”  ความจริง ถ้าซุนฮิวนำความไปเล่าให้โจโฉฟังก่อน ทุกอย่างอาจจะดีกว่านี้ เพราะเมื่อโจโฉให้ยี่เอ๋งมาพบที่บ้าน การแต่งเนื้อแต่งตัวและบุคลิกลักษณะของยี่เอ๋ง คงจะไม่ประทับใจโจโฉ ประกอบกับมาแบบข้ามขั้นตอน ทำหนังสือถวายพระเจ้าเหี้ยนเต้เลย แบบไม่รู้ว่า ใครใหญ่ จึงเกิดอาการขึ้นดังนี้

 

ยี่เอ็งมาถึง ก็คำนับโจโฉ โจโฉมิได้รับคำนับ แล้วไม่ปราศรัยตามอย่างธรรมเนียม ยี่เอ๋งมีความน้อยใจก็นิ่งอยู่ จึงทอดใจใหญ่แล้วว่าด้วยกำลังโวหารว่า “แผ่นดินนี้กว้างขวางนัก ถ้าจะขาดคนๆหนึ่งก็จะเป็นไรนักหนา”