- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
26 พ.ค. 2558
พลังชี่ หรือ ปราณชี่ หรือ ปราณ คือ ความว่างที่อยู่รอบๆตัวเรา และอยู่ภายในตัวเรา เป็นความว่างที่มีพลังในตัวที่เรามองไม่เห็น รวมอยู่ในสิ่งที่เราเรียกว่า อากาศ คนจีน ถือว่า ชี่ หรือ ปราณ เป็นพลังชีวิต จีนกลางออกเสียงว่า “ชี่” จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ขี่” และภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “ปราณ”
คำว่า “พลังชีวิต” นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ชีวิตของมนุษย์เรา หรือชีวิตของสัตว์ของพืชเท่านั้น แต่คำว่า “ชีวิต” นี้ครอบคลุมไปทั่วจักรวาล คือ สรรพสิ่งที่มีชี่อยู่รอบๆและเป็นพลังแฝงแทรกอยู่ มนุษย์ทุกคน สัตว์ทุกตัว ต้นไม้ทุกต้น ก้อนหิน แม่น้ำ ก้อนเมฆ แม้กระทั่งวัตถุสิ่งของ ทุกสิ่งทุกอย่างมีชีวิตและมีชี่ไหลเวียนอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น
ไม้ คือ ลมหายในของธรรมชาติ ดึงปราณของ ดิน สู่ฟ้า
ชี่ เป็นพลังงานที่เคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง จึงจัดเป็น ชี่ ที่มีชีวิต และพลอยทำให้บรรยากาสรอบๆมีชีวิต ชี่ของสิ่งหนึ่งจะแลกเปลี่ยนถ่ายโอนสลับที่กับชี่ของอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ดังนั้นในคัมภีร์อี้จิง จึงกล่าวว่า สรรพสิ่งในจักรวาลนี้ ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรไม่เชื่อมโยงกัน และไม่มีอะไรไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
คนส่วนมากบอกว่า ชี่ คือ อากาศ คือ ลมหายใจ เราจึงคุ้นกับคำว่า “ลมปราณ” และลมเป็นคุณสมบัติหนึ่งของชี่ แต่นอกจากลมหรืออากาศแล้ว ชี่ยังมีคุณสมบัติเป็นคลื่น เป็นพลังงานที่มองไม่เห็นอีกหลายรูป โยคะศาสตร์ของอินเดียและชี่กงของจีน เชื่อเหมือนกันว่าพลังทางร่างกาย พลังจิต และพลังความคิด ล้วนก่อเกิดจากพลังชี่หรือพลังปราณทั้งสิ้น
ดังนั้นหากต้องการให้ร่างกายแข็งแรง ก็ต้องทำชี่ให้แข็งแรง หากต้องการให้จิตใจเข้มแข็ง ก็ต้องปรับชี่ให้มีกำลัง และหากต้องการให้เกิดปัญญาทางความคิด ก็ต้องบ่มเพาะให้ชี่ไปบำรุงสมองได้เต็มที่
นอกจากพลังทางกายภาพ พลังจิต และพลังความคิด จิตวิญญาณก็เป็นพลังชี่อีกรูปหนึ่งด้วย สิ่งมีชีวิตเมื่อตายลง ชี่ส่วนหนึ่งจะอ่อนแรงและแปรรูปไป แต่ชี่ไม่ได้สลายหรือสูญไปเหมือนกับร่างกายที่เน่าสลายหายไป ชี่ของชีวิตที่ตายลง จะเลื่อนไหลไปปะปนกับกระแสชี่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด จึงสามารถกล่าวได้ว่า วิญญาณคือรูปหนึ่งของชี่ และกระแสกรรมก็เป็นรูปหนึ่งของกระแสชี่เช่นกัน
ในคัมภีร์อี้จิงเก่าแก่ของจีน กล่าวว่าคนเราสัมพันธ์กับชี่ ๓ ประเภท หรือ พลังทั้ง ๓ คือ
พลังชี่ของ ฟ้า หรือ สวรรค์
พลังชี่ของ ดิน หรือ ของโลก
และพลังชี่ของ มนุษย์
๑. พลังชี่ของฟ้าหรือชี่สวรรค์ คือพลังธรรมชาติที่อยู่บนท้องฟ้าและในจักรวาล เช่น พลังจากดวงอาทิตย์ แรงดึงดูดจากดวงจันทร์และดวงดาว
๒. พลังชี่ของ ดิน หรือ ของโลก คือพลังงานที่เกิดจากลม พายุ สายฝน ก้อนเมฆ และอากาศ ทั้งหมดคือพลังธรรมชาติที่อยู่บนโลก ทั้งบนดินและใต้ดิน ก้อนหิน ดิน ทราย สายน้ำ แร่ธาตุ ต้นไม้ และสัตว์ต่าง ๆ
๓. พลังชี่ของมนุษย์ คือพลังชีวิตของคนเรา
แม้ว่าจะมีการแบ่งประเภทของชี่ออกเป็นพลัง ๓ ประเภท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชี่ของฟ้าจะแยกขาดจากชี่ของดิน หรือชี่ของมนุษย์จะไม่เกี่ยวข้องกับชี่ฟ้าและชี่ดิน ชี่ทั้ง ๓ มีความสัมพันธ์และทำปฏิกริยาต่อกันอย่างแยกกันไม่ขาด ชี่ของสิ่งหนึ่งสมดุล ชี่ของสิ่งอื่นก็ดีไปด้วย ชี่ของสิ่งหนึ่งไม่สมดุล ผลกระทบก็จะเกิดต่อชี่ของสิ่งอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นความสงบสุขและความมีสุขภาพดีของทุกชีวิตในจักรวาล จึงขึ้นอยู่กับความสมดุล ความผสมผสานกลมกลืน และการแลกเปลี่ยนกันอย่างพอดิบพอดี ระหว่างชี่ของตัวเองกับชี่ของสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของ ชี่ภายใน กับ ชี่ภายนอก
ชี่ ทุกชนิดพยายามรักษาและปรับสมดุลในตัวเองตามธรรมชาติ เช่น
เมื่อใดที่ชี่สวรรค์เสียสมดุล ธรรมชาติจะปรับดุลด้วยปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อากาศและฤดูกาลแปรปรวน
เมื่อใดที่ชี่ของดินหรือชี่โลกเสียสมดุล โลกก็จะปรับดุลด้วยการขยับตัว เกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม
ชี่ของคน สัตว์ ต้นไม้ ก็เช่นกัน เมื่อใดเสียสมดุล ธรรมชาติก็ปรับด้วยการทำให้อ่อนแอ เจ็บป่วยและตายไป เพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตอื่นได้ดำรงอยู่ หรือเพื่อให้ชี่ที่เสียสมดุลนั้น หมุนเวียนกลับมาเกิดเป็นวัฏจักรชีวิตใหม่ที่สมดุลขึ้นอีกรอบหนึ่ง
ชีวิตมนุษย์เรา เป็นส่วนหนึ่งในปรากฏการณ์ปรับสมดุลของธรรมชาติ เมื่อใดที่ชี่ของฟ้าป่วย เราก็ป่วย เมื่อใดที่ชี่ของดินป่วย เราก็ป่วย และเมื่อใดที่ชี่ของสิ่งมีชีวิตอื่นป่วย เราก็ป่วยด้วย
ดังนั้น ตัวเรา ที่อยู่อาศัยของเราจึงมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่อยู่รอบๆตัวเราอย่างลึกซึ้ง
เนื่องจากจักรวาลและโลกเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระแสชี่ของทุกสิ่งทุกอย่าง ยักย้ายถ่ายเทจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งตลอดเวลาด้วยเหมือนกัน ชี่ของสิ่งหนึ่งจะถูกดึงและถูกดูดจากชี่ของอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ตรงไหนหลวมหรือพร่อง ชี่อื่นก็จะไหลเข้ามาแทนที่ ตรงไหนแน่นหรือล้น ชี่ก็จะกระจายออกไปแทรกรวมกับชี่อื่น
หลักการนี้สามารถยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อไรที่ชี่ฝ่ายแข็งแรงภายในร่างกายของเราพร่องลง ก็จะถูกชี่เชื้อโรคแทรกเข้ามาแทนที่ เมื่อไรที่ชี่ในจิตใจเราอ่อนแอ ก็จะถูกชี่อารมณ์ของคนอื่นแทรกแซงได้ง่าย เมื่อไรที่ชี่ในสมองของเราพร่อง ปัญญาความคิดใหม่ ๆ ก็จะไม่เกิด ในคัมภีร์เต๋าโบราณของจีนระบุว่า หากชี่กายอ่อนแอ ชี่ของจิตหรืออารมณ์ ก็จะอ่อนแอด้วย เมื่อชี่จิตอ่อนแอ ก็ไม่สามารถส่งชี่ไปบำรุงปัญญา เมื่อชี่ปัญญาไม่มีเรี่ยวแรง จิตวิญญาณหรือเสิน ก็ไม่สามารถปฏิสนธิ เมื่อเป็นเช่นนี้ ดวงวิญญาณของคนนั้น ก็จะไม่ได้รับการขัดเกลาและพัฒนาให้สูงขึ้น
ตำราชี่กงโบราณของจีนบอกว่า เราสามารถประเมินสุขภาพของตัวเองได้ด้วยการฝึก ความสังเกตและรับรู้ คือการสังเกตตรวจสอบตัวเองอย่างละเอียดทั้งภายนอกคือร่างกายและสิ่งแวดล้อม และภายในคืออารมณ์และความคิดนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น นั่งนาน ๆ ขาเกิดชาหรือเมื่อยขึ้นมา อาการชาและปวดเมื่อยเป็นเพราะชี่ในร่างกายไม่หมุนเวียน บอกเราว่าถึงเวลาต้องลุกออกไปเดินยืดเส้นยืดสายให้ชี่ไหลเวียนเสียบ้างแล้ว เมื่อเราอยู่ในห้องปรับอากาศนาน ๆ ถ้ารู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกว่าผิวหนัง ลำคอ หรือโพรงจมูกชักจะแห้ง แสดงว่าชี่ได้ส่งสัญญาณมาบอกเราว่า ขณะนี้ชี่ในห้องนี้ชักจะไม่ดีแล้ว ควรเดินออกไปนอกห้อง หาที่โล่ง ๆ ที่มีลมพัดผ่าน และมีต้นไม้ใบหญ้า เพื่อเราจะได้ปรับชี่ของตัวเราเข้ากับชี่ของฟ้าและดินเสียหน่อยค่อยกลับเข้า มาทำงานต่อ
ช่วงไหนที่เราหมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากเกินไป จนจิตใจห่อเหี่ยว เบื่อหน่าย เซ็ง หดหู่ ซึมเศร้า อาการเหล่านี้เป็นเสียงของชี่ที่สื่อสารกับเราว่า ชี่ภายในของเรากำลังบกพร่อง อาจจะมีชี่บางอย่างมากไปหรือน้อยไปในตัวเรา เช่น ชี่หยินอาจมากไป ชี่หยางอาจน้อยไป ถึงเวลาที่เราควรออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนชี่กับชีวิตอื่น ๆ บ้าง
โดยทั่วไป หากจิตใจไม่นิ่งพอ เราจะแปลสัญญาณหรือจับสังเกต ชี่ ไม่ออก ก็จะเกิดสิ่งที่ตามมา คือเกิดโรคภัย เมื่อเรายิ่งอ่อนแอ เราก็จะยิ่งขี้เกียจออกกำลัง เมื่อเรายิ่งอ้วน เราก็ยิ่งหิวบ่อย เมื่อเรายิ่งหงุดหงิด เราก็ยิ่งมองหาเหยื่อให้ระบายโทสะ ยิ่งเราซึมเศร้า เราก็จะยิ่งเก็บตัวไม่อยากเจอหน้าใคร อาการที่หนักขึ้น ๆ คือ สัญญานของชี่ภายในที่เสื่อมลง
วิถีชีวิตสมัยใหม่ ทำให้ผู้คนลืมความเชื่อมโยงระหว่างชี่ของตัวเองกับชี่ของจักรวาล และชี่ของโลก หรือ ฟ้า กับ ดิน และลืมความสำคัญของคำว่า ชี่ หากลืมนาน ๆ เข้า ชี่ภายในของเราก็จะสึกหรอเสียสมดุล อาการป่วยกาย ป่วยใจ ป่วยปัญญา ก็จะปรากฏขึ้น
พูดง่าย ๆ ว่าในชีวิตประจำวัน แม้จะต้องทำงานประจำที่วุ่นวาย ในสถานที่ที่ไม่เป็นธรรมชาติ แต่เราก็สามารถรักษาชี่ให้สมดุลได้ ด้วยการหมั่นฝึกสังเกตตัวเอง อย่าปล่อยให้การงานหรือกิจกรรมสังคมรัดตัวเสียจนละเลยตัวเอง
ชี่ หรือพลังชีวิตนั้น มีอยู่รอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือชนบท ถ้าอาศัยอยู่ในอาคารใหญ่ ก็หมั่นเดินออกมาหายใจในที่โล่ง ๆ บ้าง แทนที่จะเข้าออกห้องแอร์ตลอดวัน หาเวลาไปเดินเล่นดูพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำแทนการไปช้อปปิ้งบ้าง ไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะแทนการออกกำลังกายในฟิตเนสบ้าง ลองตัดกิจกรรมบันเทิงยามค่ำคืนให้น้อยลง เข้านอนไม่ดึกมากและตื่นให้ทันสูดอากาศสดชื่นตอนเช้ามืด ลองเจียดเวลาดูหนังฟังเพลงหรือปาร์ตี้ มาทำกิจกรรมที่ได้อยู่กับความเงียบและสมาธิบ้าง เช่น วาดรูป งานช่างงานฝีมือ และลองออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวช้าที่ช่วยฝึกสมาธิ เช่น ชี่กง โยคะ หรือไท้เก๊ก สลับการการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ที่คุ้นเคยบ้าง
การปรับสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยปรับชี่ภายในของเราให้สมดุลกับชี่ภายนอก ทำให้ชี่ในตัวเราประสานกับพลังชี่ทั้ง ๓ คือชี่ฟ้า ชี่ดิน และชี่มนุษย์อย่างพอดี คือ ความหมายที่แท้จริงของ ชี่ภายนอก ภายใน ที่ต้องสมดุลกัน
เป็นรูปที่สมบูรณ์ทางฮวงจุ้