เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

วิสาขา - พุทธพยากรณ์กับความปราถนาในอดีตชาติ
10 เม.ย. 2559

 

นางวิสาขาสร้างวัด

 

โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า-เย็น และเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ถ้าไปเวลาเช้าก็จะมีของเคี้ยวของฉันเป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันดีทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย แม้นางเองก็ไม่กล้าที่จะไปวัดด้วยมือเปล่า ๆ เพราะละอายที่พระภิกษุหนุ่ม สามเณรีน้อยต่างก็จะมองดูที่มือว่านางถืออะไรมา และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะเดินเยี่ยมเยือนถามไถ่ความสุข ความทุกข์ และความประสงค์ของพระภิกษุ สามเณร และเยี่ยมภิกษุไข้จนทั่วถึงทุก ๆ องค์ก่อนแล้วจึงกลับบ้าน

 

วันหนึ่งเมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมและเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้าน นางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่า ถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ ก็ไม่ต้องเอาคืนมา ให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะนางคิดว่า จะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า เครื่องประดับนี้ไม่มีประโยชน์แก่พระเถระ ดังนั้นนางจึงขอรับคืนมาแล้วนำออกขายในราคา ๙ โกฏิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้ นางจึงซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้าง ดำเนินการสร้างวัดถวายเป็นพระอารามประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร พระบรมศาสดารับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาในการก่อสร้างถึง ๙ เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นามว่าพระวิหารบุพพาราม

 

นางเปล่งอุทานในวันฉลองวิหาร คือ วัดบุพพาราม ที่นางสร้างถวายนั้นด้วยคำว่า "ความปรารภนาใด ๆ ที่เราตั้งไว้ในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ทั้งหมดของเราได้สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการแล้ว"  ความปรารถนาเหล่านั้น คือ

 

๑. ความปรารถนาที่จะสร้างปราสาทฉาบด้วยปูนถวายเป็นวิหารทาน

๒. ความปรารถนาที่จะถวายเตียง ตั่ง ฟูก หมอน และเสนาสนภัณฑ์

๓. ความปรารถนาที่จะถวายสลากภัตเป็นโภชนาทาน

๔. ความปรารถนาที่จะถวายผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เป็นจีวรทาน

๕. ความปรารถนาที่จะถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน

 

ความปรารถนาเหล่านั้นของนางวิสาขาสำเร็จครบถ้วนทุกประการ สร้างความเอิบอิ่มใจแก่นางยิ่งนัก นางจึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิหารทานพร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าว

 

พระภิกษุทั้งหลาย ได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขาแล้ว ต่างก็รู้สึกประหลาดใจ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาง จึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่ได้พบเห็นและรู้จักนางวิสาขาก็เป็นเวลานาน พวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่เคยเห็นนางขับร้องเพลงและแสดงอาการอย่างนี้มาก่อนเลย แต่วันนี้ นางอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาบุตรธิดาและหลาน ๆ ได้เดินเวียนรอบปราสาทและบ่นพึมพำคล้ายกับร้องเพลง เข้าใจว่าดีของนางคงจะกำเริบ หรือไม่นางก็คงจะเสียจริตไปแล้วหรืออย่างไรพระเจ้าข้า ?"

 

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเรามิได้ขับร้องเพลงหรือเสียจริตอย่างที่พวกเธอเข้าใจหรอก แต่ที่ธิดาของเราเป็นอย่างนั้น ก็เพราะความปีติยินดีที่ความปรารถนาของตนที่ตั้งไว้นั้น สำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ทุกประการ นางจึงเดินเปล่งอุทานออกมาด้วยความอิ่มเอมใจ"

 

พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นางวิสาขาได้ตั้งความปรารถนาแต่เมื่อไหร่ พระเจ้าข้า"

 

พระบรมศาสดาได้นำอดีตชาติของนางวิสาขามาตรัสเล่า ดังนี้

 

ย้อนไปเมื่อหนึ่งแสนกัปนับย้อนกลับไปจากภัทรกัปนี้ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนามว่า "พระปทุมุตตระ" ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระชนมายุหนึ่งแสนปี มีพระภิกษุผู้เป็นขีณาสพหนึ่งแสนรูปเป็นบริวาร ประทับอยู่ในพระนครหงสวดี มีพระชนกเป็นพระราชา ทรงพระนาม"สุนันทะ" มีพระชนนีเป็นพระราชเทวี ทรงพระนามว่า "สุชาดา"  มีอุบาสิกาผู้เป็นยอดอุปัฏฐายิกา ได้กราบทูลขอพร ๘ ประการ แล้วตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา และได้เฝ้าปฏิบัติบำรุงพระบรมศาสดา ปัจจัย ๔ ย่อมไปสู่ที่บำรุงทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า

 

หญิงสหายคนหนึ่งของอุบาสิกานั้น ได้ไปที่วิหารกับอุบาสิกานั้นเป็นนิตย์ หญิงสหายนั้นได้แลเห็นอุบาสิกาพูดกับพระบรมศาสดาด้วยความคุ้นเคย และได้แลเห็นความเป็นผู้สนิทสนมกับพระบรมศาสดาจึงคิดว่า "เธอกระทำกรรมอะไรหนอ ถึงเป็นผู้สนิทสนมกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างนี้"  แล้วจึงกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเจริญ หญิงนี้เป็นอะไรของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าข้า"

 

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า "หญิงนี้เป็นยอดแห่งหญิงผู้อุปัฏฐายิกา"

 

หญิงสหายนั้นกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นางกระทำกรรมอะไรไว้ ถึงได้เป็นยอดแห่งหญิงผู้อุปัฏฐายิกา พระเจ้าข้า"

 

พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "เธอได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดหนึ่งแสนกัปมาแล้ว"

 

หญิงสหายกราบทูลถามว่า "บัดนี้ หม่อมฉันปรารถนาอาจจะได้ไหมพระเจ้าข้า"

 

พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "ได้"

 

หญิงสหายจึงกราบทูลนิมนต์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเจริญ ถ้ากระนั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับพระภิกษุหนึ่งแสนรูป โปรดรับอาหารของหม่อมฉันตลอด ๗ วันเถิดพระเจ้าข้า" พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับการกราบทูลนิมนต์ของหญิงนั้นแล้วด้วยพระ ดุษณีภาพ

 

หญิงสหายได้ถวายทานอยู่ตลอด ๗ วัน พอถึงวันสุดท้ายได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อใช้ทำจีวร แล้วกราบทูลพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยผลแห่งทานนี้ หม่อมฉันไม่ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเป็นใหญ่ในเทวโลกเป็นต้น แต่ขอให้หม่อมฉันได้รับพร ๘ ประการในสำนักพระพุทธเจ้า ผู้เช่นกับพระองค์ได้ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา เป็นยอดของอุบาสิกาผู้สามารถเพื่อบำรุงด้วยปัจจัย ๔ พระเจ้าข้า"

 

พระบรมศาสดาทรงดำริว่า ความปรารถนาของหญิงนี้จะสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงเล็งดูถึงอนาคตกาลไปตลอดหนึ่งแสนกัปแล้วจึงตรัสว่า "ในที่สุดแห่งหนึ่งแสนกัป มีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคดม จะทรงอุบัติขึ้น ในครั้งนั้น เธอจะได้เป็นอุบาสิกามีชื่อว่า วิสาขา จะได้รับพร ๘ ประการในสำนักของพระโคดมพุทธเจ้า เธอจะได้ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา และจะได้เป็นยอดแห่งหญิงผู้อุปัฏฐายิกา คืออุปถัมป์บำรุงพระภิกษุสามเณร"

 

นางมีความปีติปราโมทย์เมื่อได้ฟังพระพุทธพยากรณ์ ราวกับจะได้สมความปรารถนาในวันพรุ่งนี้ทีเดียว นับแต่นั้นมา หญิงสหายได้ตั้งใจกระทำบุญกุศลสืบต่อมาจนตลอดอายุ เมื่อนางตายจากชาตินั้นแล้วก็ได้ไปเกิดในเทวโลก เสวยสุขอยู่ในสุคติภพตลอดกาลนาน

 

ครั้นมาถึงสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางกุลธิดานั้นได้มาบังเกิดเป็นพระราชธิดาผู้เป็นพระกนิษฐภคินี ( น้องสาวคนสุดท้อง ) ของบรรดาพระราชธิดา ๗ พระองค์ของพระเจ้ากาสี ผู้ทรงพระนามว่า "กิกี" ในเมืองพาราณสี พระราชธิดาทั้ง ๗ พระองค์ ได้แก่

 

๑ . พระนางสมณี มาเกิดเป็น พระนางเขมา

๒ . พระนางสมณคุตตา มาเกิดเป็น พระนางอุบลวรรณา

๓ . พระนางภิกขุณี มาเกิดเป็น นางปฏาจารา

๔ . พระนางภิกขุทาสิกา มาเกิดเป็น นางโคตมี

๕ . พระนางธัมมา มาเกิดเป็น นางธัมมทินนา

๖ . พระนางสุธัมมา มาเกิดเป็น พระนางมหามายา

๗ . พระนางสังฆทาสี มาเกิดเป็น นางวิสาขามหาอุบาสิกา

 

พระราชธิดาทั้ง ๗ พระองค์ มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ตระหนักถึงโทษภัยในการครองเรือน จึงปวารณาของประพฤติพรหมจรรย์ บำเพ็ญบุญกุศลไปตลอดชีวิต พระนางสังฆทาสีได้ตั้งใจสร้างบุญกุศลร่วมกับพี่หญิง และตั้งความปรารถนาต่อหน้าพระบรมศาสดาว่า "ในอนาคตกาล ขอให้หม่อมฉันได้พร ๘ ประการ ในสำนักของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระองค์ ขอตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา และเป็นผู้เลิศฝ่ายหญิงผู้เป็นอุบาสิกาทั้งหลาย ผู้ถวายปัจจัย ๔" จำเดิมแต่กาลนั้น ได้ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิอยู่ตลอด ๑ พุทธันดร ครั้นมาถึงสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน นางได้มาเกิดเป็นธิดาของนางสุมนาเทวี ผู้เป็นภรรยาหลวงของท่านธนัญชัยเศรษฐี ซึ่งเป็นบุตรของท่านเมณฑกเศรษฐี และได้กระทำบุญไว้เป็นอันมากในพระพุทธศาสนา

 

เมื่อพระบรมศาสดาทรงนำอดีตชาติของนางวิสาขามาตรัสเล่าแล้ว ได้ให้โอวาทว่า

 

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายมาลาการ ( ช่างดอกไม้ ) ผู้ฉลาดกระทำกองดอกไม้ต่างๆ ให้เป็นกองใหญ่ แล้วกระทำพวงดอกไม้มีประการต่างๆได้ฉันใด จิตของนางวิสาขาย่อมน้อมไปเพื่อกระทำกุศลมีประการต่างๆ ฉันนั้น เหมือนกัน"

 

ในเวลาที่พระพุทธองค์จบพระธรรมเทศนา บุคคลเป็นจำนวนมากได้เป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้น พระธรรมเทศนาได้เป็นประโยชน์แก่มหาชนดังนี้