เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - ราชคฤห์ ตอนที่ ๕
3 มี.ค. 2559

 

การเดินทางมาถึงกรุงราชคฤห์ เราต้องรู้จักพระอรหันต์เถระเจ้าหลายรูปทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวของพระมหากัสสป พุทธสาวกคนสำคัญ ทั้งเป็นที่เคารพอย่างยิ่งของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ขอยกเรื่องราวของพระเถระเจ้าดังนี้

 

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดา ประทับที่เวฬุวันวิหาร ทรงทราบด้วยพระญานว่า ปิปผลิมาณพ บุตรของกบิลพราหมณ์ ในหมู่บ้านมหาติตถะ แคว้นมคธ และนางภัททกาปิลานี ผู้ภรรยา ละทิ้งสมบัติ บรรพชา การแยกกันแสวงหาธรรมของทั้งสองทำให้เกิดแผ่นดินไหว พระพุทธองค์ทรงเห็นเหตุอันควรสงเคราะห์ จึงทรงเสด็จออกจากคันธกุฏีไปยังต้นไทรระหว่างกรุงราชคฤห์กับนาลันทา เพื่อสงเคราะห์ปิปผลิมาณพ ซึ่งมีนามตระกูลว่า กัสสปะ

 

ครั้งนั้น ปิปผลิมาณพ เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกล รัศมีกายสว่างไสว แน่ใจว่าท่านผู้นี้จะเป็นพระศาสดา จึงเข้าไปนอบน้อมถวายบังคม กราบทูลขอเป็นสาวก พระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบท และประทานโอวาทว่า

 

๑. เราจะมีความละอายและเกรงใจในภิกษุ ทั้งที่เป็นผู้เฒ่า และ ผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า

๒. เราจะฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล จักฟังธรรมด้วยความตั้งใจ และพิจารณาเนื้อความตามนั้น

๓. เราจักไม่ละสติเป็นไปในกายของเรา จักพิจารณากายคตาสติ

 

พระองค์ทรงเห็นบารมีภายในที่แก่กล้าของพระมหากัสสปะ จึงทรงประทานโอวาทละทิฐิ ในสองข้อแรก และ ประทานพระธรรมในข้อที่สาม และต่อมาก็เป็นคุณสมบัติของผู้ฝึกสมาธิ และแนวทางปฏิบัติสายตรง ซึ่งเรียกว่าทางสายเอกนั่นเอง

 

การอุปสมบทวิธีนี้ ชื่อว่า โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา หลังจากนั้น ก็เสด็จออกจากต้นไทรโดยมีพระมหากัสสปตามเสด็จ ระหว่างทาง พระพุทธองค์ทรงแวะประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง พระมหากัสสปะจึงลาดสังฆาฏิผ้าเนื้อดีของตนถวาย พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญานว่า บารมีที่พระมหากัสสปะสั่งสมมานั้น เพียงพอที่จะครองผ้าที่พระองค์ทรงใช้สอยอยู่ จึงตรัสว่า สังฆาฏิของเธอนี้เนื้อนุ่มดี กัสสปะภิกษุจึงน้อมถวายผ้านั้นแด่พระศาสดา และขอประทานจีวรของพระองค์แทน

 

พระพุทธองค์ตรัสว่า

 

" ธรรมดาจีวรเก่าเพราะการใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย บุคคลผู้สามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ จึงสมควรรับ ด้วยว่า ในวันที่เราซักผ้าบังสุกุลผืนนี้ มหาปฐพีได้ไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน"

 

จากนั้น จึงทรงแลกเปลี่ยนจีวรกับกัสสปภิกษุ ในขณะนั้น แผ่นดินไหวอีก ด้วยว่าจีวรที่พระองค์ห่มแล้ว ไม่เคยประทานให้แก่สาวกรูปใดมาก่อน

 

ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงนับถือพระมหากัสสป เพราะถือว่าเป็นการสืบทอดเจตนารมย์ ทั้งในเวลาต่อมาพระมหากัสสปะทูลขอพรให้ปรับเปลี่ยนพระวินัยได้ตามประเพณี ถิ่นประเทศที่แตกต่าง และทรงมีพุทธานุญาติ อันเป็นต้นกำเนิดของฝ่านมหายานในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราเห็นรูปของพระพุทธเจ้าที่เอ๋อเหมยซาน จึงได้เห็นรูปของพระอานนท์และพระมหากัสสปะด้วย

 

ครั้งนั้น กัสสปะภิกษุ ไม่ได้ทะนงตนว่าได้รับจีวรของพระพุทธเจ้ามาครอง แต่กลับคิดว่า เราควรกระทำสิ่งใดให้ดียิ่งขึ้น ดังพุทธพจน์ที่ว่า "รับบาตร ประพฤติธรรม"  ดังนั้นพระเถระจึงสมาทานธุดงค์ ๑๓ และถือมั่น ๓ ประการ ตลอดชีวิต คือ ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตรเป็นวัตร และถือการอยู่ป่าเป็นวัตร แม้จะอยู่ใกล้ที่ประทับก็ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ประจำ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า ท่านมหากัสสปะเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์

 

ส่วนนางภัททกาปิลานี หลังจากแยกทางกับสามีแล้ว เดินทางไปพำนักยังสำนักของปริพาชก ชื่อ ติตถยาราม ใกล้กับเชตวันมหาวิหารเป็นเวลา ๕ ปี เมื่อได้บวชในสำนักภิกษุณี ไม่นานก็บรรลุอรหัตผล ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งปวง ผู้มีบุพเพนิวาสานุสติญาณ

 

เรื่องราวของพระมหากัสสปะ ยังมีสาระสำคัญในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทองค์ที่สำคัญยิ่ง สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะอาพาธหนัก พำนักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิ ครั้นนั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่พักกลางวัน เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะ ตรัสถามว่า

 

"กัสสปะ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาสร่างลงไม่กำเริบหรือ " พระมหากัสปะยอมรับในทุกขเวทนานั้น พระพุทธองค์จึงแสดง โพชฌงค์ ๗ ได้แก่

 

สติ คือ การกำหนดรู้

ธัมมะวิจัย คือ รู้จักใคร่ครวญสภาวะธรรม ทั้งที่สาธยาย และ ที่อยู่รอบตัว ทั้งอารมณ์ที่เกิดจากสัมผัสทั้ง ๕

วิริยะ คือ หมั่นเพียร ทั้งการกำหนดรู้ ใคร่ครวญอย่างสม่ำเสมอ

ปิติ ถ้ามีความเพียรเกิดขึ้น ตัวรู้อยู่ในใจ ความปิติก็เกิดอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน

ปัสสิทธิ คือ ความสงบ จะเกิดขึ้นในจิตโดยลำดับ

สมาธิ จิตจะตั้งมั่น แก่กล้า ใช้งานได้ สำเร็จกิจทุกอย่างที่ตั้งใจ

อุเบกขา นำมาซึ่งจิตที่สามารถวางเฉยได้ไม่วอกแวกหวั่นไหว อยู่ในสถานะเป็นกลาง ว่างจากโลกธรรมทั้ง ๘

 

อันเรากล่าวไว้ชอบแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน"

 

หากเราได้มาถึงสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในสาระสำคัญที่จะทำให้สิ้นอาสวะ สู่พระนิพพานเช่นนี้ เหล่าศิษย์ทั้งหลาย พึงปฏิบัติด้วยความเข้าใจด้วยเถิด การเดินทางมาครั้งนี้จะไม่สูญเปล่าดังที่ทุกท่านตั้งใจมาเพื่อธรรมไม่ใช่ ท่องเที่ยว

 

ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปะหายจากอาพาธแล้ว ได้เข้าไปบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์ ท้าวสักกะจึงให้นางอัปสร ๕๐๐ ไปถวายอาหารบิณฑบาตรแก่พระเถระเจ้ามหากัสสปะ ด้วยดำริว่า หากพระเถระรับบิณฑบาตรจากมือของนางอัปสรแม้เพียงคนเดียว สิ่งนั้นจักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกนางตลอดกาล เหล่านางอัปสรจึงเตรียมบิณฑบาตร ๕๐๐ ที่ใส่ภาชนะทอง ไปยืนรออยู่ระหว่างทางที่พระเถระจะผ่านมา แต่เมื่อพระเถระมาถึง ก็กล่าวว่า "พวกเธอได้ทำบุญไว้แล้ว มีโภคะมากแล้ว จงหลีกไปเถิด เราจักสงเคราะห์แก่คนเข็ญใจ "

 

พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญในปฏิปทาอันมั่นคง ในความเป็นผู้ปรารถนาน้อยของพระมหากัสสปะ ดังที่กล่าวมาแล้ว