เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - พุทธคยา ตอนที่ ๓
28 ก.พ. 2559

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, คยาสีสะ

 

ที่ตำบลคยาสีสะ มีเรื่องราวที่น่ารู้เพิ่มเติมอีก เราคงจำได้ว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรมานชฎิลพี่น้อง ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ จนกระทั่งชฏิลสามพี่น้องกลับใจขออุปสมบท หลังจากที่ได้ฟัง อาทิตตปริยายสูตร ได้บรรลุอรหัตถผล พร้อมด้วยบริวาร ๑๐๐๐ คน และสถานที่นี้ เชื่อว่าเป็นที่พำนักของคยากัสสปะ

 

เป็นอันว่า ถ้าคณะของเรามาถึงที่นี้ ก็จะได้ระลึกถึงว่า ณ ที่แห่งนี้ มีชฏิล นามว่า คยากัสสปะ พร้อมบริวาร ๒๐๐ คน (เราไปเพียง ๘๐ คน คงได้รับกระแสอย่างทั่วถึง) ได้ฟังธรรมจนบรรลุอรหัตถผล ดังนั้นเราควรนำบทสวด อาทิตตปริยายสูตร ไปด้วย เพื่อสวดก่อนนอน และ ตอนทำวัตรเช้า

 

ขออธิบาย คำว่า ชฏิล เพิ่มเติมเล็กน้อยว่า เป็นนักบวชประเภทหนึ่งที่เกล้ามวยสูง ผู้ที่เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการล้างบาปให้คนด้วยน้ำกับไฟ ซึ่งโดยปรกติถือว่า แม่น้ำเนรัญชราเป็นแม่น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ชฏิลจึงมีกิจวัตร ๒ ประการ คือ อาบน้ำ กับ บูชาไฟ ทุกวัน

 

เขตของชฏิลทั้งสามพี่น้องนี้ อยู่ที่ อุรุเวลาเสนานิคมนี้เอง

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ

 

กลับมาที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อเราจะเข้าไปในสถานที่ซึ่งถือว่าเป็นเขตพุทธสถานนี้ ต้องถอดรองเท้า ตั้งแต่ทางเข้าเดินเข้าไปเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร และภายในรอบๆบริเวณ ก็ต้องถอดเช่นกัน เป็นอันว่าสถานที่กว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยฝุ่น เราต้องเดินเท้าเปล่า และถ้าคิดจะบ่น ก็น้อมระลึกถึงพระพุทธองค์ที่ทรงดำเนินอย่างนี้เช่นกัน เราจะสบายใจและปิติ เพราะได้เดินตามรอยพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ตอนนี้เข้าวัดในประเทศไทยหัดถอดรองเท้าเดินก่อน ถึงเป็นคนเดียวก็ช่างเถิด เพราะที่อินเดีย กาลเวลาที่ผ่านไปสองพันกว่าปีฝุ่นก็เยอะกว่าเดิมค่ะ ดังนั้นอากาศแม้จะหนาว ใส่ถุงเท้าได้ แต่ก็ต้องถอดเดิน และอย่าริใส่บูธคู่สวยเป็นอันขาด ไม่ได้โชว์แน่นอน จะอยู่แต่ในถุงเก็บรองเท้า หรือโชว์แต่บนรถ ควรเตรียมเป็นรองเท้าแตะหรือคัทชูที่ถอดง่าย จะสะดวกสุด และถ้าหายก็พร้อมทิ้งด้วยค่ะ

 

เราจะได้ใช้เวลากับสถานที่ต่างๆในเขตพุทธคยาอย่างจุใจ ควรสำรวมและนอบน้อม ที่เราได้มีโอกาสมายังสถานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ สถานที่ที่พระองค์ทรงสิ้นสุดในการบำเพ็ญเพียรเป็นพระโพธิสัตว์มาเป็นระยะเวลายาวนานเป็นแสนกัป

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ศรีมหาโพธิ์

 

 

ผู้ปรารถนาโพธิญาน มีมากมาย แต่ที่ถึงฝั่ง ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามีน้อย เราได้มีโอกาสเดินทางมา ถือว่ามีวาสนาในทางธรรม เพราะการเป็นพระโพธิสัตว์ มีความยากลำบากหนักหนากว่าผู้อื่น มีปัญญา มีความเพียร มีตัวรู้ แต่ไม่อาจบรรลุมรรคผล เพราะต้องเรียนรู้และเข้าถึงกรรม เข้าถึงอารมณ์ เข้าถึงบุญ เข้าถึงบาป กระทั่งถึงสวรรค์ทุกชั้น และรู้จักนรกด้วย และสามารถเผลอกระทำผิดได้เท่ากับคนอื่นเพื่อเรียนรู้ผิด จะได้สอนให้ถูก พระพุทธองค์ทรงผ่านความเป็นพระโพธิสัตว์เป็นเวลาที่ยาวนาน เมื่อสำเร็จโพธิญาน ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่ที่เราควรอยู่ในโพชฌงค์ องค์ประกอบของการตรัสรู้

 

คือ หนึ่งนั้น มีสติ กำหนดรู้ สองมีธัมมะวิจัย ใคร่ครวญพินิจพิจารณา สาม ประกอบด้วยความเพียรพยายาม ที่จะมีสติกำหนดรู้ในธรรม หรือสภาวะที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา สี่ มีปัสสิทธิ ความสงบ เมื่อรู้แล้วไม่ตื่นเต้นมากเกินไป มีจิตที่สงบนิ่ง ห้า เกิด ปิติ ยินดีในความรู้แจ้งและสงบนั้น หก จิตเป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่ในความสงบและปิตินั้น และก้าวหน้าไปจนถึง อุเบกขา เป็นที่สุด รวม เจ็ดประการ

 

ถ้าเราต่างทำจิตใคร่ครวญอย่างนี้ ในตอนเช้าตรู่ที่เราจะไปสวดมนต์ทำสมาธิร่วมกัน ก็จะเกิดผลที่ทุกคนจะรู้ได้ด้วยตนเอง

 

เมื่อเรามาที่พุทธคยา ที่เราจะพลาดไม่ได้เลย คือ ไปที่วัดไทยพุทธคยา เพื่อถวายสังฆทาน ความจริงตามโปรแกรม เราจะได้ถวายกันที่พระศรีมหาโพธิ์เลย และจะได้ทำวัตรเช้าด้วย หวังว่าเราคงทนความหนาวเหน็บเอาบุญกันได้สำเร็จ

 

และที่นี้ข้าพเจ้าได้คิดเลี้ยงเด็กอินเดีย เสมือนเปิดโรงทานให้เด็กๆ ๓๐๐๐ คน ใครจะร่วมก็แสดงความจำนงได้ ประมาณหมื่นห้าเท่านั้น เด็กๆก็อิ่มทอง อย่าเอามาร่วมมาก เดี๋ยวข้าพเจ้าผู้เป็นเจ้าของงานจะอดร่วมบุญที่ตัวเองตั้งปรารถนาไว้

 

เมื่อเราทำบุญทำทานแล้ว ข้าพเจ้าก็อยากทำสมาธิด้วย อาจเป็นที่พุทธคยาตอนดึก หรือเช้าที่วัด ก็ต้องดูสภาพดินฟ้าอากาศและสถานที่ประกอบกัน เพราะทุกท่านจะเห็นว่า ผู้ท่องแดนพุทธภูมิมีมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากธิเบต มาเป็นอันดับหนึ่ง พี่ไทยมาเป็นอันดับสอง จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ตามโดยลำดับ

 

เราควรปิติในการเดินทั่วเขตแดนพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้ เดินด้วยความเคารพ และน้อมระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในสมัยพุทธกาล เสมือนหนึ่งสร้างนิมิตร ณ สถานที่ที่พระพุทธองค์เคยประทับและบรรลุโพธิญาน เราเข้าถึงเท่าไร ความปิติก็เกิดขึ้นมากเท่านั้น เมื่อปิติเกิด ก็สามารถทำสมาธิได้ดี อุเบกขาญานก็เกิดขึ้นโดยง่าย

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, บ้านนางสุชาดา

 

สถานที่ที่เราไม่พลาดอย่างแน่นอน คือ บ้านของนางสุชาดา ซึ่งปัจจุบันเหลือเป็นเพียงเนินดิน แวดล้อมด้วยหมู่บ้านเล็ก ต้องมีสายตามองทะลุไปถึงอดีตกาลเมื่อสองพันปี สถานที่นี่เป็นเขตคฤหบดี มีบ้านส่วยล้อมรอบ และไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ถ้าจะให้ดี นำเข็มทิศไปด้วย จะได้ไม่ชี้ไปคนละทาง) จะเห็นต้น อชปาลนิโครธ ที่นางถวายข้าวมธุปายาสกับพระบรมศาสดา ซึ่งเป็นอาหารที่มีอานิสงค์มากในกาลก่อนตรัสรู้

 

ประวัติของนางสุชาดา เป็นธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น ได้เคยตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้สามีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย เมื่อนางได้สมใจนึก จึงคิดหุงข้าวมธุปายาสอันปราณีตไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่เคยตั้งจิตอธิฐานขอไว้

 

ดังนั้น ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ จึงได้ปรุงข้าวมธุปายาสแล้วเสร็จเวลาเที่ยงคืน พอเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ นางได้เห็นพระพุทธองค์อยู่ ณ ต้นไทร ผินพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เปล่งรัศมีกายงดงามยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา จึงน้อมถวายข้าวปายาสนั้น

 

เมื่อเราได้มีโอกาสบำรุงเสนาสนะ และถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ก็ขอให้น้อมระลึกถึงความศรัทธาและบุญของนางสุชาดาด้วย เราก็จะได้บุญเสมือนหนึ่งได้ถวายกับพระพุทธองค์

 

ที่นี่ เราอย่าโปรยสตางค์ก่อนขึ้นรถให้กับเด็กๆที่มาล้อมหน้าล้อมหลัง หาจังหวะให้ดี มิฉะนั้นจะขึ้นรถไม่ได้ คิดทำทานควรบอกไกด์ หรือให้คนขับของเราเป็นคนให้ จะไม่มีใครมารุมเรา ไปรุมคนขับหรือไกด์แทน เป็นการให้ทานแบบมีปัญญา

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, เนรัญชรา

 

ในเขตพุทธคยา ที่น่าสังเกตคือ แม่น้ำที่แห้งไปทั้งสาย สำหรับข้าพเจ้าแล้ว นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับหนึ่ง เพราะอย่างกำแพงเมืองจีน ก็ด้วยน้ำมือมนุษย์ เป็นบารมีของฮ่องเต้ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่โตราวภูเขา เท่านั้น มนุษย์ถ้า สามารถ ก็สร้างได้ แต่นี่ธรรมชาติ ที่ยังคงให้เห็นร่องรอยของแม่น้ำทั้งสาย ที่มีแต่ทรายแต่กลับไม่มีน้ำซักหยด เพียงได้รับคำบอกเล่าว่า น้ำจะมาในหน้าน้ำ เหมือนมีเทวดาแสดงปาฏิหาริย์ให้มนุษย์เห็นอย่างชัดเจนว่า น้ำจะมาในเวลาที่สมควร เดี๋ยวร่องรอยของแม่น้ำที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าลอยถาดเสี่ยงทายเมื่อสองพันกว่าปีจะหายไป เทวดามีหน้าที่รักษาร่วมกับพญานาค  ฉะนั้น

 

สถานที่นี้จึงต้องเป็นสถานที่จริง ที่มีร่องรอยของอดีต เป็นสถานที่ที่มีหนึ่งมหาบุรุษได้ดำเนินผ่านไปผ่านมา คือ พระบรมศาสดาของเรา สถานที่ตรงนี้ ไกลออกไป เป็นรูปเขาหัวช้างที่เรียกว่า ดงคสิริ สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ก่อนที่พระอินทร์จะลงมาดีดพิณสามสาย เป็นปริศนาของการเดินสายกลาง

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ดงคสิริ

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ดงคสิริ, ทุกรกิริยา

 

ถามว่า ทำไมพระอินทร์รู้มากกว่าพระโพธิสัตว์ล่ะ ถึงบอกทางสายกลางได้ แถมมาสอนพระโพธิสัตว์อีก อยากตอบตามข้อสันนิฐานเฉพาะตนว่า พระอินทร์ ต้องมีจริยาของความเป็นพระโพธิสัตว์เช่นกัน และบารมียังไม่เพียงพอที่จะตรัสรู้ธรรมได้เอง แต่มองเช่นผู้ปฏิบัติมองอยู่ไกลๆว่า การทรมานตามลัทธิความเชื่อที่มีอยู่เดิม ผลก็จะออกมาแบบเดิม เพราะมีผู้บำเพ็ญเพียรทรมานร่างกายมานับพันปีแล้ว ยังไม่มีใครหนีพ้นความเป็นจริงในวัฏฏะไปได้

 

อีกประการหนึ่ง พระโพธิสัตว์ ย่อมรู้ดี แต่ต้องทรมานให้เห็นจนที่สุด เพื่อวันหนึ่งเมื่อตรัสรู้แล้ว จะได้สอนพราหมณ์ หรือ ฤาษี ที่ทรมานกายอย่างหนักมาแล้วได้ เช่น จะเห็นได้ในกาลต่อมาว่า ทรงโปรด ปัจจวัคคีย์ และชฏิล ซึ่งต่างก็เป็นนักบวชที่ทรมานร่างกายบำเพ็ญตบะอย่างหนักมาแล้วทั้งสิ้น การที่พระอินทร์มาปรากฏ เป็นการยืนยันและปรากฏในพุทธประวัติ ให้ละเว้นการปฏิบัติด้วยการทรมานกาย ดังเช่นปรากฏใน พระสูตร "ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร" ซึ่งเป็นปฐมเทศนาที่จะกล่าวถึงต่อไป

 

ป่วยการที่เราจะไปตามหาความจริงว่า ตปุสะ ภัลลิกะ มอบหญ้าตรงไหน ถวายข้าวสัตตุที่ใดกันแน่ เพราะเขตพุทธคยาทั้งหมดนี้ เป็นสถานที่สำคัญที่มีเหตุการณ์หลายอย่างที่สำคัญ

 

เรียงลำดับ นับตั้งแต่ทรมานพระวรกาย นั่งที่ลาดปูหญ้าที่สองวานิชถวาย เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ลอยถาดเสี่ยงทาย เปล่งวาจาอธิฐานจิตเอาโพธิญานเป็นที่ตั้ง และบารมีนั้นเต็มเปี่ยมจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ ได้เสวยวิมุติสุขตลอด ๗ สัปดาห์ นับแต่ใคร่ครวญพระธรรม เดินจงกรม เปล่งฉัพพรรณรังสี แสดงยมกปาฏิหาริย์ รับอาราธนาจากท้าวมหาพรหมโปรดสัตว์ แบ่งชนเป็นดอกบัวสี่เหล่า

 

ทั้งหมดนี้ พุทธศาสนิกชน อย่าได้ตกรายละเอียด ที่จะอ่าน พิเคราะห์ ใคร่ครวญ ในแนวอิทธิบาทสี่ ถึงพร้อมด้วย โพฌชงค์ทั้งเจ็ด การมาถึงที่นี้ก็มีผลก้าวหน้าทางปัญญาแล้ว

 

ก่อนที่เราออกจากพุทธคยา เราก็ต้องน้อมรำลึกอีกครั้ง ถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก อันเป็นวันสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเรามาถึงสถานที่ที่พระพุทธองค์ เสมือนตรัสสั่งไว้สำหรับพุทธบริษัทสี่ หรือเหล่าพุทธบุตรทั้งหลาย (คือ ผู้เข้าถึงโคตรภูญานของพระอริยะเจ้า นับตั้งแต่ พระเสขะบุคคล คือ พระโสดาบัน เป็นต้นไป) ว่าให้มายังสถานที่นี้ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่เหล่าพุทธบุตรทั้งหลาย จะได้รับกุศลอันยิ่งใหญ่ของการมาที่จุดที่สิ้นสุดของการบำเพ็ญบารมีของมหาสัตว์ สู่แดนพุทธภูมิ อย่างแท้จริง

 

และนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หลังจากที่ทรงได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาน พระองค์ก็เข้าสู่ อาณาจักรพุทธวงศ์ ปฏิบัติพุทธกิจ ๔๕ พรรษา ซึ่งจะประกอบด้วยวิถีดำเนินของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายที่เคยมีมา พระองค์ได้กำหนดพุทธจริยาว่า เวลาเช้า เสด็จบิณฑบาต เวลาเย็น ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน เวลาย่ำค่ำ ประทานโอวาทแก่ภิกษุ เวลาเที่ยงคืน ทรงพยากรณ์ แก้ปัญหาแก่เทวดา และเวลาย่ำรุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกทั้งที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรม รวมเป็นการบำเพ็ญกิจ ๕ ประการ

 

ความจริง ในพรรษาที่ ๑ หลังจากที่ทรงตรัสรู้ ก็ทรงเสด็จดำเนินไปโปรดปัจจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่พูดถึงรายละเอียด เพราะจะขอเรียงลำดับตามเส้นทางที่เราจะเดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งเราจะไปที่แคว้นมคธ เมืองราชคฤห์ก่อน

 

การเดินทางของเรา หากได้รับความลำบากเพียงไร ขอให้รำลึกรู้เสมอว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ ทรงดำเนินด้วยพระบาทเปลือย จากเจ้าชายผู้กำลังจะเป็นจักรพรรดิ์ สู่โพธิญาน สละหมดสิ้นซึ่งโลกียสมบัติ เสด็จดำเนินจาริก ด้วยพระบาทเปลือยสู่ พาราณสี และสู่ราชคฤห์ เมืองสำคัญ ตามปฏิญญาที่ทรงให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสารก่อนตรัสรู้

 

หลังจากที่ทรงโปรด ปัจจวัคคีย์ทั้ง ๕ ทั้ง ยสกุลบุตรและสหาย แล้ว ทรงเสด็จไป อุรุเวลาเสนานิคม โดยลำพัง ซึ่งระหว่างทางได้ทรงโปรด สหายภัททวัคคีย์ ๓๐ คน ณ ไร่ฝ้าย กัปปาสิกวนาสณฑ์ ซึ่งอยู่ใกล้ตำบลอุรุเวลา ซึ่งภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ ได้บรรลุโสดาบันบ้าง สกิทาคามีบ้าง และบางคนก็บรรลุอนาคามีผล แต่ยังไม่มีใครได้อรหันต์ขีนาสพ ซึ่งทั้งหมดได้รับการบรรพชาอุปสมบท ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา จาก พระพุทธองค์

 

เมื่อเสด็จถึงอุรุเวลาเสนานิคม ทรงโปรดชฎิลสามพี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ และคยากัสปะ มีบริวาร ๒๐๐ รวมทั้งหมด ๑๐๐๐ คน ให้บรรลุโสดาปัตติผลทั้งหมด ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา และเสด็จต่อไปยังตำบลคยาสีสะ ทรงแสดง "อาทิตตปริยายสูตร" แก่ภิกษุชฏิล และทั้งหมดได้บรรลุอรหัตผล

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ดงคสิริ, ชฎิล

 

จะเห็นได้ว่า ที่คยาสีสะแห่งนี้มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อพุทธศาสนาของเราอย่างไร และสมควรแล้ว ที่สายการบินพาเรามาที่นี้เป็นแห่งแรก

 

พวกเราคงอยากทราบว่า ใจความใน "อาทิตตปริยายสูตร " มีข้อความอย่างไรที่ทำให้ชฏิลทั้งหมดได้บรรลุอรหัตผล เมื่อเราสวดบทนี้ จะได้ทำสมาธิและเข้าใจในเนื้อความ เผื่อว่าจะได้รับกระแสที่ละเอียดอย่างยิ่งของพระอรหันต์เป็นจำนวนมากที่ ประชุมกันในบริเวณนี้ เมื่อสองพันกว่าปีที่ผ่านมา ให้เกิดปัญญามองเห็นธรรม อย่างที่เหล่าชฏิลได้เห็นและเข้าถึงมาแล้ว

 

"อาทิตตปริยายสูตร" ในพระปริตรจะเป็นบทสวดประจำวันอาทิตย์ เราคงจะพอเข้าใจความหมาย ตามความหมายของดาวดวงนี้ได้ว่าเป็นของร้อน

 

ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ซึ่งสิ่งทั้งปวงนั้นแยกแยะออกได้ดังนี้

 

อธิบายตอนที่หนึ่ง ถึง การสัมผัสขันธ์ห้าด้วยการเห็นด้วยตา คือ เห็นรูป ที่เป็นตัวเป็นตน ให้ความรู้สึก คือ วิญญาน ให้ความปรุงแต่งฟุ้งไป คือ สังขาร  เวทนา ให้ความรู้สึกทรมานในอารมณ์ด้วยการเห็น และท้ายสุด จดจำคือ สัญญา ด้วยการเห็น

 

เช่นเดียวกัน การสัมผัสขันธ์ห้า ด้วยกลิ่น ทางจมูก  ด้วยรส ทางลิ้น  ด้วยสัมผัส ทางกาย  สั่งการให้เกิดการกระทำด้วย อารมณ์ ทางใจ

 

อธิบายตอนสองว่า การรับรู้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส และเข้าไปถึงใจ ทั้งหมดนี้ ก่อให้เกิดความร้อนด้วย ไฟ คือ ราคะ ความติด ความยินดี ความกำหนัด

 

ร้อนเพราะไฟ คือ โทสะ ความโกรธ แค้นเคือง ผูกโกรธ

 

ร้อนเพราะ ไฟ คือ โมหะ ความหลง

 

ร้อนเพราะ ความรู้สึก แก่ ร้อนเพราะกลัวตาย ร้อนเพราะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความร่ำไรรำพัน หรือความระทมใจ

 

ร้อนเพราะทุกข์ ความเจ็บไข้ ทุกข์กาย โทมนัส ความคับแค้นใจ

 

อธิบายตอนที่สามว่า เมื่อผู้ประเสริฐได้ฟังและกำหนดรู้ตาม ก็ย่อมหน่ายในสิ่งทั้งปวงนั้น ก็จะสิ้นกำหนัด เกิดวิมุติ คือหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น ชาติก็สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบกิจแล้ว กิจที่พึงกระทำได้ทำแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำอีก

 

โดยเหตุที่ชฏิลทั้งหมด มีจริตในการบูชาไฟอยู่แล้ว จึงเกิดความเข้าใจโดยง่าย หากเรามีจริตของความใจร้อนอยู่แล้วก็น่าจะเข้าข่ายพิจารณาในพระสูตรนี้ ก็จะเกิดดวงตาเห็นธรรมของพระพุทธองค์โดยง่าย ซึ่งความละเอียดจะปรากฏได้ในบทสวดพระสูตรนี้ อย่าลืมนำไปด้วยนะคะ การสวดมนต์บทนี้ในสถานที่นี้ ตำบลนี้ จะมีผลมากมาย ไม่เชื่อก็เตรียมตัวเดินทางไปด้วยกัน

 

 

จากนี้เราคงพร้อมที่จะเข้า แคว้นมคธ กรุงราชคฤห์แล้วนะคะ