บทความพิเศษ

 

พิชัยสงครามกับสามก๊ก ตอนที่ ๑๑/๒ - กลอุบาย "เสือกลืนหมี"
4 ม.ค. 2559

 

 

เมื่อโจโฉทราบความแล้ว ก็ต้องปรึกษาซุนฮกว่า เมื่อการเป็นดังนี้ จะทำอย่างไรต่อไป  ซุนฮกจึงว่า
“ข้าพเจ้าจะขอคิดกลอุบายอีกข้อหนึ่ง เรียกว่า “เสือกลืนหมี”  โจโฉถามว่า “เสือกลืนหมีนั้นทำประการใด”


ซุนฮก จึงเล่าแจ้งแถลงไขว่า

 

“อันน้ำใจของลิโป้นั้นมิซื่อต่อผู้ใด  ให้ท่านแต่งคนไปบอกอ้วนสุด เจ้าเมืองลำหยงว่า  เล่าปี่มีหนังสือถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้ ขอไปตีเมืองลำหยง  ถ้าอ้วนสุดได้ยินดังนี้ ก็จะมีความโกรธ เห็นจะยกทหารชิงมารบกับเมืองเล่าปี่ก่อน เมื่อทั้งสองฝ่ายรบกัน ถ้าผู้ใดเพลี่ยงพล้ำ ลิโป้ก็จะซ้ำเป็นมั่นคง แล้วท่านค่อยคิดการต่อไป”

 

โจโฉ เห็นชอบกับแผนนี้ทันที  รีบดำเนินการเป็นสองทาง คือ ทางหนึ่ง ให้คนถือกระแสรับสั่งไปยังเมืองชีจิ๋ว ให้เล่าปี่ ไปตีเมืองลำหยงของอ้วนสุด อ้างว่าไม่อ่อนน้อมต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้  ทางหนึ่งก็ให้คนไปแจ้งทางอ้วนสุดที่เมืองลำหยง 


อ้วนสุดพอรู้เหตุ ก็โกรธ  จึงว่า “เล่าปี่นั้น ชาติอ้ายทอเสื่อขาย บัดนี้ได้เป็นเจ้าเมืองแล้ว คิดการกำเริบจะล่วงมาตีเอาเมืองเรา เราจะนิ่งให้มันมาเหยียบถึงแดนเราใย”  จึงให้กิเหลงทหารเอกเป็นแม่ทัพคุมทหารสิบหมื่น ยกไปตีเมืองชีจิ๋ว ตามแผนของซุนฮกทุกประการ

 

ในสามก๊ก เรื่องที่น่ากลัวที่สุดเห็นจะเป็นประวัติดั้งเดิม ตั้งแต่ “ไอ้ลูกสามพ่อ” จนถึง “ ชาติอ้ายทอเสื่อ” แล้วก็มาถึง “ท่านนี้หรือชื่อล๊กเจ็ก เมื่อน้อยลักส้มไปให้มารดา”  ซึ่งจะได้ยินกันอีกหลายครั้งในเรื่องการชักประวัติในภายภาคหน้า เห็นได้ว่า คนจีนต้องรู้ประวัติ เพื่อรู้แนวทางของการกระทำและวิธีคิดต่อไป


สำคัญนะคะ จะรู้จักใครต้องดูแนวทางของเขาในอดีตด้วย อย่างลิโป้ นี่รู้กันทั่วว่า นิสัยมักทรยศเนรคุณ

 

เล่าปี่นั้น ความจริงก็รู้ทัน โจโฉ อยู่ แต่ว่าเป็นกระแสรับสั่ง จึงต้องทำไปตามนั้น ซุนเขียนที่ปรึกษาบอกว่า ให้จัดแจงทหารซึ่งมีสติปัญญาไว้อยู่รักษาเมือง ซึ่งเล่าปี่ก็เห็นชอบด้วย


ใครที่คิดจะเป็นตัวเอกหรือตัวละครที่สำคัญในเรื่องสามก๊ก ต้องเป็นผู้มีสติปัญญา  ใครอ่านสามก๊กไม่เข้าใจ เขาก็อาจจะกล่าวหาว่าเรานั้น “หาสติปัญญมิได้”


กวนอู เข้าใจดี ถึงความมีสติปัญญาของตน จึงอาสาอยู่รักษาเมือง  เล่าปี่จึงว่า “เจ้าเป็นที่ปรึกษาเรา ซึ่งจะอยู่รักษาเมืองนั้นมิได้

 

เตียวหุย จึงอาสา เล่าปี่จึงว่า


“ตัวเจ้ามักเสพย์สุรา แล้วโบยตีทหาร ประการหนึ่งก็เป็นคนใจร้าย มิได้ฟังผู้ใดห้ามปราบ จะไว้ใจให้อยู่รักษาเมืองมิได้”


เตียวหุยจึงว่า “ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้าจะไม่เสพย์สุราเลย ถ้าจะทำการสิ่งใด จะปรึกษาหารือผู้มีสติปัญญาก่อนจึงจะทำ แม้นผู้ใดห้ามปรามจะฟังคำ”


บิต๊ก จึงว่า “เกรงอยู่แต่จะไม่เหมือนถ้อยคำท่าน”


เตียวหุย ก็โกรธ ตอบว่า “เราตั้งใจทำการด้วยเล่าปี่มาหลายปีแล้ว ท่านจะมาว่าเรานั้นมิควร” เล่าปี่จึงรีบห้าม แล้วบอกว่า


“เจ้าจะอยู่รักษาเมืองนั้นเราไม่ไว้ใจ แต่ได้ให้สัญญาแล้วจะอยู่ก็ตามเถิด แต่เอาตันเต๋งไว้เป็นที่ปรึกษาด้วย จะได้ตักเตือนห้ามปรามอย่าให้เสพย์สุรานัก ราชการบ้านเมืองจึงจะไม่เกิดเหตุการณ์”


เตียวหุย กับตันเต๋งก็รับคำเล่าปี่เป็นอันนี้ ซึ่งผู้อ่านสามก๊กทั้งหลายเป็นผู้มีสติปัญญา ก็เดาได้ว่า ต้องเกิดเรื่องแน่นอน

 

บุคคลที่หาสติปัญญามิได้ ในดวงชาตา ดาว ๕ และ ดาว ๔ จะไม่ถึงกัน  ดาว ๕ มักอยู่ในราศีธาตุลม แสดงเหตุถึงความคิด เอาความสบายใจของตัวเป็นหลัก ชอบตามใจตนเอง ยิ่งมีดาว ๘ มีกำลัง คือ เป็นมหาจักร เป็นอุจจ์ เป็นเกษตร มีกำลังมากกว่าดาว ๕ มักเดินทางผิด ทำอะไรขาดจังหวะ ขาดการอันควรและขาดกาลเทศะ


เมืองชีจิ๋ว ก็มีทำเลแปลก นำภัยมาสู่เจ้าเมืองเกือบทุกคน ตั้งแต่ โตเกี๋ยม เล่าปี่ ลิโป้ และท้ายสุด เตียวหุยนี่แหละ