เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

เซนกับพุทธศาสนา ตอนที่ 3
22 พ.ค. 2558

 

 

        เพราะฉะนั้น มหายานจึงเป็นลักษณะของพระที่พระมหากัสปะขอไว้ร่วมกับพระอานนท์และพระสูภูติ  ที่วัดจีน เราจะมองเห็นภาพของพระพุทธเจ้า คือพระอามิตภะ ณ แดนสุขาวดี  และภาพของพระพุทธเจ้าของเรา ให้ทุกคนระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันคือ พระศักกายมุนี  และเราจะเห็นพระพุทธเจ้าสามพระองค์ ซึ่งมีความหมายดังนี้

            พระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าสัมโพคะ คือ  คือภาคบนสวรรค์ก่อนลงมาบนโลกมนุษย์

            พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง คือ  นิรมานกาย คือ ภาคที่ลงมาบำเพ็ญเพียร

            พระพุทธเจ้าที่ประทับนั่งเรียงกันองค์ที่สาม คือ ธรรมกาย  คือภาคที่ได้สำเร็จธรรมตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

        ที่ชาวจีนเรียกง่ายๆว่า พระพุทธเจ้าสามองค์ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ความจริงมีความหมายดังที่กล่าวมา

 

 

ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, อาจารย์แอน, ajarnann, มหายาน

 

 

        ข้างๆจะเป็นพระอรหันต์สองรูป รูปที่มีหน้าที่มีอายุคือ พระมหากัสปะ  และอีกข้างคือพระอานนท์ ไม่ใช่พระโมคลานะกับพระสารีบุตร 

        ถ้าเกิดว่ามีพระศักกายมุนีตรงที่ด้านหน้า  ถ้าเราเดินไปคล้อยหลังก็จะเห็นพระพุทธเจ้าที่ฐานตรงกันข้ามกัน  ปกติพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ที่ต้นโพธิ์ด้านตะวันออก  ก็มีคำกล่าวว่าพระพุทธรูปหันไปทางไหนให้ถือทางนั้นเป็นตะวันออก  ดังนั้น พระอามิตภะจึงหันตรงกันข้ามกับพระศักกายะมุนีจึงเรียกพระพุทธเจ้าตะวันตก

        จากที่กล่าวมา พระพุทธศาสนาแยกเป็นหลายทาง แต่สุดท้ายแล้วก็มีจุดรวมจุดเดียวกัน  เซนก็คือธรรมชาติ  อย่างเต๋าก็คือวิถีที่จะไปถึงธรรมชาติ ซึ่งเหมือนกับเซนที่ไปสู่ความว่างเปล่าก็เป็นลัทธิหนึ่ง  แต่ศาสนาไม่เหมือนกัน เพราะว่าศาสนามีอุบายในการปฏิบัติตามจริตหรืออุปนิสัยของบุคคลที่มีความแตกต่างกัน

        ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่ลักษณะของการปฏิบัติในฌานต่างๆมีขั้นตอนอย่างชัดเจน  มีระเบียบปฏิบัติ  มีพระวินัย  มีพระธรรม  และมีพระไตรปิฏก  อันนั้นคือพระพุทธศาสนาหินยาน เพราะว่ามีกฎเกณฑ์ มีพระรัตนตรัย  มีการประกาศศาสนา  มีพระวินัยอย่างชัดเจน  มีเรื่องราวโดยลำดับ ไม่ได้แบ่งเป็นทางใดทางหนึ่งเพื่อที่ใดที่หนึ่ง เป็นการนำคนทั้งหมดเลย

        ทีนี้ ในการนำคนที่จะเข้าสู่ในดินแดนพระพุทธศาสนาก็เป็นมหายานอย่างที่บอก  แต่ว่าลัทธิต่างๆที่แตกออกไป คือเป็นอุบายให้คนเข้าง่ายที่สุดตามท้องถิ่น ซึ่งโดยมากจะเกี่ยวกับธรรมชาติ  และควรทำความเข้าใจง่ายๆว่าธรรมะคือธรรมชาติ

        ส่วนใหญ่ คนเรียนรู้เรื่องเซนจากนิทาน   ซึ่งจริงๆแล้ว เซนนั้นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพราะจบด้วยคำว่า “ว่าง”  จบด้วยคำว่า  “ไม่มีในมี”  คือ  มีสภาวะแต่ไม่มีตัวตน  และวิถีชีวิตของเซนจะออกมาในรูปของนิทานหรือปรัชญา จะไม่ต้องการคำอธิบายมากมาย  คือเซนจะให้ใช้ปัญญา คือนิ่งคิด คือต้องการให้คนนิ่งมากที่สุด และพูดน้อยที่สุด 

        ในส่วนตัว ข้าพเจ้าจะประทับใจนิทานของเซน คือรู้จักเซนจากนิทาน  นิทานเรื่องนี้ มีชายคนหนึ่งเข้าไปหาสังคปรินายก แล้วก็ขอไปเป็นศิษย์ ท่านบอกว่าเป็นได้แต่ต้องไม่พูด  คือ  เซนพูดน้อยมาก  ก็ตกลงเป็นศิษย์ จะไม่พูดก็ชงชา ในขณะที่ชงชาและรินชา จิตต้องเป็นสมาธิ  ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ  เขามีความรู้สึกว่าเขาได้เกิดใหม่  เปลี่ยนไปชาติแล้วชาติเล่า เป็นเรื่องราวต่างๆของชีวิตมนุษย์  เกิดมาแล้วทำงาน มีทุกข์ แต่ว่าเขาไม่เคยพูดอะไรเลยทุกชาติ  และในชาติสุดท้ายเขาถูกโจรปล้น เขาแต่งงาน เขาเป็นผู้หญิง แต่ว่าชาติที่เขารินชานั้นเป็นผู้ชาย  เสร็จแล้วผู้หญิงแต่งงานมีสามีและโจรปล้นบ้านก็ฆ่าสามีตายและทำร้ายเขา เขาก็ไม่ได้พูดอะไรสักคำ  แต่สุดท้ายโจรจะทำร้ายลูก เขาก็เปล่งเสียงร้องขึ้นมา  ภาพทุกอย่างก็หายไปหมดเลย อยู่ในภาพที่เขาชงชาอยู่ และ อาจารย์คนนั้นก็บอกว่าเขาเรียนไม่ได้ เพราะจิตเขายังผูกติดกับบางสิ่งบางอย่าง จึงเข้ามาบวชในศาสนาเซนไม่ได้  นั่นหมายความว่าการบวชเข้าไปในเซน มันต้องวางมาขั้นตอนหนึ่งแล้ว  ถ้าหากว่าชายคนนี้กลับไปคิดและกลับไปฝึกมาใหม่  ก็อาจจะได้รับการทดสอบแบบอื่น เพื่อที่ว่าจะไปก้าวสู่ความว่างอย่างแท้จริง 

        ที่ชอบเรื่องนี้ เพราะว่าตอนที่เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ มันเป็นการรินชาอยู่หรือเปล่า ชีวิตเราตอนนี้เป็นเรื่องสมมติ เหมือนคนชงชาหรือเปล่า

        มันเป็นการสอนที่ว่า ชีวิตไม่ใช่ชีวิต และที่เรายืนอยู่ทุกวันและทำอยู่ทุกวัน มันคือความว่างหรือเปล่า  คือตัวเราเป็นตัวเราไหม  หรือไม่ใช่ตัวเรา  เวลาเราฝัน เราไม่มีตัวตนในความฝัน  ในขณะที่เราดำเนินชีวิตอยู่  มันก็ไม่ได้มีตัวตน  จริงๆแล้วตรงไหนเรียกว่าตัวตน  เฉพาะหัวเราหรือเปล่าถึงเป็นเรา หรือว่าเฉพาะแขน หรือว่าเฉพาะขา ลองแยกส่วนออกมา ตรงไหนที่เป็นเรา มันก็เหมือนความฝัน เหมือนกับชายคนนี้ที่รินชา แล้วเห็นภาพเหมือนจริงทุกอย่างจนกระทั่งเขาร้องออกมา  คือ การไม่พูด หมายความว่าการวางเฉย เพราะว่านั่นคือมายา  แต่ว่าเขาทำใจให้คิดเป็นมายาไม่ได้เพราะนั่นคือวัตถุตัวตน 

        เซนนั้นสอนให้คิด  เราแค่อ่านออกมาประโยคเดียว แต่ว่าเราคิดออกมามากมาย คือมันใช้ความคิดหมดทุกอย่าง  เซน คือความเงียบ หรือเซ้นท์  เราจะแปลว่าอย่างนั้นก็ได้  เซนสอนให้เรารู้จักเริ่มตั้งแต่รินชา ว่าสิ่งที่คุณมาตอนนี้คือเป็นมายา  ไม่ได้เป็นวัตถุ ไม่ได้เป็นอะไรเลย  ก็เลยนึกถึงว่า ศาสนาพุทธของเรามีการฝึกกสิณ เช่น รัตนกสิณหรือกสิณที่เกิดจากการเพ่งพระพุทธรูป  หรือการเพ่งกสิณสีต่างๆ  และเราก็ลองฝึกเพ่งกสิณและเราก็เพ่งไม่ได้  ทั้งนี้เป็น เพราะว่าเราพยายามให้วัตถุที่เราเพ่งมันมาอยู่ในใจเรา ในเมื่อวัตถุมันไม่มี มันแค่นึกเห็น และการนึกเห็นมันคือจินตนาการและตัวของเรานี้ก็อาจจะเป็นการนึกเห็น ไม่ใช่ของจริง  ตัวเรากำเนิดมาด้วยของผลแห่งกรรม มันอาจจะเป็นสิ่งที่สมมติว่า... แล้วเราก็มายึดในสิ่งสมมตินั้น มันไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

        ทั้งหมดที่อธิบายนี้ คือ เซน  ที่มีดวงตาสภาวธรรมจริงๆ สอดคล้องกันกับศาสนาพุทธ ไม่แตกต่างกัน

        เคยมีนิทานของท่านพระพุทธทาส  คือ  มีพระรูปหนึ่ง ท่านถามความเห็นจากลูกศิษย์ว่า ใครที่สามารถเห็นถึงแก่นแห่งธรรมได้ดีที่สุด  ถามทุกรูป แต่ละรูปก็ตอบด้วยหลักที่ลึกซึ้งของธรรมะ  แต่พอมาถึงพระรูปหนึ่ง ท่านเงียบและไม่ตอบ  พระอาจารย์ก็เลยบอกว่านี่แหละคือแก่นของธรรม

        มาถึงตอนนี้ คงพอจะเข้าใจแล้ว ถึงความเกี่ยวพันระหว่างพุทธศาสนากับเซน....



 

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง