คำคม..ข้อคิด

 

คำคม..ข้อคิด ๑๕
6 มิ.ย. 2560

 

"ปิดทองหลังพระ" จะมีความหมายถึง ผู้ที่ทำความดีสูงสุดที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับทองคำ และปิดไว้ที่หลังพระคือเนื้อนาบุญอันประเสริฐ และไม่ได้เอ่ยวาจาใดเช่นกัน ความเงียบที่ทำให้จิตนั้นปิติ เพราะเราจะเป็นผู้เห็นผลอันงดงามนั้นด้วยตนเอง จัดเป็นเจตนาอันบริสุทธิ์ ทั้งไม่หวังผล เป็นการไม่โอ้อวด ไม่ยกตนข่มท่าน ลดความเป็นตัวตน
 
เมื่อลดความเป็นตัวตนได้ ความหลงในตนก็ไม่เกิด ความโกรธก็ลดลง จะรัก จะโลภ ก็มีสติ อยู่ในขอบเขตของศีล สามารถเตือนตน ย้อนดูตน แก้ไขตน และไม่เพ่งโทษคนอื่น การทำงานก็มุ่งคุณภาพ ไม่คิดอวดใคร การดูแลคนก็ทั่วถึง เพราะตัวตนของเราไม่ไปบดบังสายตาที่จะมองคนอื่น
 
เพียงเราเข้าใจความหมาย "ปิดทองหลังพระ" ทั้งกระทำอยู่เสมอ ความดีที่จัดเป็นสัมมาทิฐิดังที่กล่าวมา ก็ตามมาอย่างมากมายค่ะ
 
 
 
ถึงเวลาจะหนาว ไม่หนาว ถึงเวลาข้าวนาต้องการน้ำ กลับตกในเมือง ในมหาสมุทร ร้อนแล้งอบอ้าวดั่งไฟ ฝนฟ้าพายุฝนรุนแรง อารมณ์คนผันผวนปั่นป่วน คนโบราณว่าไว้ คือเหตุอาเภทด้วยเหตุชนทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ไม่เคารพบุคคลที่ควรเคารพ ไม่ให้เกียรติครูบาอาจารย์ ล้างคำคนสอน จ้วงจาบผู้มีศีล วาจาไม่เป็นมงคล
ให้ร้ายบัณฑิต เด็กไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ คนโง่อวดดี คนมีดีหนีหายไป ผีป่าเข้าเมือง ผีเมืองจะออกไปอยู่ป่า ความวุ่นวาย เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ข้าวจะยากหมากจะแพง เด็กเล็ก หญิงชราจะเป็นอันตราย
 
ไม่ต้องไปดูใครที่ไหน ให้ดูตัวเราว่า เราเป็นหนึ่งใน"ชนทั้งหลาย"ที่กระทำในสิ่งที่ไม่เป็นมงคลหรือไม่ แก้ไขที่ตัวเราก่อน ถ้าจะดูใครคือใส่ใจคนรอบข้างให้เป็นสุข ไม่ใช่สนใจแต่ตน แต่จับผิดคนอื่น เปลี่ยนเป็นจับผิดตน สนใจให้คนอื่น เป็นผู้ว่าง่าย ไม่โกรธคนสอน ไม่เถียงผู้ใหญ่ เป็นสุภาพชน ทำแต่สิ่งที่ควร ไม่กวนคนอื่นให้เดือดร้อนรำคาญใจ
 
เด็กๆ อย่าเถียงผู้ใหญ่ อย่าโกรธคนสอน อ่อนข้อให้พ่อแม่ ศิษย์อย่าสู้ครู ลูกน้องเคารพนาย ไม่อวดดี
พร้อมใจกันอย่างนี้ บ้านเมืองจะร่มเย็น ไม่ต้องถามใครว่า เมื่อไรบ้านเมืองเราจะดีค่ะ
 
 
 
"ไม่มีอะไรจะทำ" หรือ "ไม่รู้จะทำอะไร" บอกลักษณะคนพูดโดยไม่ต้องดูโหงวเฮ้ง หนึ่ง ผู้พูดเป็นคนดูดาย สอง ตกรายละเอียด สาม นึกถึงแต่ตัวเอง สี่ ไม่ควรมาร่วมงานกลุ่ม เพราะคนอื่นลำบากใจที่จะร่วมงานด้วย ห้า ปากพล่อย หก ชอบใช้คนอื่น ขี้เกียจ เจ็ด ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง แปด ชอบโทษคนอื่น เก้า ยกตนข่มท่าน สิบ ไม่เคยมองตัวเองผิด ทั้งผิดไม่ยอมรับผิด สิบเอ็ด ขาดความรับผิดชอบ เป็นใหญ่ไม่ได้ สิบสอง ทำกิจการตัวเองก็เจ๊ง
 
คำพูดอย่างนี้ อย่าพยายามให้เกิดขึ้น แม้ในใจก็คิดไม่ได้ ถ้าจะหวังผลสำเร็จ คือ คนที่จะประสพความสำเร็จในชีวิตได้ ต้องไม่มีแม้กระทั่งใจคิดว่า เราไม่มีอะไรจะทำ แต่เราต้องเพียรคิด เพียรทำ รอบตัวเราต้องหมดจด ทั้งคืบหน้าหาเรื่องอื่นทำต่อไป จงเป็นผู้สำเร็จงานของตน และช่วยผู้อื่นให้สำเร็จ อย่าถือว่าธุระไม่ใช่ ไม่ใช่หน้าที่ตน เพราะจะมีวิบากกรรมที่เด่นชัดคือ ทำคุณคนไม่ขึ้นอย่างเบา ไฟไหม้บ้านอย่างหนัก หากไปเผลอพูด หรือทำกับบัณฑิต หรือสมณชีพราหมณ์ ผู้ทรงคุณประเสริฐกว่าเรา
 
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสอนให้มีปิยวาจา เป็นมงคลต่อตนเองและ ให้มีอิทธิบาทสี่ มีความเพียร เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จทั้งมวล
 
 
 
อ่านหนังสือพันเล่มไม่เท่ากับเดินทางหนึ่งลี้ เป็นความหมายเดียวกันกับ ทำเองรู้เอง มีความหมายเดียวกับ ปริยัติ ปฎิบัติ ปฏิเวธ คือ ความหมายของคำว่า พระไตรปิฏก
 
ธรรมะของพระพุทธองค์ ต้องอ่านเป็นแนวทาง เป็นปริยัติ บทบัญญัติ ที่ได้สังคายนารวบรวมโดยพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นแนวทางเพื่อปฏิบัติ และแล้วก็จะได้ ปฏิเวธ คือ รู้เห็นผลด้วยตนเอง ตามระยะเวลาของความเพียรของตนเอง
 
เราอ่านมากแต่เราไม่เคยทำตาม เหมือนอ่านหนังสือธรรมะ พันเล่ม รู้มาก แต่ไม่เคยเห็นของจริง แถมส่งต่อให้คนอื่นแล้วบอกว่า ดีจริง แต่ดีตรงไหนไม่รู้ เพราะตัวเองรู้ว่าดี แต่บอกไม่ได้ว่าดีตรงไหน
 
ถ้ามีใครบอกเราว่า ได้อ่านพระไตรปิฏกมาแล้ว ก็ควรจะมีความหมายว่า อ่านแล้ว ทำแล้ว เห็นผลแล้ว
 
เราลองหาเหตุผลของการกระทำทุกอย่างในชีวิตของเรา ซึ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่สืบทอด ค่านิยม วัฒนธรรมประเพณี และอีกหลายอย่างที่หาเหตุผลไม่ได้ แล้วคิด ทำ ต่อๆ มาโดยไม่เกิดประโยชน์ หัวใจของศาสนาพุทธเราคือ การค้นหาความจริงที่มีเหตุผล คืออริยสัจ 4 นั่นเอง ซึ่งเหตุผลนั้นต้องไม่มีอคติ ทั้งไม่เข้าข้างตนเอง ไม่เอาตัวเองเป็นบันทัดฐาน และไม่ใช้อารมณ์จึงจะเป็นเหตุผลที่ควรคู่แก่ความเชื่อถือค่ะ
 
 
อาจารย์หม่า, ซินแสภาณุวัฒน์, หมอช้าง, หมอลักษณ์, อาจารย์มาศ, อาจารย์แอน, ฮวงจุ้ยที่ทำงาน