เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

"ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" บทสวดมนต์แปลของวัดท่าซุง ตอนที่ ๑
9 เม.ย. 2559

 

พระอานนทเถรพุทธอุปัฐาก ได้กล่าวแสดงต่อคณะสงฆ์ ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ว่าดังนี้

 

เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง

วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเยฯ

 

ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีฯ

 

ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ

เทฺวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา

 

ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนสติเหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์ให้ตั้งใจฟัง และพิจารณาตามพระดำรัสของพระองค์อย่างนี้ว่า ฯ  ดูก่อน  ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่ควรปฏิบัติให้หนักไปในส่วนที่สุด ๒ อย่างคือ

 

โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค หีโน คัมโม โปถุชชะนิโก

อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต

 

การประพฤติปฏิบัติตนเพื่อแสวงหาความสุขอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่าปราถนา ซึ่งเป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ต้องมีบ้านเรือน เป็นธรรมของคนผู้ครองเรือนผู้หนาไปด้วยกิเลส ไม่ใช่ธรรมอันจะนำจิตใจออกจากกิเลส ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจ ทั้งหลาย นี่อย่างหนึ่ง

 

โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค ทุกโข อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต

 

และอีกอย่างหนึ่ง คือการประพฤติปฏิบัติด้วยการทรมานร่างกายให้ได้รับความลำบาก ซึ่งมีแต่ทำให้ใจเป็นทุกข์ทรมานอย่างเดียว ไม่เป็นทางนำจิตใจออกจากกิเลส และไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึง ทั้งหลาย ฯ (หรืออีกนัยหนึ่ง คือเร่งหักโหมปฏิบัติธรรมจนเกินกำลัง เพื่อหวังจะได้มรรคผลเร็ว ๆ )

 

เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้รู้ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง โดยไม่เข้าไปไกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั่นแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง

 

จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ

นิพพานายะ สังวัตตะติฯ

 

ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้น สามารถทำดวงตาคือปัญญา ทำญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทำให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพาน

 

กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ

อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ

สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งสามารถทำดวงตาคือปัญญา ทำญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทำให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพาน ที่ตถาคตรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น คือการปฏิบัติอย่างไร

 

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ เสยยะถีทัง

 

ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนี้ คือทางนำไปสู่ความไกลจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย มี ๘ อย่าง ฯ ข้อปฏิบัติเหล่านี้คือ

 

สัมมาทิฏฐิ

ปัญญาอันเห็นชอบ (คือเห็นอริยสัจ )

 

สัมมาสังกัปโป

ความดำริชอบ (คิดจะออกจากกาม ไม่คิดอาฆาตพยาบาท ไม่คิดเบียดเบียน )

 

สัมมาวาจา

วาจาชอบ (ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดคำส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล)

 

สัมมากัมมันโต

การงานชอบ ( เว้นการทุจริต เช่น โกงแรงงานเขาเป็นต้น และการทำงานที่ไม่มีโทษ)

 

สัมมาอาชีโว

การเลี้ยงชีวิตชอบ ( หากินโดยไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ผิดประเพณี)

 

สัมมาวายาโม

ความเพียรชอบ (เพียรละชั่ว ประพฤติดีเพื่อให้มีคุณธรรมประจำใจ และเพื่อให้ได้คุณธรรมสูงยิ่งๆ ขึ้นไป )

 

สัมมาสะติ

การระลึกชอบ (ระลึกนึกถึงอนุสสติ ๑๐ ประการ มีพระนิพพานเป็นที่สุดและระลึกในมหาสติปัฏฐาน ๔)

 

สัมมาสะมาธิ

การตั้งจิตไว้ชอบ (การทำสมาธิให้อารมณ์ตั้งมั่นในอนุสสติ ๑๐ ประการนั้น)ฯ (หรือกล่าวโดยย่อ มรรค ๘ ประการนี้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา)

 

อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา

จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ

นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางเหล่านี้แล คือข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งสามารถทำดวงตาคือปัญญา ทำญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทำให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพาน ที่ตถาคตรู้แล้วด้วยปัญญายิ่ง

 

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สภาวะเหล่านี้แลเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ

 

ชาติปิ ทุกขา

ความเกิด ก็เป็นทุกข์

 

ชะราปิ ทุกขา

เมื่อความแก่เข้ามาถึง ก็เป็นทุกข์

 

มะระณัมปิ ทุกขัง

เมื่อความตายเข้ามาถึง ก็เป็นทุกข์

 

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา

เมื่อความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจเกิดขึ้นมา ก็เป็นทุกข์

 

อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข

เมื่อประสบพบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์

 

ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข

เมื่อพลัดพลากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์

 

ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง

และแม้คิดปราถนาอยากได้สิ่งใด แต่ไม่ได้สิ่งนั้นสมปราถนา ก็เป็นทุกข์

 

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ

กล่าวโดยย่อแล้วก็คือ การหลงคิดว่าร่างกายเป็นของเราของเขานั่นแล เป็นตัวทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง ฯ

 

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง

ยายัง ตัณหา  โปโนพภะวิกา นันทิราคะสะหะคะตา

ตัตระ ตัตราภินันทินี เสยยะถีทัง กามะตัณหา

ภะวะตัณหา วิภะวะตัณหา

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจนี้แล เป็นต้นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง คือ มีความอยากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป และมีความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่าปรารถนา ก็เป็นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์  สิ่งใดที่ยังไม่มี ก็คิดอยากจะให้มีขึ้นมา อย่างนี้ก็ทำให้ใจเกิดทุกข์  และ เมื่อมีทุกอย่างสมปรารถนาแล้ว ก็อยากจะให้ทุกอย่างคงทนอยู่ตลอดไป เมื่อมันจะต้องสลายหายไป ก็ร้อนใจไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น อย่างนี้ยิ่งทำให้ใจเกิดทุกข์หนักขึ้นอีก ฯ

 

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง

โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ จาโค

ปะฏินิสสัคโค มุตติ อะนาละโย

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การดับตัณหาความอยากให้หมดไปจากใจด้วยการ ละ วาง ปล่อย และไม่คิดยินดีพัวพันอยู่กับตัณหาความอยากนั้นอีกเด็ดขาด ก็คือการดับทุกข์ให้หมดไปจากใจได้อย่างแท้จริง ฯ

 

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา

อะริยะสัจจัง อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค เสยยะถีทัง

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว

สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติเพื่อนำกิเลสให้หมดไปจากใจนี้ มี ๘ อย่างคือ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตไว้ชอบ คือข้อปฏิบัติเพื่อนำใจให้หมดจากกิเลสและดับความทุกข์ได้อย่างแท้จริง ฯ

 

อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ

ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา

อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้งและความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจ เป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง

 

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว

ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ

ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้งและความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ตลอดเวลา“ ฯ

 

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ เม ภิกขะเว

ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ

ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้งและความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริงนั้นแล เราได้หยั่งรู้ด้วยปัญญาโดยตลอดแล้ว “ฯ

 

อิทัง ทุกขะสุมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ

อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา

อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “ ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจนี้ เป็นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง “ฯ

 

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ เม

ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง

อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ ตัณหาคืออยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจ อันเป็นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ต้องละให้ขาด “ฯ

 

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหีนันติ เม ภิกขะเว

ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ

ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจ อันเป็นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ละขาดไปจากใจแล้ว”ฯ

 

อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ

อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา

อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราอย่างนี้ว่า “ การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดนี้ให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง ”ฯ

 

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เม

ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง

อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงนั้นแล เป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้งในใจตลอดเวลา ”ฯ

 

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ เม ภิกขะเว

ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ

ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุด ให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ทำให้แจ้งในใจอยู่ตลอดเวลา แล้ว “ฯ

 

อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม

ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง

อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “ มรรคคือทาง ๘ ประการ เป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริง “ฯ

 

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง

ภาเวตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง

อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ มรรคคือทาง ๘ ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริงนั้นแล เป็นธรรมที่ต้องทำให้มีในใจไว้ตลอดเวลา“ฯ

 

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ

เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง

อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ มรรคคือทาง ๘ ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริงนั้นแล เราได้ทำให้มีในใจไว้ตลอดเวลาแล้ว“ฯ

 

ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ

เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง

นะ สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจริง ๔ อย่าง อันทำให้ใจห่างไกลจากกิเลสนี้ ถ้าหากเรายังไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาการหมุนเวียนแห่งปัญญาญาณ ครบ ๓ รอบทั้ง ๔ อย่าง รวมเป็นอาการ ๑๒ รอบ ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์หมดจดของเราเพียงใดแล้ว ฯ

 

เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก

สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง

สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราก็ไม่กล้าประกาศยืนยันแก่มนุษย์โลก ตลอดถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก รวมทั้งหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ให้ได้รู้เพียงนั้น ว่าเราได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้โดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีความตรัสรู้อื่นในโลกใด ๆ หรือของใคร ๆ จะเทียบได้ ฯ

 

ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง

ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ความจริง ๔ อย่าง อันทำให้ใจห่างไกลจากกิเลสนี้ เราได้รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาการหมุนเวียนแห่งปัญญาญาณ ครบ ๓ รอบทั้ง ๔ อย่าง รวมเป็นอาการ ๑๒ รอบ ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์หมดจดแล้วฯ

 

อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก

สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ

อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงกล้าประกาศยืนยันแก่มนุษย์โลก ตลอดถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก รวมทั้งหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ให้ได้รู้เฉพาะว่าเราได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้โดยชอบอัน ยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีความตรัสรู้อื่นในโลกใด ๆ หรือของใคร ๆ จะเทียบได้ ฯ

 

ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ อะกุปปา เม วิมุตติ

อะยะมันติมา ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ ฯ

 

ก็แล ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า “กิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย ไม่สามารถจะกำเริบขึ้นมาได้อีกแล้ว จิตของเราได้หลุดพ้นจากกิเลสโดยวิเศษแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราแล้ว บัดนี้ไม่มีภพเป็นที่เกิดสำหรับเราอีกแล้ว “ ฯ

 

อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ

อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุง ฯ

อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิง ภัญญะมาเน

อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ

"ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ" ฯ

 

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงความจริง ๔ อย่าง อันประเสริฐอันทำให้ใจห่างไกลจากกิเลสอย่างนี้แล้ว ฯ พระภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็มีความเพริดเพลินยินดีในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแล้วนั้น ฯ  ก็ในเมื่อขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกล่าวแสดงความละเอียดพิศดารแห่งความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการอยู่นั่นแล

ดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรม ซึ่งปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแล้วแก่ท่านโกณฑัญญะผู้มีอายุอย่างนี้ว่า “ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้น ๆ ทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา “ ฯ