เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - กุสินารา
18 มี.ค. 2559

 

เมื่อเราเข้าสู่กุสินารา สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงเลือกไว้ว่าจะเป็นที่ปรินิพพาน แม้พระอานนท์จะทูลถามว่าเหตุใดไม่ทรงเลือกเมืองใหญ่ๆ ที่มีพระมหากษัตริย์รับรองให้สมพระเกียรติแห่งพระบรมศาสดา สมเด็จพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงเมืองกุสินารา ถึงสมัยหนึ่ง นครนี้มีนามว่า สุทัสสนะ เป็นเมืองที่มหาราชสุทัสนะ ทรงบำเพ็ญบารมีทานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งพระเจ้าสุทัสสนะนั้นก็คือ พระศาสดา

 

พระพุทธองค์ปรารถนาที่จะสอนให้พุทธบริษัทสี่ทั้งหลาย มีความประมาณตน ไม่ยึดถือในเกียรติ หรือถูกสภาพแวดล้อมภายนอกกำหนด และยังสอนให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงเลือกเขตบำเพ็ญบารมีทานเป็นสถานที่ปรินิพพาน เพื่อประโยชน์แห่งบารมีนั้นขยายพุทธศาสนาออกไปด้วยเมตตา และทรงให้ความสำคัญของการให้ทานมาเป็นอันดับหนึ่ง

 

การให้ทานทั้งภายในภายนอก คือการบรรลุธรรมสามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

 

เรื่องราวในช่วงที่พระพุทธองค์ปรินิพานมีใน มหาปรินิพพานสูตร และได้บันทึกคำสอนของพระพุทธองค์ในช่วงสุดท้าย ที่สามารถเรียงลำดับ นับแต่ อปริหานิยธรรม ที่ประทานแก่กษัตริย์ลิจฉวี ดังที่กล่าวมาแล้ว มีใจความดังนี้

 

๑. หมั่นประชุมกันเนืองๆ

๒. พร้อมเพรียงกันทำ และพร้อมเพรียงกันเลิก พร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำ

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ ไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว

๔. ให้ความเคารพนับถือ เชื่อฟังท่านผู้อาวุโส และผู้มีประสพการณ์

๕. ไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล

๖. จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ทั้งภายนอกภายใน (หมายถึง มีที่ยึดเหนี่ยวและเคารพผู้ใหญ่ในตระกูล)

๗. จักจัดแจงไว้ดีแล้วซึ่งความอารักขาป้องกัน คุ้มครอง อันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย

 

ทรงตรัสถึง สิกขา ๓

 

๑. ศีลสิกขา

๒. สมาธิสิกขา

๓. ปัญญาสิกขา

 

สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ทั้งปัญญา และจิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นอาสวะโดยชอบ

 

และตรัสถึงอานิสงค์ของศีล ๕ประการ

 

๑. บุคคลผู้มีศีล ย่อมประสพโภคะกองใหญ่ เพราะมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ

๒. กิตติศัพท์อันดีงามของบุคคลผู้มีศีลย่อมกระฉ่อนไป

๓. เข้าสู่บริษัทใดๆ เป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขิน

๔. เป็นผู้ไม่หลงเมื่อทำกาละ

๕. ครั้นร่างกายแตกดับ จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

 

ทรงเน้นการปฏิบัติว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือทางสายเอกให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการ ยืน เดิน นั่ง นอน ตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ

 

ตรัสถึงอานุภาพอิทธิบาทสี่ อันมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จะทำการงานประสพผลสำเร็จได้ดังปรารถนา

 

ให้สำรวมในอินทรีทั้ง ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา รู้เห็นไปตามจริง

 

และเน้น โพชฌงค์ องค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ ได้แก่ สติ ธัมมะวิจัย วิริยะ ปิติ ปัสสิทธิ สมาธิ อุเบกขา

 

และในที่สุด สั่งสอนให้พุทธบริษัทสี่ตั้งมั่นอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ และสำรวมอยู่ในกรรมบถ ๑๐

 

จะเห็นได้ว่า พระธรรมคำสอนที่สำคัญๆ เหล่านี้ พวกเราเหล่าฆราวาสสามารถน้อมนำมาปฏิบัติได้ตลอดเวลา เมื่อเราได้มากราบนมัสการถึงกุสินารา ให้ตั้งสัจจาฐิฐานไว้ว่า เราจะพึงเป็นผู้ปฏิบัติตามแนวที่พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทไว้ในช่วงสุดท้ายก่อนปรินิพพาน การกราบไหว้บูชาของเรา ก็จะมีอานิสงค์อย่างมากมาย

 

ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน ทรงฉันสุกรมัททวะของนายจุนทะ และตรัสถึงการบิณฑบาตที่มีอานิสงค์มาก กล่าวคือ

 

๑. ตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้ว ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างหนึ่งคือ ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา

๒. ตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้ว ปรินิพพาน คือ สุกรมัททวะ ของนายจุนทะ

 

ในมหาปรินิพานสูตร ยังได้เอ่ยถึง การบูชาพระพุทธเจ้าว่า

 

๑. ผู้ที่บูชาพระพุทธเจ้าด้วยอามิสทั้งหลาย ไม่ว่ามากมายใหญ่โตอย่างใด ไม่นับว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชา น้อบน้อมพระพุทธเจ้า

๒. ผู้ที่ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฎิบัติตามธรรม จึงจะชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพระพุทธเจ้า

 

ทั้งยังตรัสถึงเรื่อง สังเวชนียสถานสี่ตำบล ที่เรากำลังดำเนินรอยตามพุทธโอวาทในขณะนี้ ว่า

 

"ชนเหล่าใด ไม่ว่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร ปรินิพพาน ณ ที่นี้ก็ดี ชนเหล่าใดจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก (หลังจากตายแล้ว)จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"

 

และทั้งหมดนี้เป็นข้อความที่คัดมาจากมหาปรินิพพานสูตร เฉพาะสำหรับฆราวาสธรรมทั้งหลายได้น้อมนำปฏิบัติตาม

 

ท้ายสุด ทรงมีปัจฉิมพุทธโอวาทว่า

 

"ภิกษุ ทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังกิจของตนและคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

 

หายเหนื่อยจากการเดินทางไหมคะ

 

โดยสรุป เมื่อเรามาถึงเมืองกุสินาราแล้ว ควรศึกษาในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเป็นบันทึกช่วงสุดท้ายแห่งพระพุทธเจ้า จนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน เสด็จออกจากเมืองไพศาลี ไปอัมพลัฏฐิกา นาลันทา ปาฏิกคาม นาทิกคาม อัมพวันของอัมพปาลี เสด็จจำพรรษาที่เวฬุวคาม (ทรงปลงอายุสังขารที่นี่) ทรงประชุมสงฆ์ที่ป่ามหาวัน แสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เสด็จไปภัณฑคาม หัตถิคาม อัมพคาม โภคนคร ทรงแสดงมหาปเทศ ๔ ที่นี่

 

มหาปเทศ ๔ มีใจความที่เกี่ยวกับพระวินัย เป็นข้ออ้างอิงใหญ่ ถ้าเกิดข้อถกเถียง หรือไม่แน่ใจว่าอย่างไหนเป็นธรรม อย่างไหนเป็นวินัย ก็ให้เอาหลักมหาปเทศ ๔ ไปเทียบเคียง

 

จากนั้น เสด็จสู่ปาวา เสวยสุกรมัททวะ ของนายจุนทะ ทรงประชวงหนัก เสด็จเมืองกุสินารา ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ของพวกมัลละกษัตริย์ และ ณ ที่นี้ ทรงตรัสพระสูตรและพุทธวัจนที่แสดง "เจตนารมณ์ของพระองค์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอนาคต" ว่า

 

"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดว่า พระศาสนามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พระศาสดาของโลกไม่มี พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น

 

ธรรมและวินัยอันใด ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว" และที่สำคัญ

 

" ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว หากสงฆ์จำนงอยู่ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้"

 

พระพุทธวจนะเรื่องให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อย กลายเป็นเหตุให้พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ถกเถียงกันและขยายออกเป็นรูปธรรม เมื่อพระภิกษุวัชชีบุตรเสนอแก้ไขพระวินัยบางข้อ (จำนวน ๑๐ ข้อ) และแยกตัวออกไปตั้งนิกายใหม่ ชื่อ นิกายมหาสังฆิกะ จึงเกิดมีนิกายเถรวาท กับมหาสังฆิกะ และเป็นต้นแบบของมหายาน ในเวลาต่อมา

 

ทรงตรัสพระสูตร มหาสุทัสสนสูตร แสดงประวัติกุสินาราในอดีต เป็นเมืองใหญ่ ปกครองโดยพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ตอนท้ายสรุปในกฏของไตรลักษณ์ว่า

 

" พระเจ้าจักรพรรดิ์มหาสุทัสสนะ ถึงจะครองเมืองมากมาย แต่ก็ประทับอยู่เมืองเดียว มีปราสาทมากมายก็ประทับอยู่เพียงปราสาทเดียว มีช้างมากมายก็ขึ้นทรงเพียงเชือกเดียว มีมเหสีมากมายก็คอยปรนนิบัติคราวละคนเดียว มีพัสตราภรณ์มากมายก็นุ่งห่มได้คราวละชุดเดียว มีอาหารมากมายก็เสวยได้คราวละทะนานเดียว ผลสุดท้ายก็แตกดับ ดูเอาเถิด สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แหละ"

 

นี่คือ เรื่องที่ฆราวาสธรรมพึงใคร่ครวญพิจารณาเมื่อมาถึงสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา จะบังเกิดผลอย่างมากเมื่อมาถึงสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสพระสูตรนี้

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ

 

ด้วยการเสด็จมาปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ทำให้เหล่ามัลละกษัตริย์ได้มีโอกาสจัดงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ และได้ทำบุญกิริยาอย่างอื่นอีก เช่น ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์จำนวนมากที่หลั่งไหลมาในวาระโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้

 

พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ "จริยา" ทั้งสองประการ คือ พุทธจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะพระพุทธเจ้า และโลกัตถจริยา คือการบำเพ็ญประโยชน์ต่อชาวโลก และสมบูรณ์แล้วในส่วนญาตัตตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระประยูรญาติ ซึ่งรวมถึง กลุ่มมัลลกษัตริย์ด้วย

 

แล้วเราก็ได้บำเพ็ญกุศลทั้งเปิดโรงทาน จากนั้นเราก็ได้ไปสู่สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

 

เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว กษัตริย์เมืองน้อยใหญ่ต่างก็มาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ มีจำนวน ๗ เมือง

 

๑. กษัตริย์ศากยะจากเมืองกบิลพัสดุ์

๒. กษัตริย์โกลิยะจากเมืองรามคาม

๓. กษัตริย์ถูลิยะจากเมืองอัลลกัปปะ

๔. กษัตริย์ลิจฉวีจากเมืองไพศาลี

๕. พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ

๖. ผู้ครองนครเวฏฐทีปกะ

๗. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา

 

แต่ด้วยความสามารถของโทณพราหมณ์ กษัตริย์ทั้งเจ็ดเมืองตกลงยอมแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปจำนวนเท่าๆกัน แล้วนำไปสร้างสถูปบรรจุบูชาในเมืองของตน

 

พระเจ้าโมริยะแห่งเมืองปิปผลิวันทราบข่าวทีหลัง ส่งคนมาขอส่วนแบ่งปรากฏว่ามาไม่ทัน จึงได้แต่พระอังคารไป

 

 

ส่วนพราหมณ์โทณะ ได้แอบนำพระเขี้ยวแก้วข้างขวาซ่อนไว้ที่มวยผม พระอินทร์เห็นว่าพระเขี้ยวแก้วมิบังควรอยู่กับพราหมณ์ จึงขโมยต่อนำไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์จุฬามณีบนสรวงสวรรค์

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ