เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - ไพศาลี มัลละ ป่ามหาวัน
17 มี.ค. 2559

 

เราออกเดินทางจากนาลันทา เพื่อไปเมืองกุสินารา ระหว่างทางต้องผ่านเมืองไพศาลี มัลละ และป่ามหาวัน เมืองไพศาลี มีความสำคัญในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองใหญ่ มีพุทธบริษัทมาก และพระพุทธเจ้าก็เสด็จมาบ่อยครั้ง มีเรื่องราวเกี่ยวคำสอน และพระสูตรต่างๆ ปกครองโดยกษัตริย์ลิจฉวี ซึ่งพระพุทธองค์ทรงประทาน "ลิจฉวีอปริหานิยธรรม" 

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ไพศาลี

 

พระพุทธองค์ทรงมาประทับ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งแรก ในพรรษาที่ ๕ ทรงมีพุทธานุญาติให้พระนางปชาบดีโคตมี บวชเป็นภิกษุณี ด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ และทรงตรัสประทานโอวาท มีใจความสำคัญว่า

 

...ท่านพึงรู้ธรรมเหล่านี้ คือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ เพื่อไม่สั่งสมกิเลส เพื่อความมักน้อย เพื่อความสันโดษ เพื่อความสงัด เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร เพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ดูก่อนโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา.....

 

อยากให้คณะศิษย์ทั้งหลายที่คิดปฏิบัติธรรม จงน้อมนำเอาคำสอนของพระพุทธองค์ในตอนนี้มาปฏิบัติด้วยความเพียร

 

และที่ไพศาลีนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสกับมหาลิเจ้าลิจฉวี ถึงท้าวสักกะจอมเทพในกาลก่อนได้เป็นมนุษย์ ได้ให้ทานโดยเคารพ ได้ให้ที่พักอาศัย ได้สมาทานวัตรบท ๗ คือ

 

เลี้ยงบิดามารดาจนตลอดชีวิต

ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต

พูดจาอ่อนหวานตลอดชีวิต

ไม่กล่าววาจาส่อเสียดตลอดชีวิต

มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการสละและแจกจ่ายแทนตลอดชีวิต

พูดแต่ความสัตย์ตลอดชีวิต

ไม่พึงโกรธตลอดชีวิต

 

เราคิดไหมว่า เราจะได้เข้าคิวเป็นท้าวสักกะแห่งดาวดึงส์ ถ้าคิดก็จงเคร่งครัดในการปฏิบัติในวัตร ๗ ประการนี้เถิด

 

ณ กูฏาคาร ป่ามหาวัน ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสกับสีหเสนาบดี ทายกผู้เป็นทานบดี ถึงอานิสงค์แห่งการให้ทาน ๕ ประการ

 

ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก

สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน

กิติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์

เมื่อสิ้นชีพแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์

ผู้ใดให้สิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่ตนบริโภค ชื่อว่า ทานบดี ผู้ใดให้ทานเสมอกับสิ่งที่ตนบริโภค ชื่อว่า สหายทาน ผู้ใดให้สิ่งที่เลวกว่าสิ่งที่ตนบริโภค ชื่อว่า ทาสทาน

 

นอกจากนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส กาลทาน กับภิกษุทั้งหลายว่า

 

ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นตน

ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะเดินทาง

ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง

ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล

ทายกย่อมให้ผลไม้ออกใหม่แก่ผู้มีศีล

 

กาลทาน ๕ ประการนี้ ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาล ในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดอนุโมทนา หรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ เพราะฉะนั้น จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

 

เรื่องราวในไพศาลีที่เรารู้จักมากที่สุด ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ชาวเมืองได้มากราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้มาโปรด พระพุทธเจ้าเสด็จไปพร้อมด้วยเหล่าภิกษุ เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงนั้น ฝนก็ตกลงมาด้วยพุทธานุภาพ ชำระสิ่งปฏิกูลทั้งหลายให้อันตรธานเสื่อมสูญไป หลังจากนั้นก็ให้พระอานนท์เถระ นำพระภิกษุทั้งหลายไปสวดพระปริต คือ สวดรัตนสูตร ที่ขึ้นต้นด้วย บท ยานีธ ภูตานิ หรือ ยัง กิญจิ เมื่อเริ่มต้นบนสวด ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตบทนี้ บรรดาภูติผีปีศาจทั้งหลายได้อันตรธานไป ต่อจากนั้นฝนก็ตกชำระสิ่งปฏิกูลทั้งหลายให้หมดไป ในที่สุดไพศาลีก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นได้อีกตามเดิม

 

เมื่อเราผ่านเมืองไพศาลี ขอให้น้อมระลึกถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น นึกถึงพุทธานุภาพ และสวดมนต์บทนี้อย่างตั้งใจ ก็จะเกิดผลานิสงค์เช่นเดียวกัน คือจะขับสิ่งร้ายๆออกไปจากเราและนำความสุขสมบูรณ์มาสู่ตัวเรา

 

และมาสู่เรื่องราวที่เกี่ยวพันกับพระยานาคราชและแม่น้ำคงคา พระพุทธองค์เสด็จกลับจากไพศาลีสู่ราชคฤห์ ผ่านแม่น้ำคงคา เหล่าพระยานาคราชพากันมาต้อนรับ และขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมในนาคพิภพตลอดราตรี

 

ท้ายสุด ณ กรุงไพศาลี ทรงประทับที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ได้กราบทูลลาไปนิพพาน และได้ถวายพระเพลิง ณ สถานที่นี้

 

และเราก็เข้าสู่ เมืองกุสินารา นมัสการสถานที่ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ต่อไป

 

 

แม้เราจะใช้เวลานานถึง ๖-๗ ชั่วโมงในการเดินทาง แต่ขอให้น้อมระลึกว่าพระพุทธองค์ ทรงเสด็จดำเนินด้วยพระบาททั้งที่พระชนมายุ ๘๐ พรรษา และทรงประชวรด้วย ทรงใช้เวลาถึง ๙๐ วัน จากพาราณสี พวกเรายังนั่งรถกันมาอย่างสบายใจ และเราคงตระหนักด้วยใจแล้วว่า ปัจจุบันกับสมัยพุทธกาลนั้น ไม่แตกต่างกัน