เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - ราชคฤห์ ตอนที่ ๖
3 มี.ค. 2559

 

ที่ราชคฤห์ ที่เราต้องผ่านและแวะอย่างแน่นอนคือ สถานที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อลงไปเดินอยู่ตรงใจกลางคุกนั้น ซึ่งไม่ต้องตกใจเพราะหลงเหลือแนวอิฐสูงเพียงคืบเดียว ณ ตำแหน่งนั้น สามารถมองเห็นยอดเขาคิชฌกูฏ สถานที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ความจริงคงไม่มีผู้ใดระบุชัดว่าเป็นสถานที่ใด เพราะเวลาผ่านมายาวนานถึงสองพันกว่าปี ผ่านศึกสงครามการเปลี่ยนราชวงศ์มานับครั้งไม่ถ้วน แต่จากการค้นคว้าและศึกษาพุทธประวัติ ได้เอ่ยอ้างสถานที่คุมขัง ที่พระเจ้าพิมพิสารสามารถดำรงชีพอยู่ได้ทั้งที่อดอาหาร เพราะการเดินจงกรม และความปิติที่มองเห็นที่ประทับของพระบรมศาสดา จึงสามารถสันนิฐานถึงสถานที่นี้ได้ใกล้เคียงที่สุด 

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, พิมพิสาร, ราชคฤห์

 

เรื่องราวตอนนี้ ต้องท้าวความถึง พระเจ้าอชาติศัตรู  ในพรรษาที่ ๓๗ พระเทวทัตแสดงฤทธิ์ให้อชาติศัตรูกุมารเกิดความเลื่อมใส ได้ฟังคำยุยงว่า คนทั้งหลายมีทั้งอายุสั้นและอายุยืน ความตายเป็นของไม่เที่ยง เกิดได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และท่านก็อาจจะตายตั้งแต่ยังเด็ก ถ้ากระนั้นจงปลงพระชนม์พระบิดาเสียแล้วเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และตัวเทวทัตเองก็จะปลงพระชนม์พระตถาคตแล้วเป็นพระพุทธเจ้า

 

เสียทีที่ท่านเทวทัตมีฤทธิ์ด้วยฌานสมาบัติสียเปล่า แต่ไม่อาจมองเห็นถึงพุทธานุภาพ ทั้งนี้ด้วยมิจฉาทิฐิ คนเราถ้าทะนงตนว่า รู้แล้ว สามารถศึกษาเองได้ ทำถึงที่สุดของความสามารถแล้ว คิดว่าเป็นที่สุดของคนอื่นไม่มีใครสู้ นี้เป็นความโง่เขลา เราต้องกลับไปมองตามความเป็นจริงว่า ความรู้ความสามารถที่สุดของเราไม่ใช่ความรู้ความสามารถที่สูงที่สุด เราก็จะไม่มีความประมาทในชีวิต และจะไม่เผลอยกตนข่มท่านจนเป็นผลร้ายต่อตนเอง ในขณะเดียวกัน ถ้าเพิ่มความริษยา อาฆาต ผูกโกรธ เช่นพระเทวทัต ทำให้กระทำอนันตริยกรรมดังที่เรารู้กัน

 

อชาติศัตรู เชื่อฟังพระเทวทัตด้วยเกรงในฤทธิ์ ก็คิดปลงพระชนม์ อำมาตย์บางพวกทราบความ จึงลงมติว่า ควรปลงพระชนม์พระกุมาร ควรฆ่าพระเทวทัตและภิกษุทั้งหมด แล้วก็จับคุมตัวอชาติศัตรูกุมารไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร

 

พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อตรัสถามอชาติศัตรูกุมารว่า " ลูก เจ้าต้องการฆ่าพ่อเพื่ออะไร " อชาติศัตรูกุมาร กราบทูลว่า "หม่อมฉันต้องการราชสมบัติ" พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า ราชสมบัตินั้นต้องตกเป็นของพระกุมารอยู่แล้ว

 

ต่อมา เจ้าชายอชาติศัตรูกลับรีบทำการยึดราชบัลลังก์ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองนครราชคฤห์ ส่วนพระเทวทัตก็พยายามปลงพระชนม์พระศาสดา เจ้าชายได้จับพระเจ้าพิมพิสารคุมขัง และทรมานด้วยการให้อดอาหาร แต่พระเจ้าพิมพิสารสามารถดำรงพระชนม์อยู่ได้ ด้วยสมาธิที่เกิดจากการเดินจงกรม และสามารถมองเห็นที่ประทับของพระพุทธองค์ พระเจ้าอชาติศัตรูทรงให้เฉือนเนื้อที่พระบาทเพื่อระงับการเดินจงกรม ในที่สุดพระองค์ก็สิ้นพระชนม์

 

มีวิสัชชนาว่า เหตุที่พระเจ้าพิมพิสารผู้ทรงเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบัน ต้องทนทุกข์ทรมานถูกเฉือนเนื้อที่พระบาทเพราะผลกรรมในอดีต ที่ทรงใส่รองเท้าสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ทำให้เรารู้และเข้าใจว่า กฏแห่งกรรมนั้นเกิดได้แม้กับพระอริยะทั้งหลาย พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงพ้นจากกฏแห่งกรรมนี้ได้

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์ ในพุทธประวัติ สามารถหาอ่านรายละเอียดได้ที่ พุทธกิจ ๔๕ พรรษา แต่ที่เขียนนี้เป็นการบรรยายประกอบสถานที่ที่ชาวคณะจะไปแสวงบุญกัน ยังมีเรื่องของท่านหมอชีวกโกมารภัจน์ ที่เราจะได้ไปสัมผัสน้อมระลึกถึงท่านคือที่ ชีวกัมพวัน แปลว่า สวนมะม่วงหมอชีวก

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ราชคฤห์, ชีวกโกมารภัจน์

 

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของนางสาลวดี ซึ่งเป็นหญิงงามเมือง ได้ศึกษาวิชาแพทย์จากตักกสิลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตปากีสถาน ท่านหมอรักษาบุคคลสำคัญมากมาย ตั้งแต่เศรษฐีเมืองสาเกตุ เศรษฐีจากตักกศิลา เศรษฐีเมืองราชคฤห์ รักษาพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าจันทปัชโชติ ผู้ขี้โมโหจนเลื่องลือ และสมัยนั้น พระบรมศาสดาประทับอยู่บนเขาคิชฌกูฏ หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ถวายยาขับถ่ายในพระวรกายให้พระพุทธองค์ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์หลวงประจำสำนักพระศาสดา

 

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ถวายผ้าเนื้อเลิศที่ได้รับจากพระเจ้าจันทปัชโชติต่อพระศาสดา และขออนุญาตให้เหล่าคหบดีสามารถถวายผ้าจีวรแก่พระสงฆ์ ซึ่งพระพุทธองค์มีพุทธานุญาติเป็นไปตามนั้น

 

หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนา หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงได้ถวายสวนมะม่วงให้เป็นอาราม ตั้งชื่อว่า ชีวกัมพวัน แปลว่าสวนมะม่วงชีวก และได้สร้างพระคันธกุฏีแก่พระพุทธองค์ สร้างกุฏี และมณฑป ในป่าอัมพวันแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประธาน ด้วยภัตตาหารพร้อมจีวร พร้อมหลั่งน้ำทักษิโณทก มอบถวายวิหารแด่พระพุทธองค์ และได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งปวง เป็นผู้ยังเหล่าชนให้เกิดความเลื่อมใส

 

ระหว่างที่ประทับที่สวนมะม่วงของหมอชีวก ทรงแสดงชีวกัมพวนสูตรแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

 

....เนื้อที่ไม่ควรบริโภค ๓ ชนิดคือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนสงสัย ว่าฆ่าเพื่อนำมาให้ตนบริโภค และทรงตรัสว่า

 

"ดูก่อน ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป เป็นอันมากด้วยเหตุ ๕ ประการคือ สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ๑ เมื่อถูกสั่งให้ฆ่า ๑ เมื่อกำลังถูกฆ่า ๑ และสัตว์เหล่านั้นย่อมเสวยทุกข์โทมนัส จากนั้นยังให้ตถาคตและสาวกยินดี ด้วยเนื้อเช่นนี้ และเจาะจงฆ่าเพื่อตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก"

 

นอกจากนี้ ณ สถานที่นี้ทรงแสดง สามัญญผลสูตร แก่พระเจ้าอชาติศัตรู ให้เห็นผลของความเป็นสมณะ ว่าได้เลื่อนฐานะในสังคมพ้นจาก ทาสกรรมกร มาเป็นภิกษุผู้ทรงศีล ได้รับนับถือจากคนทั่วไปแม้พระมหากษัตริย์ เมื่อสมบูรณ์ด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ มีสติสัมปชัญญะ สันโดษ บำเพ็ญสมาธิ และได้ฌานระดับต่างๆ ก็สามารถทำให้สิ้นอาสวะไปได้

 

เรามาถึงสถานที่นี้ อาจไม่ได้เห็นอะไร ก็ขอให้รับกระแสและความเข้าใจในพระสูตรอย่างลึกซึ้ง ไม่ต้องมานั่งสงสัยว่า ปฏิบัติธรรมทำไมกินเนื้อ และ บวชเพื่ออะไร ท้ายสุด เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ

 

และเราควรน้อมระลึกถึงท่านหมอว่า เป็นผู้ที่ช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยการรักษาของท่าน และเป็นอุบาสก ที่นำพระพุทธองค์สู่อาณาจักรทวารวาดี คือ เขตประเทศไทยในปัจจุบันนั่นเอง

 

อีกสถานที่หนึ่งที่เราจะได้เห็น คือ ตโปทาราม ในพรรษาที่ ๑๗ ที่พระศาสดาประทับอยู่ที่เวฬุวัน ในฤดูหนาว พระเจ้าพิมพิสารออกไปนอกพระนคร ที่ธารน้ำร้อนตโปทาราม และรอคอยพระสงฆ์สรงเสร็จจึงจะทรงสนาน ซึ่งในเวลานั้น พระสงฆ์เป็นจำนวนมากกำลังสรงน้ำอุ่นอย่างสบายใจ และไม่เฉลียวใจว่าพระเจ้าพิมพิสารทรงรออยู่ กว่าจะได้ทรงสนานก็ใกล้ค่ำ และช่วงเวลานั้น เมืองราชคฤห์มีศัตรูมาก พระองค์จึงทรงให้รักษาพระนครอย่างแข็งขัน ประตูใหญ่ของเมืองเปิดปิดตรงตามเวลา ไม่มียกเว้นกับใครทั้งสิ้น แม้ท้าวเธอผู้เป็นกษัตริย์ จึงจำต้องนั่งรอจนประตูเปิดในตอนเช้าจึงเสด็จเข้าไปได้

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ราชคฤห์, ตโปทาราม

 

เห็นไหมคะ พระองค์ท่านเป็นกษัตริย์ ท่านสั่งเองโดยพระราชอำนาจ จะสั่งเป็นข้อยกเว้น พระองค์ก็ไม่ทรงกระทำ นี้นอกจากเป็นคุณสมบัติกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมแล้ว ยังเป็นคุณสมบัติของพระอริยะทั้งหลาย ที่ไม่ล้างคำสัตย์ หรือ สัจจะของตน หากคิดจะบรรลุธรรม ต้องมีจิตใจที่เข็มแข็ง อดทน ไม่ย่อท้อ การฝึกจิตให้เข็มแข็ง คือ สมาธิที่ปฏิบัติได้ตั้งแต่ปฐมญาน คือความหมายของความเข็มแข็งของจิตใจ สมาธิตั้งมั่นได้มาก ได้นานเท่าไร ก็มีความหมายถึงความเข็มแข็งเด็ดขาด สามารถมีสัจจะบารมีถึงขั้นปรมัต เมื่อถึงขั้นนี้ การขจัดสิ่งใดอันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ก็ง่ายและเข้าถึงมรรคถึงผลในที่สุด พระเจ้าพิมพิสาร บรรลุโสดาบัน ย่อมต้องมีสัจจะบารมี และความเข็มแข็งที่เราสามารถจะเห็นจากเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของพระองค์

 

ตั้งใจปฏิบัติอย่างนี้ได้ไหม

 

ในครั้งนั้น พระบรมศาสดาทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุใดสรงน้ำ และยังไม่ถึงกึ่งเดือนสรงน้ำใหม่อีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ยกเว้นภิกษุผู้อาพาธ ภิกษุผู้ทำนวกรรม ภิกษุผู้เดินทางไกล หรือในคราวที่อากาศร้อนจัด ทรงอนุญาติให้อาบได้

 

เมื่อเราเดินขึ้นสู่เนินเขาเวภาระผ่านตโปทารามขึ้นไป จะเข้าสู่ถ้ำ สัตตบรรณคูหา ซึ่งเราสามารถมองเห็นป้อมขนาดใหญ่อยู่เบื้องหน้า เรียกว่า ถ้ำปิปผลิคูหา ซึ่งเป็นสถานที่พำนักของพระมหากัสสปะในสมัยพุทธกาล

 

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากัสสปะอาพาธอย่างแรงกล้า พระบรมศาสดาเสด็จมาเยี่ยม พร้อมกับทรงแนะนำให้เจริญสติ ต่อมาไม่นานท่านก็หายป่วย

 

และข้อสำคัญเป็นสถานที่มีปฐมสังคายนาครั้งแรก หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และ พระเจ้าอชาติศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ การสังคายนาครั้งนี้นานถึง ๗ เดือน ครั้งนั้น พระธรรมวินัยได้ถูกจัดเป็นหมวดหมู่ นับเป็นผลสำเร็จดียิ่ง

 

กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นสถานที่สำคัญอย่างมากในพุทธศาสนา สมควรแล้วที่เราได้มาเดินมาสัมผัส แม้จะไม่ได้เป็นหนึ่งในสังเวชนียสถาน แต่ก็เป็นสถานที่ที่เราควรมาน้อมรำลึกถึงพระบรมศาสดา ความศรัทธาอันสูงสุดเมื่อเกิดขึ้น ก็จะผลักดันให้เกิดความเพียรในการปฏิบัติ ด้วยสติ และการตั้งตนไว้ชอบ ในแนวทางของมรรคมีองค์แปด เพราะถ้าคิดชอบแล้วก็จะตามมาอีกหกครบแปดพอดี

 

เหตุการณ์สำคัญที่จะขอสรุป นำมาจากหนังสือ "นครราชคฤห์ เมืองหลักของพระพุทธศาสนา" มีดังนี้

 

เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช แวะผ่านเมืองราชคฤห์

ทรงศึกษากับอาฬาดาบสและอุทกดาบส

โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง

เสด็จโปรดพระเจ้าพิมพิสารตามคำปฏิญญา

พระเจ้าพิมพิสารถวายพระเวฬุวัน

พระอัครสาวกทั้งสองขอบวช

เกิดวันสำคัญทางพุทธศาสนา "วันมาฆะบูชา"

พระมหากัสสปะออกบวช

แต่งตั้งท่านหมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์

ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ออกแบบจีวร

ก่อกำเนิดยมกปาฏิหาริย์

เหตุเกิดที่ตโปทาราม

พระเทวทัตลอบทำร้ายพระศาสดา

พระเจ้าอชาติศัตรูยึดอำนาจจากพระบิดา และในที่สุดกลับใจเป็นพุทธมามกะ

นันทยักษ์ประทุษร้ายพระสารีบุตร

พระสารีบุตรนิพพานที่บ้านเกิด (นาลันทา)

พระโมคคัลลานะนิพพานที่บ้านกาฬศิลา

พระเจ้าอชาติศัตรูบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

และมีปฐมสังคายนาครั้งที่ ๑

 

จะเห็นได้ว่า มีเหตุการณ์สำคัญอย่างมากที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถหาอ่านเพิ่มเติมในหนังสือพุทธประวัติ หรือหนังสือที่กล่าวอ้างนี้ แต่จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ขอกล่าวถึงในที่นี้ก่อนอำลาจากเดินทางไปที่อื่นต่อไป

 

เราจะสังเกตได้ว่า แม้พระเจ้าพิมพิสารจะเป็นพระสหายสนิทกับพระพุทธองค์ เรื่องราวของพระเจ้าอชาติศัตรู กระทำอนันตริยกรรมนั้น พระศาสดาไม่ทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยว ด้วยเป็นเรื่องกิจทางโลก การสร้างกรรม ใช้กรรม เป็นวัฏฏะที่หมุนเวียน ห้ามไม่ได้ และก็ทรงโปรดประทานเทศนาให้พระเจ้าอชาติศัตรูได้เห็นกรรมและสร้างกรรมอันเป็นกุศลเพื่อเป็นทางแห่งสุคติในวันหน้า นี้ทรงเป็นแบบอย่างในกิจของสงฆ์ที่พึงกระทำ

 

หลังจากที่พระศาสดาได้ปรินิพพานที่นครกุสินาราแล้ว โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ในส่วนของแคว้นมคธ โดยการนำของพระมหากัสสปะเถระ พระเจ้าอชาติศัตรูได้โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้นอกเมือง เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นสถูปใหญ่ และเส้นทางจากนครกุสินาราถึงนครราชคฤห์ ได้โปรดให้มีการเฉลิมฉลองสักการะบูชาตลอดทาง ซึ่งเส้นทางนี้ที่เราจะได้เดินทางผ่านไป

 

พระบรมสารีริกธาตุนี้ ประดิษฐานอยู่ที่พระสถูปนี้จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในพ.ศ ๒๔๗ พระองค์จึงโปรดให้เชิญพระบรมธาตุออกมารวมกัน แล้วบรรจุลงในเจดีย์ขนาดใหญ่ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระเวฬุวัน

 

อีกเรื่องหนึ่งคือ เป็นที่ก่อกำเนิดยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งเรื่องราวตอนนี้ เราไม่ค่อยได้อ่านได้ศึกษา จึงไม่รู้ความละเอียดจึงขอแจกแจง เพราะจะไปเกี่ยวกับกรุงสาวัตถีที่เราจะได้ไปเยือนด้วย

 

จะขอกล่าวทวนเรื่องราวของการแสดงปาฏิหาริย์ของพระปิณโฑลทวาชะ เพราะเป็นสาเหตุของการแสดงยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งมีข้อความรายละเอียดถึง ราชคหเศรษฐี เป็นเศรษฐีแห่งกรุงราชคฤห์ มีดำริว่า มีผู้อ้างตนเป็นพระอรหันต์มากมาย แต่เราไม่ทราบว่าใครเป็นพระอรหันต์ที่แท้จริง จึงสั่งให้คนมัดบาตรไว้ที่ปลายไม้สูง แล้วประกาศทั่วพระนครราชคฤห์ว่า ในโลกนี้ ผู้ใดเป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์ ขอให้เอาบาตรนี้ไป เราและบุตรภรรยาจะยอมเป็นทาสรับใช้

 

ขณะนั้น พระโมคคัลลานะและพระปิณโฑลภารทวาชะ กำลังบิณฑบาตรอยู่ภายในเมืองราชคฤห์ ได้ยินชาวเมืองพากันกล่าวเช่นนั้น จึงขอให้ท่านปิณโฑลภารทวาชะแสดงปาฏิหาริย์ ครั้งนั้นยังความเลื่อมใสศรัทธาแก่เศรษฐี ปรากฏว่าเมื่อพระเถระกลับสู่เวฬุวัน พระพุทธองค์ทรงตำหนิ และห้ามพระสงฆ์แสดงฤทธิ์หรือคุณวิเศษ ถือเป็นการอวดอุตริมนุษธรรม ทำให้คนไปเลื่อมใสยึดติดในฤทธิ์แทนพระธรรมคำสั่งสอน

 

ฝ่ายนิครนถ์ทราบดังนั้น จึงคิดแสดงปาฏิหาริย์เรียกศรัทธาเพื่อหวังลาภสักการะ พระพุทธองค์จึงจะแสดงปาฏิหารย์ เพราะเหตุแห่งการณ์ที่แตกต่างกันกับพระสาวก คือเป็นไปเพื่อความศรัทธาในพุทธศาสนาให้คงอยู่ อันเป็นภาระของพระพุทธองค์ ไม่ใช่ของสาวก และทรงตรัสว่าจะแสดงยมกปาฏหาริย์ที่ต้นมะม่วง ทำให้ฝ่ายนิครนณ์ตัดต้นมะม่วงในกรุงราชคฤห์เสียสิ้น พระพุทธองค์จึงตัดสินใจทำยมกปาฏิหาริย์ที่กรุงสาวัตถี ซึ่งเมื่อเราไปเยือนสาวัตถี ก็จะได้เห็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ด้วย

 

รถของเราจะพาไปที่ ถ้ำมหาสมบัติพระคลังหลวง แต่มีนักโบราณคดี เวอร์คันนิ่งแฮม สันนิฐานว่า เป็น ถ้ำปิปผลิคูหา ที่พระมหากัสสปไปพำนัก 

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ราชคฤห์

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์มีมากมาย ทั้งที่เกี่ยวพันกับพุทธบริษัทสี่ และ การประทุษร้ายของพระเทวทัตที่ปล่อยช้างนาฬาคีรี คงจะได้ไปหาอ่านในรายละเอียด จนสามารถเห็นราชคฤห์สมัยพุทธกาลด้วยใจ...