เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - ราชคฤห์ ตอนที่ ๒
29 ก.พ. 2559

 

เขาคิชฌกูฎ ที่เรากำลังจะเดินขึ้นนั้นสูงชัน แต่ทางเดินนั้นเดินง่ายแต่เดินไกล ไม่ลำบาก แต่ที่แน่ๆจะได้ผ่านสถานที่สำคัญ คือ ถ้ำสุกรขาตา ที่ซึ่งพระสารีบุตรได้บรรลุธรรมหลังพระโมคคัลานะกึ่งเดือน โดยเหตุที่พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มากด้วยปัญญา จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ และเรื่องราวตอนที่พระสารีบุตรได้บรรลุธรรมก็ผิดจากพระเถระท่านอื่นๆ เรื่องราวก็จะเกี่ยวพันกับถ้ำสุกรขาตานี้

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, สุกรขาตา, คิชฎกูฎ

 

ครั้งนั้น พระสารีบุตร ผู้เป็นบุตรของนางสารีพราหมณี ได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปบนเขาคิชฌกูฎ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทับที่ถ้ำชื่อสุกรขาตา และ ณ ที่นั้น ทีฆนขะปริพาชก ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตร ซึ่งมีความเข้าใจว่าตนนั้นได้ละจากความยึดมั่นถือมั่นแล้ว เป็นผู้ไม่พึงพอใจในสิ่งทั้งปวง ทั้งไม่ยึดถือทัศนะใดๆทั้งสิ้น พระพุทธองค์แสดงพระสูตร มีใจความว่า ที่เข้าใจว่าตนไม่ยึดนั่นแหละคือการยึด เพราะมีความเห็น ความเห็นก็เป็นทิฐิ ทิฐิคือ

 

๑. เห็นว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่ตน ตนชอบใจหมด

๒. เห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบใจหมด

๓. เห็นว่า บรรดาสิ่งทั้งปวงนั้น บางสิ่งก็ควรแก่ตน แล้วก็ชอบใจ บางสิ่งเห็นว่าไม่ควรแก่ตน ตนก็ไม่ชอบใจ

 

คือเมื่อเราเห็นว่า นี่คือฉัน ฉันชอบ ฉันพอใจ นี่ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ชอบใจ หรือ บางอย่างก็ชอบ บางอย่างก็ไม่ชอบ ทั้งหมดนี่แหละ ที่เกิดขึ้นสลับไปมากับชีวิตของเรา พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า เป็นทิฐิ ทั้งหมด และเป็นโอกาสให้กิเลสนั้นเจริญงอกงาม เพราะถ้า"ฉันชอบ" แต่คนอื่น ไม่ชอบ หรือ "ฉันไม่ชอบ" แต่คนอื่นชอบ ก็เป็นเหตุของความไม่ยินดี ไม่พึงใจ เป็นเหตุของการวิวาท พิฆาต เบียดเบียนกัน

 

เมื่อผู้รู้พิจารณาเห็นแจ่มแจ้งและรู้จักความยึดมั่นถือมั่นอย่างถ่องแท้เช่นนี้ ก็จะละทิฐิ ไม่มีสิ่งที่ ฉัน"ชอบ" หรือ "ไม่ชอบ" ก็จะไม่มีทิฐิใด ความเห็นใดเกิดขึ้น ไม่เกิดข้อโต้แย้งใดๆ

 

จากนั้นทรงตรัสถึง กายนี้เป็นที่ประชุมของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เติบโตด้วยการบำรุงอาหารต่างๆ และกายนี้ก็สามารถแตกทำลาย เป็นธรรมดา ควรพิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

 

จากนั้นทรงแสดงถึงเวทนา ๓ อันมีใจความย่อว่า เมื่อเราเสวยสุขเวทนาในเวลาใด เวลานั้นก็ย่อมไม่ได้เสวยทุกขเวทนา

 

ยามเมื่อเสวยทุกขเวทนา เวลานั้นก็ย่อมไม่ได้เสวยสุขเวทนา และความรู้สึกที่เป็นกลางๆ ก็ไม่เกิดยามเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

เวทนาทั้งสามนั้น ผลัดเปลี่ยนกันเกิดในอารมณ์ของเรา เป็นของที่ไม่เที่ยง เป็นของที่มีการปรุงแต่ง อาศัยเหตุเป็นที่เกิด มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป และดับไปเป็นธรรมดา

 

เมื่อพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงในเวทนาดั่งนี้อย่างถ่องแท้ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย คลายจากความกำหนัดยินดี ดับหมดในการปรุงแต่งทั้งปวง

 

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมต่อ ฑีฆนขะ ในขณะนั้น ท่านพระสารีบุตรถวายงานพัดไปพลาง ฟังไปพลาง และพิจารณาตาม จิตก็หลุดพ้น เพราะรู้จริงและเข้าถึงธรรม จิตคลายความยึดมั่น บรรลุอรหัตถผลในเวลานั้น ส่วนฑีฆนขะ เพียงได้แต่ดวงตาเห็นธรรม

 

อรรถกถากล่าวว่า ท่านพระสารีบุตรเปรียบเสมือนบุคคลที่เห็นผู้อื่นกำลังบริโภคอาหาร แต่ตนเองบรรเทาความหิวลงได้ทั้งที่ไม่ได้บริโภคอาหารนั้นเลย

 

วันที่พระสารีบุตรบรรลุอรหัตถผล ในเวลาบ่ายมีการประชุมสงฆ์ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ที่ต่อมาคือ วันมาฆะบูชา ที่พระภิกษุ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และในที่ประชุมสงฆ์วันนั้น พระพุทธองค์ทรงสถาปนาพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ เป็นคู่อัครสาวก ตรัสว่า สาวกมีญานทั้งสองท่านนี้ ได้บำเพ็ญมาเต็มเปี่ยมแล้ว นับอสงไขยกับอีกแสนกัป

 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ และเราก็จะได้ผ่านถ้ำ สุกรขาตา ที่มีประวัติสำคัญยิ่งเกี่ยวพันกับอัครสาวกของพระพุทธองค์ เมื่อเรามีวาสนาได้มาถึงสถานที่นี้ ควรทบทวนในธรรมที่พระพุทธองค์แสดงต่อพระอัครสาวกทั้งสองจนได้บรรลุธรรม ให้เราได้ก้าวหน้าเหมือน ฑีฆนขะ ก็ยังดี มาทั้งทีแล้ว...สาธุ

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, คิชฌกูฎ, ราชคฤห์

 

เราเดินตามทางที่ในประวัติการขุดค้น กล่าวว่า ศรีอัศวินีกุมารทัตต์ ชาวเมืองพาริศาลในแคว้นเบงกอล ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้ค้นพบถนนสายที่ขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ และปัจจุบัน เราก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเดินขึ้นไม่ไหว เพราะทางขึ้นปัจจุบันที่ได้ถากถางแล้วมีขนาดกว้างเกือบสองเมตร แบ่งออกเป็นขั้นบันได ไม่ลาดไม่ชันจนหมดกำลังขาเสียก่อน 

 

อย่างไรก็ตาม พอเราจะหมดแรงก็ถึงจุดที่เล่ากันว่า เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นไว้ ณ ที่พระเจ้าพิมพิสารเสด็จลงจากรถพระที่นั่งแล้วประทับช้าง พาขึ้นเขาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า

 

ขณะที่เราจะเดินขึ้นต่อไป ลองแลขวา มองตรง ที่อยู่ตรงหน้าเรา คือ เขาเวปุลละ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง กองกระดูกของผู้เวียนว่ายตายเกิด ซ้ำๆซากๆ กองเท่าภูเขาหิน ทั้งน้ำตาแห่งความพลัดพราก ไหลหลากยิ่งกว่าสายน้ำสุรัสสวดี  

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ราชคฤห์, คิชฌกูฎ

 

มีคาถาบทหนึ่ง ได้จากหนังสือ เยือนอินเดีย  พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเล่าถึงตอนเสด็จขึ้นเขาคิชฌกูฏว่า ต้องท่องคาถาของท่านมหาทองยอด ว่า "สิเนราโค สิเนสิปปัง สิเนธัมมัง สิเนปัพพตมารุยหะ " ลองท่องไว้ภาวนาตอนขึ้นเขาทุกแห่งนะคะ

 

เขาคิชฌกูฏ คือหนึ่งในเบญจคีรี มีลักษณะเหมือนนกแร้ง หรือเป็นที่เกาะอาศัยของฝูงแร้งที่มาคอยกินซากศพโจรที่ถูกประหารและทิ้งลงเหว แต่อย่างไรก็ตาม ในบริเวณรอบเขาคิชฌกูฏ นับว่าเป็นที่สัปปายะของเหล่าพระอริยสาวก เป็นที่จำพรรษาของพระอรหันต์หลายองค์ เช่น พระสารีบุตร พระอานนท์ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธ และพระปุณณมันตานีบุตร และพระอุบาลี เป็นต้น

 

ตรงทางเดินขึ้น จุดที่เป็นถ้ำของพระโมคคัลลานะ จะเห็นหินก้อนใหญ่ตั้งอยู่เป็นสำคัญ เลยขึ้นไปอีกนิด ก็จะเห็นหินเรียงกันสามก้อน มีช่องเขาพอเดิน ซึ่งแต่เดิมมาสันนิฐานว่า จะเป็นทางขึ้นลงเพียงทางเดียวเท่านั้น และจุดนี้เองที่เชื่อกันว่า เป็นที่พระเทวทัตใช้ความพยายามกลิ้งก้อนหินปลงพระชนม์พระพุทธองค์ 

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ราชคฤห์, คิชฌกูฎ

 

ดูแล้วก็ผ่าน อย่าจดจำ จะได้ไม่ต้องรับกระแสร้าย มาฟังเรื่องนี้ดีกว่า

 

เรื่องเกิดที่ถ้ำของพระโมคคัลลานะ ที่แก้ข้อสงสัยว่าเปรตมีจริงหรือเปล่า

 

ครั้งหนึ่ง พระโมคคัลลานะ และพระลักขณะ ลงจากเขาจะไปบิณฑบาตร ระหว่างทางพระโมคคัลลานะได้ยิ้มออกมา พระลักขณะถามว่ายิ้มอะไร พระมหาเถระตอบว่า รอถึงวัดเวฬุวันก่อนเถอะ จะเล่าให้ฟัง ครั้นมาถึงวัด ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านก็เล่าว่า

 

"เมื่อผมลงจากเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นสุจิโลมเปรตผู้ชายมีขนเป็นเข็มเต็มตัวไปหมด เข็มนั้นลอยขึ้นไปบนอากาศ แล้วก็ตกลงมาทิ่มแทงตามตัว เปรตนั้นร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด"

 

ปรากฏว่าเหล่าภิกษุที่นั่งฟังอยู่ด้วย ตำหนิว่าท่านอวดอุตตริมนุสธรรม

 

นี่ สมัยพุทธกาลก็มีเรื่องที่ไม่เข้าใจ ตำหนิติเตียน ฟ้องผู้ใหญ่ เพราะครั้งนั้น พระภิกษุต่างก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสรับรองว่า

 

"กาลก่อนเราก็ได้เคยเห็นเช่นนี้ เปรตนั้นเคยเป็นนายสารถีอยู่ในนครราชคฤห์นี้เอง เป็นคนชอบพูดส่อเสียด ก้าวร้าวผู้อื่นอยู่เสมอ ด้วยวิบากกรรมนั้นแหละ เขาหมกไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี แล้วจึงมาเกิดเป็นเปรต โมคคัลลานะพูดความจริง ไม่ต้องอาบัติ"

 

ฟังแล้วก็กลัวจัง อย่าได้ปริปาก ยุยงส่อเสียด กระทบกระแทกแดกดัน หรือใช้วาจาทำร้ายสัตว์ ทรมานสัตว์ ให้เจ็บช้ำใจหรือไปก้าวร้าวกับบุคคลที่ไม่ควร เดี๋ยวจะกลายเป็นเปรต ไม่รู้ตอนที่เราส่งสายตามองขึ้นไป จะยังอยู่และมองเราด้วยหรือเปล่า เพราะเวลาของอบายภูมินั้นแป็ปเดียวในขณะที่เวลาในเมืองมนุษย์ผ่านไปสองพันห้าร้อยปีแล้ว

 

อันที่จริง เรื่องเปรตเขาคิชฌกูฏ มีเรืองเล่าอีกมากมาย รวบรวมได้เป็นเล่ม หากพวกเรามีความเพลินใจในการฟังก็จะเล่าเป็นเล่มให้ฟังในวันหลัง แต่จะแถมให้ ๒-๓ เรื่อง พอจดจำ ทุกครั้งที่พระเถระเล่าเรื่อง ก็จะเป็นตอนที่ลงจากเขาคิชฌกูฏ พร้อมด้วยพระลักขณะเพื่อบิณฑบาตร

 

เปรตเรื่องที่ ๑

 

พระโมคคัลลานะ ได้เห็นสัตว์ตัวหนึ่งชื่อ อชครเปรต สูงประมาณ ๒๕ โยชน์ ด้วยจักษุทิพย์ มีเปลวไฟลามตั้งแต่ศรีษะของเปรตไปถึงหาง จากหางไปถึงศรีษะ จากสีข้างทั้งสองรวมไปกลางตัว เมื่อไปเฝ้าพระศาสดา จึงทูลถามถึงบุพพกรรมของอชครเปรต พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าให้ฟังว่า

 

ในอดีตสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ มีเศรษฐีสุมัคละ ปูพื้นด้วยอิฐทองคำ สร้างวิหารถวายพระพุทธเจ้า เมื่อเศรษฐีไปเฝ้าพระศาสดาตอนเช้าตรู่ ได้พบโจรคนหนึ่งนอนเอาผ้ากาสาวะคลุมร่างตลอดตัว ทั้งเท้าก็เปื้อนโคลน จึงกล่าวตำหนิติเตียน ฝ่ายโจรได้ยินก็เปิดหน้าดู ก็ผูกอาฆาต ในเวลาต่อมา ก็เผานาของเศรษฐี ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอก ๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง ก็ยังแค้นเคืองผูกโกรธ ในที่สุดถึงกับเผาคันธกุฏีของพระศาสดา นี่ละคนพาล

 

ทั้งหมดนี้ เศรษฐีไม่โกรธเคืองแต่ประการใด แถมปรบมือดีใจที่จะได้สละทรัพย์ทำวิหารถวายได้อีก ฝ่ายโจรคราวนี้คิดฆ่าเศรษฐีด้วยความแค้นที่ทำอะไรไม่ได้ จึงเอากริชซ่อนไว้ที่ผ้านุ่ง เดินเตร่อยู่นอกวิหาร ๗ วัน รอคอยโอกาส

 

ฝ่ายเศรษฐีก็ให้ทานแด่พระบรมศาสาดาเป็นปรกติ ครบ ๗วันแล้ว ก็กราบทูลขอพรพระบรมศาสดา ด้วยการเล่าเหตุแห่งโจร และขอส่วนบุญแบ่งให้โจรผู้นั้น ฝ่ายโจรได้ยินคำขอพรดังนั้น เกิดความทุกข์คิดว่า เราหนอทำกรรมอะไรลงไป บุรุษนี้ไม่โกรธ ไม่แค้นเคือง กลับให้ส่วนบุญในทานนี้แก่เรา คิดดังนั้นจึงเดินเข้ามาหมอบแทบเท้าเศรษฐี ขอให้อดโทษ เศรษฐีเมื่อได้ทราบเหตุว่ามาจากใคร เป็นเรื่องราวใดแล้วจึงอดโทษให้

 

เมื่อโจรนั้นตายไป กรรมที่แม้ขอขมาแล้ว ก็ยังส่งผลให้ไปเกิดในอเวจีมหานรกสิ้นกาลนาน แล้วกลับมาเกิดเป็นอชครเปรตถูกไฟไหม้อยู่บนเขาคิชกูฎด้วยวิบากกรรมที่เหลือ ในพระสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

 

"ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาคนพาล ทำกรรมอันลามกอยู่ก็ไม่รู้ แต่ภายหลังเร่าร้อน เพราะกรรมที่ตนทำไว้ย่อมเป็นเช่นกับไฟไหม้ป่า ด้วยตนของตนเอง "

 

เมื่อเราได้รับการกระทำอันเดือดร้อนจากคนอื่น อย่าโกรธตอบ ศิษย์ของอาจารย์คงเข้าใจแล้วว่า ใครสักคนทำให้ใครสักคนที่ไม่เคยประทุษร้ายต่อตนเดือดร้อนแสนสาหัสด้วยกาย วาจา ครั้งแล้วครั้งเล่า จะมีผลกรรมอย่างไร น่ากลัวกว่าที่เราจะโต้ตอบ หลายเท่านัก

 

เปรตที่คิชกูฏก็ให้ข้อคิดแก่เราด้วยประการละฉะนี้

 

วันหนึ่งพระโมคคัลลานะลงจากเขาคิชกูฏกับพระลักขณะ ได้ทำอาการยิ้มโดยเปรตเป็นเหตุดังเดิม พระโมคคัลลานะ ได้กราบทูลพระพุทธองค์ ว่า

 

"ผมได้เห็นเปรตตนหนึ่ง สรีระของมันสูงประมาณ ๓ คาวุต สรีระนั้นคล้ายสรีระของมนุษย์ ส่วนศรีษะของมันอยู่ที่ปาก หมู่หนอนไหลออกจากปาก ผมคิดว่า เราไม่เคยเห็นสัตว์มีรูปร่างอย่างนี้ ครั้นเห็นเปรตตนนั้นแล้ว จึงทำอาการยิ้มแย้มให้ปรากฏ"

 

ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าบุพพกรรมของเปรตนั้น

 

ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ มีพระเถระ ๒ รูป อยู่ด้วยกันในอาวาสตำบลหนึ่งด้วยกัน รูปหนึ่งมีพรรษา ๖๐ และอีกรูปหนึ่งมีพรรษา ๕๙ ทั้งสองรูปต่างเป็นที่เลื่อมใสของเหล่าทายกและทายิกา วันหนึ่งมีพระธรรมกถึกมาอยู่ร่วมด้วย ก็เริ่มทำการยุยง ให้ทั้งสองแตกกัน โดยพูดใส่ความทางโน้นทีทางนี้ที ในที่สุด พระเถระทั้งสองรูปก็แยกทางกันเดินคนละทิศ ฝ่ายพระธรรมกถึกก็อยู่ที่นั้นแทน  รับลาภสักการะแทนพระเถระสองรูป มนุษย์ทั้งหลายไม่เห็นพระเถระทั้งสองรูป จึงถามเนื้อความ แล้วรู้สึกโกรธเคืองพระธรรมกถึกเป็นกำลัง ครั้นเวลาล่วงไปเป็นนาน พระเถระได้กลับมาพบกัน พูดจาแสดงโทษแก่กัน แล้วจึงเข้าใจเรื่องราว อยู่ร่วมกันดังเดิม และขับไล่พระธรรมกถึก ต้องออกไปบำเพ็ญเพียรต่ออีกเป็นเวลานาน ปรากฏว่าบุญนั้นไม่อาจหักล้างการยุยงให้สงฆ์แตกกันได้ เมื่อเคลื่อนจากอัตภาพนั้น จึงไปบังเกิดในอเวจี ถูกไฟไหม้สิ้นพุทธันดรหนึ่ง แล้วกลับมาเสวยทุกข์เป็นเปรตที่เขาคิชกูฏนี้

 

เอาเป็นว่า เราคงได้ฟังเรื่อง เปรตๆ เพียงพอแล้ว

 

ในการเดินท่องเขาคิชฌกูฏ อย่างน้อย ชาวโลกก็รู้จักเปรตเป็นครั้งแรกที่เขาคิชฌกูฏนี้

 

 

พระบรมศาสดาประทับอยู่บนยอดเขาคิชกูฏ ซึ่งเราจะได้เห็นที่ประทับ คันธกุฏีคิชฌกูฏ และ สถานที่พักของพระอานนท์ และ ณ ยอดเขานี้ก็เป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ สลับกับเวฬุวันมหาวิหาร ทุกครั้งที่เสด็จสู่ราชคฤห์ และบนยอดเขานี้เอง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมหลายพระสูตร เช่น มาฆะสูตร ธัมมิกสูตร มหาสาโรปมสูตร อาฏานาฏิยสูตร และ อปริหานิยธรรม ธัมมสูตร เป็นต้น 

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, คิชกูฎ, คันธกุฎี

 

เมื่อเรามาถึงที่นี้ ขอให้น้อมระลึกเหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า สถานที่นี้มีพลังของพระรัตนตรัย ดึงดูดให้จิตใจมีศรัทธาและเชื่อมั่นที่จะดำเนินตามพระธรรมคำสอนของพระองค์ ใครไม่ได้มาเสียดายแย่เลย

 

มาถึงแล้ว กราบพระพุทธเจ้าแล้วทำทักษิณาวัตร จงกรมไปด้วย อาราธนาบารมีของพระองค์ให้เราได้เห็นธรรมดังที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในอดีต

 

ที่นี้ควรนำบทสวดมนต์บูชาพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ เป็นการเจริญพุทธานุสติ ณ สถานที่สำคัญเช่นนี้ หลังจากที่สวดแล้ว ก็อธิฐานจิตว่า

 

" ด้วยสัจจะ ด้วยศีล และด้วยแรงแห่งวิริยะ ขันติ ที่ได้มาบูชาพุทธคุณ ณ เขาคิชกูฏ ขออำนาจแห่งเมตตาของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ คุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ให้ได้รู้ธรรม และขอความเป็นผู้ไม่มีโรคจงปรากฏแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อความสงบในการปฏิบัติให้เข้าถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันเทอญ"

 

ณ คันธกูฏี คิชฌกูฏ นี้ ในพรรษาที่สาม ครั้งนั้นพวกเดียรถีย์ในพระนครมักประชุมกันกล่าวธรรมอยู่เสมอ ชนทั้งหลายก็พากันไปฟังธรรม พระเจ้าพิมพิสารปรารถนาให้พระคุณเจ้าทั้งหลายกล่าวธรรม แสดงธรรมของพระพุทธองค์ให้ชนทั้งหลายได้ฟังบ้าง จึงทูลขอให้พระสงฆ์ประชุม พระพุทธองค์ทรงอนุญาต วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ แปดค่ำแห่งปักษ์ ให้เป็นวันแสดงธรรมแห่งพระสงฆ์ เป็นการประกาศให้มีวันพระเป็นประจำทุกๆเดือนนับแต่นั้น และกำหนดให้พระสงฆ์ร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า ๑๐ รูป

 

ณ ที่ประทับแห่งนี้ ท้าวสักกะเทวราช หรือ ที่เรารู้จักง่ายๆว่า พระอินทร์ ได้เข้าไปทูลถามปัญหาว่า เมื่อมนุษย์ทั้งหลายปรารถนาบุญ ทานใดที่ให้แล้วมีผลมาก พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "ทานที่ให้แก่อริยสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ซื่อตรง ประกอบด้วยปัญญาและศีล ทานเช่นนี้มีผลมาก มีอานิสงค์มาก"

 

ตรัส ปาสาณสูตร ที่ภูเขาคิชฌกูฏ กับพญามารได้กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ไปใกล้ที่ประทับของพระพุทธองค์ ตอนนั้นเป็นคืนเดือนมืด ฝนกำลังตก พระพุทธองค์ตรัสว่า "แม้ว่าท่านจะกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏนี้ทั้งหมดสิ้น ความหวั่นไหวก็จะไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นโดยชอบ " มารก็หลีกไป

 

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร ส่ง โสณะเศรษฐีบุตร พร้อมกับชนชาวอังคะ ไปเฝ้าพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ชนทั้งหมดได้บรรลุธรรม ณ ที่คันธกูฏีคิชฌกูฏ ได้ขอแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนตรัย ส่วนโสณเศรษฐีบุตรได้ขอบรรพชาอุปสมบท แล้วไปพำนักที่ป่าสีตวัน ท่านได้ทำความเพียรเดินจงกรมจนเท้าแตก ในอรรถกถากล่าวว่า สถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิตดุจสถานที่ฆ่าโค พระโสณะคิดว่า ในบรรดาสาวกทั้งหมด ท่านก็เป็นรูปหนึ่งที่ทำความเพียรอย่างหนัก แต่จิตก็ยังไม่หลุดพ้น ท่านคิดว่า สมบัติของท่านก็ยังมีอยู่ จิตคิดลาสิกขาไปรักษาสมบัตินั้น พระศาสดาทรงทราบความกังวลใจจึงเสด็จจากเขาคิชฌกูฏไปปรากฏตรงหน้าพระโสณะ ตรัสถึงการดีดพิณว่า

 

"โสณะ เมื่อเธออยู่ครองเรือน เธอเป็นผู้ฉลาดในการดีดพิณ เมื่อใดที่สายพิณตึงไป หย่อนไป หรือไม่ตึงไม่หย่อน เธอย่อมรู้ในเสียงนั้นฉันใด ความเพียรของเธอที่มากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ดูก่อนโสณะ เธอจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ ตั้งกายให้สมำเสมอ และถือนิมิตรในความสม่ำเสมอ "

 

ธรรมในข้อนี้ทรงตรัสถึง "ความสม่ำเสมอ" ไม่มากหรือน้อยเกินไป สามารถทำให้บรรลุธรรมได้ ไม่นานท่านพระโสณะโกลิวิสเถระ ก็ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย และได้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระคันธกุฏีคิชฌกูฏนี้

 

เรื่องราวของพระโสณะโกลิวิสเถระ ยังมีอีกยาวนับแต่อานิสงค์ในอดีตชาติที่ท่านถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ทำให้มีฝ่ามือและฝ่าเท้าอันอ่อนนุ่ม ผิวพรรณขาวสะอาด เป็นที่เลื่องลือถึงพระเจ้าพิมพิสารต้องขอดูด้วยพระองค์เอง เรื่องราวรายละเอียดมีอยู่ในประวัติของพระอรหันต์ พุทธสาวก

 

พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ ทรงได้ตรัสพระสูตร อาฏานาฏิยสูตร แก่ภิกษุสาวกสำหรับเป็นเครื่องป้องกันภัยจากอมนุษย์ ตามคำกราบทูลของท้าวเวสวัณมหาราช

 

เราได้มากราบถึงคันธกุฏีนี้ น้อมระลึกถึงเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นบนเขาคิชฌกูฏ เสมือนหนึ่งได้ฟังธรรมจากพระองค์ เราพึงตั้งจิตน้อมระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยความตั้งใจ

 

 

น่าจะสวดพระสูตร อาฏานาฏิยสูตรนี้ด้วย ดีไหมคะ