ฮวงจุ้ยพื้นฐาน

 

ผังเมืองโบราณกับการจัดบ้าน
11 ม.ค. 2554

 

    ฮวงจุ้ยโบราณ เกี่ยวกับการวางผังเมืองโบราณหรือการตั้งเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ น่าสนใจมาก เท่าที่ได้ศึกษามา อย่างฮวงจุ้ยก่อนที่จะตั้งเมืองใหญ่ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นเลยก่อนที่จะตั้งเมืองหลวง อันดับแรก เขาจะดูบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยดอกไม้และผลไม้ ดินดีที่สุด อย่างสมัยก่อนมี 9 มณฑล จะหาดินที่ดีที่สุดเพื่อที่จะเลือกเป็นเมืองหลวง ข้อต่อมา จะต้องมีเครื่องขวางกั้นตามธรรมชาติที่คอยปกป้อง ส่วนมากจะเป็นแนวเขาและแนวแม่น้ำ และก็เป็นบริเวณที่ที่ตีฟ้าและดินให้แตกยาก คือเป็นบริเวณที่สภาพธรรมชาติไม่แปรปรวน ทำให้อำนาจแผ่ขยายถึง 6 ทิศแล้วเมืองขยายได้

 

 

ซีอาน, ฉางอาน, 3 ประตู 9 ช่อง, ฮวงจุ้ยสร้างเมือง, ฮวงจุ้ยพิชัยสงคราม

นอกจากนี้แล้วยังสามารถทำถนนหนทางต่างๆ ให้เป็นศูนย์กลางของอำนาจได้ หมายความว่า ถนนทุกสายสามารถเข้าเมืองนี้ได้หมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่เขากำหนดมา เขากำหนดจากการอยู่กับธรรมชาติ แล้วเรียนรู้ธรรมชาติว่าตรงไหนดีที่สุด เขาก็จะเลือกทำเลแบบนี้ ซึ่งเราก็จะสามารถเลือกทำเลหมู่บ้านและที่อยู่อาศัยได้ในแบบเดียวกัน เมื่อเลือกทำเลที่เหมาะสมแล้ว ก็จะมีการจัดระเบียบแล้วก็ลำดับของเมืองต่างๆ ที่อยู่รายรอบ แล้วก็คำนึงถึงสัญลักษณ์เป็นสำคัญ  เขาก็จะเชื่อมโยงการวางผังเมืองให้เข้ากับศิลปวัฒนธรรม คือ ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา โหราศาสตร์ คือในเรื่องของดวงดาว เพราะฉะนั้นพิชัยสงคราม โหราศาสตร์ในการถอดดวงดาวออกมาเป็นพื้นที่ กับการใช้ฮวงจุ้ยเกี่ยวกับลมเกี่ยวกับน้ำใช้กันมานานแล้ว คือรูปร่างของเมืองหลวงจะค่อยๆ ลำดับ จริงๆแล้วศาสตร์ของการวางเมืองหลวงมาจากที่จีนก่อน เพราะว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ แล้วก็เป็นการรวบรวมอาณาจักรหรือป้องกันราชอาณาจักร  เพราะฉะนั้น ภูมิประเทศ ธรรมชาติ หรือแนวทางการโคจรของดวงดาว ช่วงไหนดีหรือไม่ดี ชาวจีนนั้นจะต้องใคร่ครวญอยู่เสมอ โดยเขาถือว่าฮ่องเต้เป็นผู้เชื่อมโยงดินและฟ้าเข้าด้วยกัน ฟ้าก็คือโหราศาสตร์ดวงดาว  ดินก็คือฮวงจุ้ยนั่นเอง เพราะฉะนั้นฟ้าประทาน ดินบันดาล ฮ่องเต้คือผู้ประสาน ประสานเข้าด้วยกัน  เพราะฉะนั้นฮ่องเต้จะเป็นผู้เลือกและก็จะอยู่ในใจกลางที่ดีที่สุด และก็อยู่จุดศูนย์กลางของจีนที่เป็นอาณาจักรกลางแล้วก็เผยแพร่ทั่วไปหมด
 


เพราะฉะนั้น เมืองหลวงจะแบ่งเป็นสองลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรกจะเกิดจากอำนาจของรูปแบบในธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่เราเรียกว่า ฮวงจุ้ย  ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในดิน ซึ่งจะเห็นได้จากเมืองหังโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์ซ้องของจีน ซึ่งตอนนั้นหนีร่นจากภาคเหนือมา เมืองนี้จะมีลักษณะกลมกลืนไปกับทิวทัศน์โดยรอบ คือมีทะเลสาบ มีภูเขา คือมีธรรมชาติ เขาเลือกตอนที่เขาถอยหนีมาจากพวกกิม แล้ววางผังเมืองต่างๆ นอกจากจะมองเห็นถึงสภาพการป้องกันทางธรรมชาติแล้ว ยังสามารถที่จะเห็นพลังอันตรายที่จะมีอยู่ธรรมชาติด้วย  เช่นในสมัยราชวงศ์ฮั่น เมืองหังโจวจะมีน้ำท่วมเป็นประจำ เพราะอยู่ปากแม่น้ำที่กำลังจะไหลลงสู่ทะเล ซึ่งต่อมาปรากฏว่ากลายเป็นทะเลสาบทางทิศตะวันตกของเมืองจริงๆ  คือกลายเป็นทะเลสาบไป  เพราะฉะนั้นผลกระทบของเมืองนี้ มักจะเป็นเหยื่อของกระแสน้ำในช่วงที่พระอาทิตย์โคจรมาสู่เส้นศูนย์สูตรพอดี คือช่วงเมษายน ไม่ว่าจะเป็นกวีอะไรต่างๆ จะแต่งเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติหรือความงามธรรมชาติควบคู่กันไปเสมอ หรือเป็นที่มาที่ไปของการสังเกตธรรมชาติ เพราะว่าจะสร้างเขื่อนต่างๆ มาโดยตลอด  เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเลือกเมือง เขาจะต้องเห็นภัยอันตรายของเมืองนั้นและก็สร้างป้องกันไว้ด้วย ชาวจีนมีลักษณะแบบนี้
 


ที่นี้ในเชิงสัญลักษณ์ก็แพร่หลายในเมืองใหญ่ๆ ก็มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยราชวงศ์หมิงได้วางผังเมืองต้องห้าม คือกรุงปักกิ่ง เป็นรูปที่มีลักษณะเหมือนร่างกายของคนเรา คืออาคารและหอต่างๆ จะอยู่ตำแหน่งเดียวกับอวัยวะที่สำคัญของคนเรา นี่เรียกว่าเป็นเชิงสัญลักษณ์

 



เพราะฉะนั้น เชิงสัญลักษณ์เราก็เรียนเหมือนกัน เช่นสมมุติว่า ที่ดินตรงนี้มีรูปเหมือนไก่ และเราเกิดปีที่ชงกันคือปีเถาะ แล้วเราไปอยู่ตรงนั้น  จะเกิดผลอย่างไรบ้าง อันนี้คือในรูปเชิงสัญลักษณ์ เราเคยเรียนกันมาแล้วคือดูรู้ที่ดินในเชิงสัญลักษณ์แล้วก็แปลออกมา

 



ถ้าเราพูดถึงทำเลการสร้างเมืองตั้งแต่สมัยจักรพรรดิอึ้งตี่ ได้ค้นพบกระดองเต่า ได้มีความเชื่อว่าผังเมืองต้องมีลักษณะแบบ 3 ประตู 9 ช่อง แล้วก็เป็นรูปสี่เหลื่อมจัตุรัส เขาถือว่าโลกหนักแน่นด้วยแผ่นดิน แผ่นดินจะต้องหนักแน่นทุกมุมไม่มีขาดไม่มีหายไม่ที่แหว่ง เมืองจะต้องมีถนนตัดกันในแนวเหนือใต้ และก็แนวตะวันออกตะวันตก ซึ่งลักษณะเมืองอันนี้ก็คือเมืองฉางอาน ก็เหมือนฝรั่งที่เข้ามาอย่างมาร์โคโปโล เขาบอกว่าการวางผังเมืองของจีนเรียกว่ากระดานหมากรุก คือเหมือนกันเลย

 



เมืองซีอานที่สร้างถูกตามหลักของฮวงจุ้ย และญี่ปุ่นได้นำมาเลียนแบบสร้างเมืองของเขา คือ เมืองเกียวโตและนารา เป็นฮวงจุ้ยที่ดีของฉางอาน หรือซีอาน คือมีการวางตลาดไว้ทางด้านเหนือของพระราชวัง ตรงกลางจะเป็นหอระฆัง ลักษณะนี้จะทำให้เมืองมีชื่อเสียง และการวางศาลเจ้าต่างๆ ล้วนจัดไว้ในทำเลดีหมดเลย จะเลือกที่ที่เป็นสามเหลี่ยม วางศาลเจ้าเพราะถือว่าเป็นที่ที่มีหยินแรง  อีกข้อหนึ่ง กำแพงเป็นที่ที่สำคัญที่สุดของเมืองหลวง ถ้าเปรียบเทียบกับบ้านเราก็คือรั้ว  ทางทิศใต้ของกำแพงใหญ่ จะมีกำแพงเล็กๆ และก็มีตัวกำแพงแบ่งเป็นช่องๆ ถ้านับดูแล้วจะมีอยู่ 9 ช่อง 9 ช่องนี้จะแทนทิศใต้ ส่วน 3 ประตูหลักใหญ่ๆ จะแทนทิศตะวันออก ซึ่งทิศตะวันออกกับทิศใต้ก็ยังถือว่าเป็นมังกรซึ่งกันและกัน  เพราะฉะนั้นเขาถือว่ากำแพงเมืองเป็นกำแพงเมืองมังกร 3 ประตู 9 ช่อง ซึ่งลูกศิษย์มาถามกันว่าปรับใช้กันได้หรือไม่ คือลองหาร 3 ตัดกันแล้วก็คือ 1 ต่อ 3 ก็เลยเป็นกฎเกณฑ์ที่ว่า 1 ประตูต่อหน้าต่าง 3 บาน ก็มาจาก 3 ประตู 9 ช่อง  ย่อส่วนลงมาเป็นบ้าน

 



ที่นี้กำแพงก็เหมือนเป็นตัวที่ใช้แบ่งเขตแดนระหว่างเมืองแต่ละเมืองเอาไว้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ปลูกสร้างลงไปในดิน เป็นการปลูกปัก เป็นฮวงจุ้ย   ในสมัยราชวงศ์ชิง ชาวตะวันตกเคยให้ชาวจีนเปิดกำแพงเมืองปักกิ่งทางด้านทิศใต้ และก็เปิดทางรถไฟปักกิ่งผ่านในตอนนั้น ชาวจีนไม่ยอม อ้างว่าเมืองปักกิ่งมีรูปร่างเหมือนมังกร ประตูกลางที่อยู่ทางทิศใต้เปรียบเสมียนปาก ประตูปีกทั้งสองข้างคือดวงตา ภายหลังฝ่ายเสนอคือทางตะวันตกได้รับชัยชนะ ฝ่ายที่แพ้ไปก็ได้เตือนว่า เลือดของมังกรนั้นคือเงินทองจะไหลทะลักออกไป อันนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์

 



กรุงเทพฯ เราไม่ได้เก็บกักพลังงานในลักษณะของฮวงจุ้ย ปัจจัยที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือภูเขา จะเปรียบเสมือนเกราะดินที่มีขนาดใหญ่โต ที่จะปกป้องเมืองจากพายุหรือพวกที่ป่าเถื่อน หรือคนข้างนอกที่จะมารุกราน ถ้าเปรียบเทียบเหมือนกับบ้านเรา เราอยู่กันเป็นหมู่ แล้วก็มีตึกตรงนั้นข้างหน้าข้างหลัง ก็เปรียบเหมือนภูเขาที่กำบังลมที่แรงคือเรื่องราวต่างๆ จากการสร้างเมืองหลวงที่กลายมาเป็นศาสตร์ ปรับประยุกต์ย่อส่วนลงมา เป็นบ้านเรือนของเราเอง หรือว่าเป็นหมูบ้านในการที่จะเลือกทำเลที่อยู่อาศัย ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ ชาวจีนเขาจะเลือกที่ตั้งชัยภูมิที่เหมาะสม แล้วก็เป็นลักษณะสภาพแวดล้อม แล้วก็ไปผนวกกับดวงดาวอีกด้วย แล้วก็ช่วงจังหวะเวลา เราถึงเรียกว่าทั้งฟ้าและดิน ก็คือฟ้าประทาน ดินบันดาล นั่นเอง ตัวประสานก็คือตัวบุคคล ที่จะจัดสภาพแวดล้อมให้เราอยู่ ให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ กับลักษณะของธรรมชาติ กับดวงดาว และกับตัวเราเอง
 




 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
  • สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 70 สิ่งประดิษฐ์ของชาวจีนโบราณ โดย อาจารย์แอน
  • สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 59 นโยบายการปกครองประเทศของราชวงศ์ฮั่น โดย อาจารย์แอน
  • ฮวงจุ้ยกับธุรกิจ ตอนที่ ๖
  • ตำนานฮวงจุ้ยในประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 4
  • ตำนานฮวงจุ้ยในประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 3
  • เปรียบเทียบทำเล ๓ ยุค (สุโขทัย-อยุธยา-รัตนโกสินทร์)
  • พิชัยสงครามกับสามก๊ก ตอนที่ ๓/๔ - ตั๋งโต๊ะย้ายเมืองหลวง