ฮวงจุ้ยพื้นฐาน

 

ตำนานฮวงจุ้ยในประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 5
26 มิ.ย. 2558

 

ในประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ขงจื๊อ เป็นผู้เขียน "คัมภีร์อี้จิง" ซึ่งเกี่ยวกับ ทำเล ดิน ฟ้า อากาศ ที่อยู่อาศัย และการพยากรณ์ โดยหลักฐานเก่าแก่ที่อ้างอิงถึงการพยากรณ์นั้น มีมาตั้งแต่สมัยห้าฮ่องเต้ สามราชวงศ์ คือราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซาง และราชวงศ์โจว  มีการนำเอากระดองเต่ามาทาน้ำหมึกเผาไฟ  เมื่อแห้งก็จะเห็นเป็นรอบแตกเป็นริ้วรอยเห็นเป็นรหัสของทิศทั้งแปดบนกระดองเต่า

 

 

อี้จิง, โป๊ยยี่สี่เถียว, เหลาจื๊อ,เต๋าเต๋อจิง, เต๋าเต็กเก็ง

 

ตั้งแต่ ๒,๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล (ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีผ่านมากแล้ว) จนกระทั่งมาถึง ๓๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล ก็มีการทำนายโชคชะตาที่พัฒนาขึ้น มีการเสี่ยงทายจากกระดองเต่า เหรียญสามอัน และมีการวิวัฒนาการมาเป็นกระดูกวัวที่ค้นพบได้ถึง ๑,๕๐๐ ชิ้น การเขียนตัวอักษร การโยนรากไม้ไผ่ผ่าซีก คือการนำรากไม้ไผ่ ๒ ชิ้นแทนหยินหยางและโยนเพื่อเสี่ยงทาย จนในที่สุดก็วิวัฒนาการมาเป็นไม้เซียมซี  สำหรับการเสี่ยงทายแบบอี้จิงนั้น หากเป็นวัดของเจ้าแม่กวนอิมก็จะมีคำทำนายถึง ๑๐๐ ข้อ บางวัดก็จะมีคำทำนายตามคัมภีร์อี้จิงคือ เพียงจำนวน ๘๔ เท่านั้น


 

 อี้จิง, โป๊ยยี่สี่เถียว, เหลาจื๊อ,เต๋าเต๋อจิง, เต๋าเต็กเก็ง 

 

คัมภีร์อี้จิงได้เขียนถึงสรรพสิ่งในธรรมชาติ ต้นไม้คือธาตุไม้ ภูเขารูปกลมเป็นธาตุทอง ทรงเหลี่ยมคือธาตุดิน เขาทอดตัวแนวยาวคือธาตุไม้ เขาลักษณะเป็นคลื่น คือธาตุน้ำ ลักษณะแหลมคือธาตุไฟ รวมเป็นห้าธาตุในธรรมชาติ แม้ตัวของคนเราเองก็มีห้าธาตุเหมือนกัน การพยากรณ์เกี่ยวกับธาตุในตัวเรานั้นจะต้องใช้อักษรถึง ๘ ตัว  แบ่งเป็น ๔ แถว (โป๊ยยี่ สี่เถียว)  การพยากรณ์นี้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาจีนก็สามารถเรียนรู้ตัวภาษาจีน ๒๒ ตัวเพื่ออ่านธาตุได้ ธาตุของฐานปีหมายถึงสภาพแวดล้อม ธาตุของฐานเดือนก็หมายถึงพ่อแม่หรือสภาพแวดล้อมที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกหรือฐานะดั้งเดิม ธาตุของฐานวันเกิดตัวเองหมายถึงคู่สมรส ธาตุของฐานยามคือบุตรหลานบริวาร การแก้ไขธาตุที่ไม่สมดุลย์ในร่างกายก็นำไปสู่ศาสตร์แห่งการตั้งชื่อเพื่อแก้ไขธาตุให้สมบูรณ์ 

ผู้ที่จะศึกษาฮวงจุ้ยนั้น ควรที่จะได้ศึกษาคัมภีร์อิ้จิงก่อนที่จะไปถึงการศึกษาเรื่องทำเล  นอกจากอี้จิงแล้วยังต้องสัมพันธ์ไปถึงเต๋าอีกด้วย เพื่อเข้าใจวิถีของธรรมชาติ เมื่อแตกฉานแล้วจึงมาถึงการเรียนรู้เรื่องทำเล ดวงจีน จนถึงศาสตร์การแพทย์ต่อไป

ในการเสี่ยงทายนั้น อิ้จิงมีการเขียนอ้างอิงคำทำนาย คือใช้ธาตุในการเสี่ยงทาย และใช้มากที่สุดในสมัยราชวงศ์ถัง ชาวจีนนั้นมีความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว  อักษรจีนที่วิวัฒนาการมาจากอักษรภาพนั้นอธิบายธรรมชาติได้ดีที่สุด  เช่นคำว่า ”ต้า” ซึ่งหมายถึงความยิ่งใหญ่นั้น มาจากอักษรที่หมายถึงคนและมีขีดที่หมายถึงหมวก คือคนที่มีเครื่องทรง ส่วนพลังของการเขียนตัวอักษรจีนคือจากซ้ายไปขวา หมายถึงพลังของโลกที่หมุนจากทางซ้ายไปทางขวา

 

ในแง่ของประวัติศาสตร์ รัฐฉินนั้นมีนักปราชญ์อยู่ผู้หนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงดังนี้ ในสมัยชุนชิวนั้นมีลัทธิขงจื๊อเกิดขึ้นซึ่งเป็นที่มาของคัมภีร์อี้จิง และในขณะเดียวกันก็ก่อกำเนิดลัทธิเต๋า ซึ่งเป็นกระแสความคิดใกล้เคียงกับลัทธิขงจื๊อทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การเมือง รัฐศาสตร์ รัฐประสาสนศาสตร์ พิชัยสงครามการยุทธ จนเป็นที่มาของฮวงจุ้ยคือเกี่ยวกับเรื่องธาตุตามธรรมชาติ ลัทธิเต๋านั้นพยายามจะไม่ไปยุ่งกับการเมืองและสังคมมากเท่ากับของขงจื๊อ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าลัทธิของขงจื๊อจะเกี่ยวพันกับประเพณีเป็นส่วนใหญ่

 

 อี้จิง, โป๊ยยี่สี่เถียว, เหลาจื๊อ,เต๋าเต๋อจิง, เต๋าเต็กเก็ง 

 

ปรมาจารย์ของลัทธิเต๋าได้แก่ เหลาจื๊อ ซึ่งแปลว่าอาจารย์ผู้เฒ่า เหลาจื๊อนั้นเป็นคนยุคเดียวกับขงจี๊อ แต่ว่ามีอาวุโสกว่า เป็นชาวเหอหนาน (บางตำนานว่าเป็นชาวรัฐฉู่) เคยรับราชการในพระราชสำนักของกษัตริย์ราชวงศ์โจวที่เมืองลั่วหยาง เป็นพนักงานที่หอสมุด  ต่อมาเกิดความเบื่อหน่ายต่อความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมและฐานะที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ของกษัตริย์ ของคนรอบตัว และแคว้นต่าง ๆ จึงออกเดินทางไปทางด่านหานกู่ทางด้านทิศตะวันตก และหายสาบสูญไป หลังจากนั้นเมื่อมีผู้พบตัวอีกครั้ง จึงได้มีการขอร้องให้เหลาจื้อเขียนถึงคติธรรมต่างๆ ไว้
 


เหลาจื๊อจึงได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง มีความยาวห้าพันคำ มีชื่อว่า “เต๋าเต๋อจิง” หรือ “เต๋าเต๊กเก็ง” เป็นคัมภีร์มรรคหรือทางแห่งธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าแม้เป็นผู้ยิ่งใหญ่สักเท่าใด ก็ไม่สามารถชนะธรรมชาติได้ ควรปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติ ต้องรู้จักรอคอย เฝ้าดูธรรมชาติและความเป็นไปของธรรมชาติ คติเหล่านี้สามารถปรับประยุกต์เข้ามาใช้กับชีวิต และการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้ และปัญหาบางอย่างนั้นก็แก้ตัวเองได้โดยวิถีทางธรรมชาติ
 


ดังนั้นหากเป็นการฝืนธรรมชาติแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้เลย จะเห็นว่าคำสอนของเหลาจื้อกับขงจื๊อนั้นไปคนละทาง แต่คัมภีร์เต๋าและขงจื๊อนั้นกลับไปในทางเดียวกัน ในสมัยนั้นความคิดแบบเต๋านั้นจะได้รับความนิยมมากเพราะตรงกับการใช้ชีวิตของคนสมัยนั้นอยู่แล้ว และจากการที่เหลาจื๊อได้ขึ้นเขาและหายตัวไปเป็นเวลานานกว่าจะมีผู้พบเห็นอีกครั้ง ก็เปรียบเหมือนกับเซียนที่ซ่อนตัวอยู่บนภูเขา  ซึ่งเป็นที่มาของปรมาจารย์ทางด้านฮวงจุ้ยที่ผู้ที่ศึกษาวิชาฮวงจุ้ยให้ความเคารพคือ ไท้เสียงเล่ากุน นั่นเอง