ฮวงจุ้ยพื้นฐาน

 

ตำนานฮวงจุ้ยในประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 3
20 มิ.ย. 2558

 

 

เจียงกุยแหย, เจียงไท่กง, โจวหวินหวาง, ปี่ก้าน

 

เรื่องของฮวงจุ้ยนั้น เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเริ่มประวัติศาสตร์จีน และวิชาฮวงจุ้ย จะตกอยู่กับเหล่ากุนซือผู้เป็นอัจฉริยะในอดีตทั้งสิ้น  นับได้ตั้งแต่สมัยก่อนยุคชุนชิว  คือสมัยของ เจียงกุยแหย ซึ่งเข้ารับราชการเพื่อช่วย โจวเหวินหวาง ล้มล้างราชวงศ์ซาง ซึ่งปกครองโดยโจ้วอ๋อง  เมื่อได้ตัวเจียงกุยแหยมาแล้ว ก็แต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งไท่กงเรียกว่า  เจียงไท่กง ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านโหราศาสตร์ ชัยภูมิ  ตลอดจนเรื่องของการปกครอง  ดังนั้นโจวเหวินหวางจึงได้ขอคำปรึกษาเพื่อทำให้อาณาจักรเล็ก ๆ ของตนนั้นได้เป็นปึกแผ่น เพื่อที่จะสามารถล้มล้างซางให้ได้
                

เจียงไท่กง มีข้อสรุปว่า “องค์กษัตริย์พึงยกย่องบุคคลที่เพียบพร้อมทั้งคุณธรรมและความสามารถ  มิพึงใช้บุคคลที่ไร้คุณธรรมและความสามารถ  พึงใช้บุคคลที่ซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือ ปลดผู้ที่คิดคตหลอกลวง  ห้ามอย่างเข้มงวดต่อการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ  ไม่ส่งเสริมค่านิยมฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย”  นี้คือหลักการแต่โบราณที่ทำให้บ้านเมืองมีอายุยืนยาวถึง 800 ปี
                 

ในคืนนั้น โจวเหวินหวางมีคำถามว่า  ทำไมกษัตริย์โดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจ้วอ๋องนั้น  มักไม่ได้บุคคลที่เหมาะสมต่อหน้าที่การงาน  ต้องเปลี่ยนกันอยู่บ่อย ๆ ฆ่าทิ้งเสียก็มี  (ในปีนั้น เป็นปีที่เริ่มมีกำเนิดของปี่ก้าน หรือ ไฉ่สิ่งเอี๊ย    นั่นเอง โดยปี่ก้านถูกโจ้วอ๋องสังหารด้วยการควักหัวใจ   โจ้วอ๋องนั้นมักเก็บคนชั่วไว้และฆ่าคนดี)  เจียงไท่กงจึงตอบว่า  “เนื่องจากองค์กษัตริย์จะเห็นว่า ผู้ที่คนทั่วไปชมเชยมักเป็นคนดี  เป็นผู้ประเสริฐ  และบุคคลที่ถูกผู้คนว่ากล่าว ไม่เป็นผู้ประเสริฐ”

 

ในความหมายคือ ฟังความจากผู้อื่น  ทำให้มีการใส่ร้ายป้ายสีกันได้ง่าย   ดังนั้นผู้ที่มีพวกพ้องมากก็จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง  ผู้ที่มีพวกพ้องน้อยก็จะถูกขับไล่   พวกทรงอิทธิพลอันเลวร้ายก็จะตั้งกลุ่มหาผลประโยชน์   คนดีไม่มีโอกาสได้ทำงาน ขุนนางที่ดีต้องถูกกลั่นแกล้ง  ถูกประหารชีวิต พวกกังฉินก็ใช้การหลอกลวง ให้ได้มาซึ่งยศศักดิ์  บ้านเมืองก็เกิดความระส่ำระสาย   อาณาจักรก็จะประสบความหายนะ

 

โจวเหวินหวางได้ฟังแล้วมิใคร่สบายใจ  จึงถามแก่เจียงไท่กงว่า ทำอย่างไรจึงจะตั้งอยู่ในสติสัมปชัญญะและไม่ประมาท  เพื่อการปกครองแผ่นดินได้อย่างยั่งยืน  เจียงไท่กงได้ให้คำแนะนำว่า  “บุคคลที่มิได้รู้ตัวว่าหายนะกำลังคืบคลานมา   ตัณหาราคะไม่มีที่สิ้นสุด หลงว่ามิได้เผชิญภัยพิบัติ   คิดว่าบ้านเมืองเจริญแล้ว ไม่ได้เตรียมพร้อมกับภัยจากสงคราม ภัยจากความยากจนของราษฎร ภัยจากธรรมชาติ  เหล่านี้จะทำให้อาณาจักรล่มสลาย”  โจวเหวินหวางได้ฟังจึงหมดความสงสัย  (หลักที่แนะนำนี้ คือการประสานบุคคล  เมื่อได้ทำเลที่ดีแล้ว ได้คนดีมีฝีมือแล้ว  ก็ต้องประสานบุคคลกับผู้บริหารประเทศด้วย)

 

อย่างไรก็ตาม แผนการที่จะครอบครองอาณาจักรของโจ้วอ๋อง  ก็ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากแผนการตัดแขนตัดขา   คือการตัดอาณาจักรรอบ ๆ ที่คอยส่งกำลังสนับสนุน (แผนการนี้พม่าเคยใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ คือครั้งสงครามเก้าทัพ)  แต่การครั้งนี้มีเรื่องนิมิตหมายของห้าธาตุเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  คือหลังจากแผนการตัดแขนตัดขาสำเร็จแล้ว  เป็นช่วงที่เจียงไท่กงอายุได้ 80 ปี (รับราชการเมื่ออายุ 70 ปี และใช้เวลาในการดำเนินแผนการ 10 ปี)


โจวเหวินหวางผู้พ่อก็สิ้นชีวิตไป  โจวอู่หวางผู้ลูกซึ่งมีปณิธานเดียวกันได้ขึ้นเป็นอ๋องแทน  สืบทอดความคิดที่จะล้มล้างราชวงศ์ซาง เพราะแหลกเหลวขึ้นทุกวัน  หลังจากรวมพลได้ในระดับหนึ่งแล้ว จึงลองทำการตรวจพล โดยเขียนจดหมายขึ้น 100 ฉบับ ให้เจ้าเมืองต่าง ๆ มาร่วมชุนนุมกัน  แต่มีผู้ตอบรับการชุมนุมถึง 800 กว่าเมืองและนำกำลังเข้ามากันถึง 10 หมื่น

 

ฮวงจุ้ยโต๊ะทำงาน, ฮวงจุ้ยบ้าน, ฮวงจุ้ยคอนโด, ตกแต่งร้านค้า, อาจารย์แอน

 

เจียงไท่กงมองถึงความเป็นไปของห้าธาตุ ระบบการส่งเสริมและพิฆาตกัน เมื่อสังเกตทางราชวงศ์ซางนั้นเห็นว่าเป็นราชวงศ์ที่ใช้เครื่องใช้ต่าง ๆ ล้วนเป็นทองเสียส่วนใหญ่ สิ่งที่จะข่มธาตุทองเสียได้นั้น คือ ธาตุไฟ  ดังนั้นในวันที่มีการชุมนุมกันที่เมิ่งจินพร้อมกับเจ้าเมือง 800 คนนั้น มีการบวงสรวงเทวดา ทำพิธีเพื่อรวมพล ขณะบวงสรวงนั้น  ท้องฟ้าก็มืดครึ้ม มีนกบินมาจากทางทิศใต้ เป็นนกชาดหรือนกหงส์สีแดงเด่นชัด แสดงสัญลักษณ์ของสัตว์ปีก ธาตุไฟ ทิศใต้
                


(สัตว์ประจำทิศ คือเต่าดำประจำทิศเหนือ หมายถึงผู้สนับสนุน  มังกรเขียวประจำทิศตะวันออกแทนความกล้าหาญ เสือขาวประจำทิศตะวันตก คือความคิด มีสติ กำลังสนับสนุน  และทิศใต้คือนกหงส์) เมื่อแลเห็นนกชาดหรือหงส์แดงบินมาเป็นฝูง  จึงถือเอาเป็นสัญลักษณ์ของโจวอู่อ๋อง คือธาตุไฟ ที่สามารถข่มธาตุทองซึ่งเป็นธาตุของราชวงศ์ซาง เมื่อสิ้นเสียงประกาศการทำนายนิมิต  เกิดเสียงฟ้าร้องดังสนั่นหวั่นไหวมีฟ้าแลบและลมแรงพัดมา

 

หลักปฏิทินโบราณนั้น หลังจากเดือนแห่ (พฤษภาคม) นับไปได้กี่วันถึงวันน้ำ วันนั้นฝนจะตก  และหากจะนับว่าปีนี้มังกรให้น้ำกี่ตัว  ก็นับตามจำนวนวันโดยนับจากวันชิวอิกไปจนถึงวันมะโรง (ซิ้ง) ได้กี่วันก็จะเป็นมังกรให้น้ำตามจำนวนวันที่นับได้  และหากต้องการทราบว่าโคทำนากี่ตัว ก็นับจากวันชิวอิกไปหาวันฉลู (ทิ่ว) ถ้านับได้ 2 วันคือ 2 ตัว ก็จะทำนายว่าคนจะทำนาได้ผลน้อย  นาจะแล้ง ข้าวไม่กล้า และในเดือนมั่งเจ้ง (พฤษภาคม นับเรื่อยมาจนถึงวันหยิม ฝนจะตก)

 

ทั้งนี้เข้าใจว่า เจียงไท่กงคงได้คำนวณฤกษ์ในวันนั้นแล้วว่า จะมีฟ้าร้องฝนตก  นอกจากปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว  ยังมีลูกเห็บขนาดเท่าไข่ไก่ตกลงมาถูกกิ่งไม้โค่น  เจียงไท่กงมีสีหน้าปกติกล่าวว่า  อันฝน หรือหิมะ ลูกเห็บ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่ต้องหวาดกลัว  แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นในวันประกาศนี้ ก็แสดงว่าทัพทั้งหลายเปรียบเสมือนลมฝนซึ่งมาจากทุกทิศทุกทาง  ลูกเห็บคือความสามารถ การยกทัพไปตีซางโจ้วนั้นต้องสำเร็จแน่นอน
                 

ต่อมาเมื่อล้มล้างราชวงศ์ซางได้สำเร็จ เจียงไท่กงได้เป็นรัฐบุรุษ ก่อตั้งราชวงศ์โจว  ดังนั้นราชวงศ์โจวจึงใช้สัญลักษณ์ สีแดง คือธาตุไฟ และนกหงส์  เจียงไท่กงได้ช่วยเหลือราชการถึงอายุได้ 100 ปี ปราบกบฏ  รวบรวมหัวเมือง พัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการศึกษาให้ราษฎรมีระเบียบจารีตประเพณีอันดีงาม  รับสมัครผู้มีภูมิปัญญาทั่วสารทิศ  รับผู้มีความสามารถและชื่อเสียงจากฮวนตะวันออกให้ดำรงตำแหน่งตามความถนัดและความสามารถ  เจียงไท่กงรับใช้กษัตริย์ถึง 3 รัชกาล

 

เจียงกุยแหย, เจียงไท่กง, โจวหวินหวาง, ปี่ก้าน

 

ในการสร้างเมืองในอดีต จะต้องมีหลักวิชาแฝงอยู่ ตั้งแต่การจัดทำเลประตูเมือง  เพื่อที่จะกำหนดว่าจะให้เมืองนั้นมีอายุยืนนานเท่าไร  หลักวิชานี้คือวิชาดาว 9 ยุค ซึ่งหมายถึงการโคจรของดาวเหนือ  ซึ่งมีทั้งหมด 7 ดวง และยังมีดาวดวงเล็กที่ยังเห็นได้ไม่ชัดเจนอีก 2 ดวง รวมทั้งสิ้นเป็น 9 ดวง ซึ่งทั้งหมดนี้จะโคจรสลับผลัดเปลี่ยนกันไปตลอดเวลา




 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
  • สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 12 เกร็ดตำนานไฉ่ซิงเอี้ย โดย อาจารย์แอน
  • สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 5 ยุคชุนชิว - เม่งจื๊อ
  • สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 4 ต้าจี หญิงล่มเมือง ล้มราชวงศ์
  • สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 3 ยุค 3 ราชวงศ์ โจวกงและเจียงไท่กง
  • ฮวงจุ้ยกับธุรกิจ ตอนที่ ๖
  • ตำนานฮวงจุ้ยในประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 4
  • อบรมฮวงจุ้ยพื้นฐาน ตอนที่ 6 / 1
  • ผังเมืองโบราณกับการจัดบ้าน
  • เปรียบเทียบทำเล ๓ ยุค (สุโขทัย-อยุธยา-รัตนโกสินทร์)
  • พิชัยสงครามกับสามก๊ก ตอนที่ ๒/๔ - โหงวเฮ้งสามพี่น้อง