ดวงจีน

 

โหราศาสตร์ในวรรณคดีจีน
5 ก.ย. 2553

 

ไคเภ็ก เอี้ยนหงี เป็นนิยายประวัติศาสตร์ที่เชื่อกันว่าโจวอิ๋วได้ประพันธ์ไว้ตั้งแต่ในสมัย ราชวงศ์หมิง (ว่านลี่ พ.ศ. ๒๑๑๖ – ๒๑๖๓) เรื่องราวของไคเภ็คหรือตำนานการสร้างโลกและวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ตามความเชื่อของจีนนั้น (คล้ายกับอรุณวดีสูตร จักรวาฬทีปนี โลกุปปัตติ ของไทย) เป็นวรรณคดีที่อิงกับประวัติศาสตร์จริงของจีน คุณถาวร สิกขโกศล ปราชญ์ผู้ชำนาญในเรื่องของจีนได้กล่าวถึง ไคเภ็ก ว่า “เนื้อเรื่องถูกต้องตรงตามประวัติศาสตร์เกือบทั้งหมด แม้จะมีเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ปนอยู่บ้าง ก็มิได้ทำให้สาระทางประวัติศาสตร์เสียไป”  ไคเภ็ค หรือตำนานเบิกโลกนั้น ได้มีช่วงของเนื้อหาที่กล่าวถึงที่มาของวิชาของโหราศาสตร์จีน ดังนี้
 
ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า ทราบถึงฮอกฮีสีฮ่องเต้ ฮอกฮีสีฮ่องเต้เสด็จออกแล้วตรัสถามขุนนางทั้งปวงว่า ผลเมล็ดข้าวเปลือกตกลงมาแต่อากาศ และมีเสียงอื้ออึงไปดังนี้ จะมีเหตุดีร้ายฉันใด

 

ชั่งเขียดจึงทูลว่า เวลาวันหนึ่งข้าพเจ้าเที่ยวไปริมฝั่งแม่น้ำง่วนฮูหลกจุย พบเต่าใหญ่มีหนังสืออยู่บนหลังฉบับหนึ่ง คลานขึ้นมาแต่แม่น้ำ ข้าพเจ้าจึงหยิบหนังสือนั้นมาพิเคราะห์ดู แล้วคิดประสมอักษรนั้นให้เป็นตัวอักษรอื่น ๆ ขึ้นอีก พอข้าพเจ้าคิดได้ดังนั้น เม็ดข้าวเปลือกตกลงจากอากาศ ได้ยินเสียงร้องอื้ออึงขึ้น จะเป็นเสียงอะไรไม่ทราบ พระองค์อย่าได้ทรงพระวิตกเลย เหตุที่เป็นประหลาดนั้นเห็นจะเป็นการดีเป็นแน่ บัดนี้ ข้าพเจ้าได้นำหนังสือนั้นเข้ามาถวายให้พระองค์ทอดพระเนตรด้วย ทูลดังนั้นแล้วหยิบหนังสือออกจากกลีบเสื้อถวายพระเจ้าฮอกฮีสีอ่องเต้

 

พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้ทอดพระเนตรแล้วถามว่าหนังสือนี้ท่านแปลได้หรือ ชั่งเขียดจึงทูลว่าข้าพเจ้าดูทราบความในอักษรนั้นเสร็จสิ้น พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้ตรัสถามว่าท่านแปลได้ความประการใด ชั่งเขียดทูลว่าหนังสือนี้เป็นหนังสือสอนให้มนุษย์รู้การในฟ้าดินและธรรมเนียมต่างๆ และสอนให้ประสมอักษรนั้น ให้เรียกว่าอักษรอันนั้น ๆ พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้ได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระทัย รับสั่งให้ชั่งเขียดเขียนเป็นสำเนาส่งไปที่เรือนอาจารย์ ให้สอนราษฎรเรียนหนังสือ

 

 

ไคเภ็ก,  เต่าแบกโองการสวรรค์, ม้ามังกร, มังกร 60 ตัว, โป้ยยยี่ซี้เถียว

 



เมื่อเราเดินทางไปยังประเทศจีน อาจจะเคยได้พบเจอกับหินแกะสลักที่ทำเป็นรูปเต่าแบกโองการสวรรค์อยู่ตามวัดต่างๆ ทำให้เราพอจะจินตนาการออกถึงเรื่องที่ปรากฏในตำนาน ไม่ว่าตำรานั้นจะอยู่กับหนังสือในลักษณะป้ายโองการสวรรค์ หรือปรากฏอยู่ที่กระดองบนหลังเต่าก็ตาม แต่เหตุการณ์นี้ ก็ทำให้เต่าได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสี่สัตว์พิเศษในหลักวิชาฮวงจุ้ยไปโดยปริยาย ตัวอักษรที่ปรากฏพร้อมกับเต่านั้น นำมาซึ่งหลักของการโคจรดาวเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในปฐมบทแห่งวิชาโหราศาสตร์จีน ที่ผู้ศึกษาวิชาฮวงจุ้ยต้องผ่านตามาทั้งสิ้น ซึ่งขอให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามบทความต่อๆ ไปก็จะทราบได้ว่าหลักวิชาที่ได้จากเต่านี้ เรานำมาใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์เรื่องราวได้อย่างแม่นยำจนถึงปัจจุบันได้อย่างไร


 

ไคเภ็ก,  เต่าแบกโองการสวรรค์, ม้ามังกร, มังกร 60 ตัว, โป้ยยยี่ซี้เถียว 

 


ยังมีความอีกบทหนึ่งในหนังสือไคเภ็ค ที่ยังได้กล่าวถึงที่มาของคัมภีร์โหราศาสตร์จีนในลักษณะของตำนานอีกดังนี้


ขณะนั้น นางหนึงออสีผู้เป็นขนิษฐาของพระเจ้าฮอกฮีสีอ่องเต้เฝ้าอยู่ที่นั่น จึงทูลว่าสัตว์นี้รูปเหมือนมังกรและคล้ายม้า แล้วเกิดมาแต่ในแม่น้ำนั้นก็เห็นเป็นการมงคล ควรพระองค์จะพาข้าราชการไปตั้งเครื่องสักการะบูชาและคำนับจึงจะชอบ พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้เห็นชอบด้วย จึงพาข้าราชการไปดู เห็นมีคลื่นระลอกในแม่น้ำเม่งจิ๋น แล้วสัตว์นั้นก็ยืนอยู่บนน้ำ รูปร่างเหมือนม้า สูงประมาณแปดเชียะเก้าเชียะ ตัวนั้นมีเกล็ดมีปีกสองข้าง ครั้นดูไปก็เห็นเหมือนรูปเลาะเถาะ คือรูปอูฐตะพายหีบแดงหีบหนึ่ง ที่หน้าหีบจารึกอักษรสี่อักษร ภาษาจีนว่า ห้อโตลกจือ

 

พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้ก็ประกาศว่า ข้าพเจ้ารักษาแผ่นดินมาได้หลายร้อยปีแล้ว ถ้าข้าพเจ้ามิได้ตั้งอยู่ในยุติธรรมแล้ว ข้าพเจ้าจะรับโทษ ขอท่านจงให้คลื่นและระลอกที่ใหญ่โตนั้นสงบ แล้วอย่าให้น้ำท่วมขึ้นมาให้ราษฎรได้ความลำบากเลย ครั้นประกาศแล้ว ลมและคลื่นและระลอกก็หยุดเป็นปรกติอย่างเดิม จึงได้เรียกสัตว์นั้นว่าเล่งเบ๊ แปลว่าม้ามังกร สัตว์นั้นตะพายหีบขึ้นมาหาพระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้ พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้จึงตรัสว่า สิ่งของในหีบนั้นถ้าจะให้แผ่นดินเป็นสุขแล้วท่านจงคำนับ ถ้าสิ่งของในหีบไม่เป็นการมงคลแล้วท่านจงนิ่งอยู่ เล่งเบ๊นั้นผงกศีรษะสามหน พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้มีความยินดี จึงรับสั่งให้นางหนึงออสีเข้าไปรับหีบที่เล่งเบ๊มา แล้วเล่งเบ๊นั้นก็ลงน้ำหายไป พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้ก็คำนับแล้วรับสั่งให้ตั้งเครื่องบูชาพร้อมด้วยขุนนางทั้งปวงคำนับแล้วเปิดหีบออกดู เห็นหนังสือฉบับหนึ่ง มีอักษรว่า ห้อโตลกจือ เป็นตำราโหราศาสตร์ และตำรารายละเอียดดูวันและคืน และมีสิบสองนักษัตร มีศก มีปี สิบสองปีเป็นรอบหนึ่ง ปีหนึ่งสิบสองเดือน เดือนหนึ่งสามสิบวัน วันหนึ่งสิบสองโมง โมงหนึ่งแปดเคก

 


ห้อโตลกจือ ที่กิเลนนำมานั้นประกอบด้วยตำราสิบสองนักษัตร และวาระต่างๆ ของวันเดือนปี จึงน่าจะเป็นตำราต้นฉบับของหลักวิชาที่ว่าด้วยมังกร ๖๐ ตัว อันเกิดจากการประสมธาตุต่างๆ ของนักษัตร และธาตุพื้นฐานในหลักวิชา (ไฟ ดิน ทอง น้ำ ไม้) ทำให้เกิดการพยากรณ์ถึงการเป็นไปของเหตุการณ์ในช่วงยาม วัน เดือน ปี ที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดเป็นหลักการพยากรณ์ที่เรียกเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า โป้ยหยี่ซี้เถียว (หรือ ปาจื้อซื่อเถียว ในภาษาจีนกลาง) หรือหลักการพยากรณ์โดยใช้นักษัตรและธาตุต่างๆ แปดตัวโดยเรียงเป็นสี่แถว

 


หลักต้นตำรับวิชาที่ได้มาจากสัตว์มงคลทั้งสองนั้น ก็ได้กลายมาเป็นหลักวิชาที่ใช้ในการพยากรณ์แบบโหราศาสตร์จีนและหลักฮวงจุ้ยมาจนถึงปัจจุบันนี้ และหากจะว่ากันตามตำนานไคเภ็คแล้ว หลักวิชานี้ได้เริ่มมีมาพร้อมๆ กับการกำเนิดของโลกเลยทีเดียว