- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
12 พ.ค. 2556
ตอนที่ 1 ฮวงโห แม่น้ำเหลือง สายน้ำแห่งอารยธรรม
แม่น้ำฮวงโหถ้าเอ่ยถึงใครๆ ก็รู้จัก ว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ยาวมากในประเทศจีน ทราบหรือเปล่าคะ ว่า แม่น้ำฮวงโหคือส่วนหนึ่งของเรื่องราวต้นกำเนิดที่เราจะเรียกชาวจีนว่า “มังกร” โดยเปรียบเทียบเอาลำน้ำ ฮวงโห คือ ลำตัวของมังกร ส่วนหัวของมังกร จะมีสัญลักษณ์ของทุกเผ่ารวมกัน มีความหมายถึงความยิ่งใหญ่จากการรวมตัวของชนเผ่าต่างๆ
ในสมัยแรกเริ่ม หวงตี้ (黃帝) ซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าหนึ่ง เลี้ยงสัตว์เร่ร่อนอยู่ในแถบบริเวณแม่น้ำฮวงโห และเป็นผู้รวมชนเผ่าเร่ร่อนทุกเผ่าต่างๆ แล้วเอาสัญลักษณ์ของชนเผ่าต่างๆ มารวมกันขึ้นเป็นรูปสัตว์ชนิดหนึ่งให้เป็นส่วนหัว แล้วก็เอาแม่น้ำฮวงโหเป็นลำตัว ตั้งแต่นั้นมาก็เลยถือว่าประชาชนทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวคือชนเผ่ามังกร ต่อมา ก็คือ สัญลักษณ์ของชาวจีนทั้งหมด
ฮวงโหเป็นแม่น้ำสายอารยธรรมของโลกก็ว่าได้ มีเมืองหลวงตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำฮวงโห ถึง 4-5 เมืองด้วยกัน เช่น ซีอาน หรือ เสี่ยนหยางในอดีต ลั่วหยาง เจิ้งโจว และเมืองไคฟง เป็นต้น นอกจากนี้ยังไหลผ่าน 9 มณฑลด้วยกัน ความยาวประมาณ 5,000 กิโลเมตร
ปัญหาของแม่น้ำฮวงโห ก็คือ อุทกภัย หน้าน้ำมีน้ำท่วม ราษฎรได้รับความลำบาก เราคงนึกภาพออกว่าน้ำท่วมมีความลำบากอย่างไร
ดังนั้น ชาวจีนจึงมีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องการชลประทาน และบุคคลสำคัญคนแรกที่ริเริ่มในเรื่องของการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอันยิ่งใหญ่ เขามีนามว่า ต้าหวี่ ซึ่งความจริง ต้าหวี่ เป็นสมญานามที่หมายถึงว่าเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ แท้จริงแล้วเขาแซ่ซี นามว่า เหวินมิ่ง แต่ประชาชนทั้งหลายเรียกเขาว่า “ต้าหวี่” (大禹)
เขาใช้เวลาถึง 13 ปี ในการแก้ปัญหาเรื่องของน้ำท่วม ด้วยการขุดลอกคูคลอง รวมถึงการทำเขื่อนกั้นน้ำ ให้น้ำไหลกระจายออกไป นอกจากจะได้ผลทางด้านการเกษตรแล้ว น้ำยังไหลลงสู่มหาสมุทร ทำให้เรื่องของน้ำท่วมสมัยนั้นลดลง และก็เป็นต้นแบบของการชลประทานในเวลาต่อมา
ต้าหวี่ใช้เวลา 13 ปีด้วยกัน ในการที่จะไปดูจุดต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อสำรวจว่าจุดไหนมีข้อเสีย ข้อดีอย่างไร ว่าตรงนี้น้ำท่วมเพราะอะไร ตรงนี้น้ำไม่ท่วมเพราะอะไร จึงได้รู้ว่าที่ใดต้องมีเขื่อนหรือคันน้ำเพื่อกั้นกระแสน้ำไม่ให้พุ่งแรงเกินไป
การทำงานหนักถึง 13 ปีของต้าหวี่ดังที่กล่าวมาแล้ว ถึงขนาดเดินผ่านบ้านตัวเอง 3-4 ครั้ง ก็ไม่ได้แวะเลย คือการเสียสละอย่างสูงและเห็นถึงความทุ่มเทมานะพยายามที่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จแม้จะใช้เวลานานก็ตาม
ในที่สุดผลแห่งความดีของเขา ทำให้ได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิคนต่อมา
ชาวจีนแบ่งออกเป็นยุค ในยุคแรกๆ ที่ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนได้ เป็นเพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมา อาจจะเรียกว่า พงศาวดาร หรือ ตำนานก็ได้ เมื่อยุคต่อมาถึงมีการจดบันทึก จะเรียกว่าประวัติศาสตร์เสียเลยทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะอาจใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไป หรือเพราะไม่อาจจะเขียนตรงๆ ได้ ก็ยังเรียกกันว่า พงศาวดาร จนกระทั่งมีการบันทึกแน่นอนในสมัยราชวงศ์ฮั่น จึงจะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ นั่นคือมี เดือน ปี รัชสมัย กำกับด้วย
ดังนั้นในตำนานของต้าหวี่ ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพงศาวดาร หรือ เป็นประวัติศาสตร์ เพียงแต่เป็นเรื่องเล่าสืบต่อๆ กันมา แต่อย่างน้อยเราก็มองเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ต้องอาศัยการสำรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วน ความตั้งใจจริง มองเห็น ข้อดีข้อเสีย การแก้ปัญหาเรื่องอุทกภัยถือเป็นแบบอย่าง ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน นับว่าประเทศจีนเป็นเลิศในเรื่องของชลประทานเพราะมีการค้นคว้าแก้ปัญหาที่ยาวนานมากว่าพันปีนั่นเอง
ชมรายการ สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 1
http://www.youtube.com/watch?v=iHiibUjclO0