- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
25 ก.ค. 2556
สรุปบทความจากรายการ
"สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 27 ซูหยวน ที่มาของเทศการบ๊ะจ่าง"
ออกอากาศทาง TNN2 Truevision ช่อง 8 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 20.20 - 20.30 น.
จากการวางรากฐานของโจวกงที่มองเห็นว่าท่านอ๋องหรือฮ่องเต้องค์เดียวคงจะปกครองดูแลทั้งประเทศได้ไม่ทั่วถึง จึงมีแนวคิดให้ส่งขุนศึกหรือเชื้อพระวงศ์ที่ชนะสงครามซางโจ้วออกไปปกครองหัวเมืองหรือแคว้นต่างๆ เพื่อดูแลทุกข์สุขอาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุขโดยทั่วถึง เป็นการวางรากฐานการปกครองให้เป็นปึกแผ่น
เพียงแต่ว่าความโลภของคนมีมาก อำนาจเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะในแต่ละหัวเมืองนั้นใช่ว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ไปเสียหมด อาจจะมีความอดอยากบ้าง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลบ้าง ทำให้ไม่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ จึงเกิดสงครามระหว่างรัฐเพื่อแย่งชิงเสบียง หรือรวบรวมคนเพื่อทำให้แคว้นมั่งคั่ง มีความสมบูรณ์และมีอำนาจมากขึ้น เกิดเป็นวงจรที่เริ่มขึ้นในฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกในฤดูชุน หรือ ใบไม้ผลิ แล้วเก็บกักตุนเสบียงเพื่อทำสงครามในฤดูชิวเทียน คือฤดูหนาว จึงเรียกว่า ยุคชุนชิวและต่อด้วยยุคจ้านกว๊อหรือฉิกย้ง ซึ่งเหลือมหาอำนาจอยู่ คือ ฉิน ฉี ฉู่ เจ้า เว่ย เอี้ยน หาน ทั้งหมด 7 รัฐด้วยกัน และใน 7 รัฐนี้สงครามที่สำคัญๆ มักจะเกิดกับ ฉิน ฉี และฉู่ เพราะเป็นรัฐใหญ่
ใน 3 รัฐใหญ่ที่ว่านี้เราจะยังไม่พูดถึงรัฐฉินของฉินซีอ๋องในเวลาต่อมา จะขอพูดถึงรัฐฉู่ซึ่งเป็นรัฐแรกที่มีความเข้มแข็ง ก่อนรัฐอื่นๆ
มีขุนนางตงฉินผู้หนึ่งที่เป็นทั้งนักปราชญ์ และกวีเอกมีนามว่า ซูหยวน (屈原) เขาเป็นคนซื่อสัตย์และซื่อตรง คนซื่อตรงบางทีก็ขาดไหวพริบปฏิภาณที่จะหลีกเลี่ยง เพราะถ้ามีไหวพริบก็เท่ากับไม่ซื่อตรงแล้ว ดังนั้น ความซื่อตรงของเขาจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับขุนนางกังฉิน เหล่าขุนนางกังฉินพยายามยุยงอ๋องผู้เป็นใหญ่คืออ๋องฉู่ ให้รังเกียจเดียดฉันท์ขุนนางตงฉินผู้นี้ เพราะความเป็นตงฉินในบางครั้งบางคราวทำให้ขัดกับอ๋องหรือว่ากษัตริย์ด้วย ทำให้ไม่เป็นที่พอพระทัยอยู่แล้ว เมื่อรวมกับการยุยงของเหล่าขุนนางกังฉิน ในที่สุดก็ถูกเนรเทศ ออกจากดินแดนแคว้นฉู่
ทั้งๆ ที่ยึดความซึ่อตรงมาตลอดจนถึงบั้นปลายของชีวิตกลับแลกมาซึ่งการถูกเนรเทศ ทำให้ซูหยวนเสียใจมาก ร่ายกวีไปจนถึงแม่น้ำแยงซีเกียง ในเดือนห้า ขึ้นห้าค่ำ เขาก็กระโดดน้ำตาย ชาวบ้านต่างร้องไห้อาลัยรัก เพราะรู้ว่าซูหยวนเป็นคนดี เป็นขุนนางตงฉินที่ช่วยเหลือราษฎร หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคนฝันว่าเขาอดอยาก ราษฎรทั้งหลายจึงนำเรือออกไปกลางแม่น้ำแล้วก็โยนอาหารลงไป ก็มีคนฝันอีกเหมือนกันว่า เขาแต่งตัวสวยงามมาขอบคุณประชาชนแล้วบอกว่าเขาไม่ได้รับประทานอาหารเหล่านั้น เพราะเมื่อโยนลงไปก็กระจายลงแม่น้ำหมด ชาวบ้านก็คิดหาทางใหม่ จนออกมาเป็นอาหารที่ห่อเรียบร้อยไม่กระจายในน้ำ เป็นที่มาที่เรารู้จักกันว่าในช่วงขึ้น 5 ค่ำเดือน 5 จะมีเทศกาลบ๊ะจ่าง
นี่คือที่มาของเทศกาลทำขนมบ๊ะจ่างที่เกี่ยวพันกับขุนนางตงฉินผู้มีชื่ออย่างยิ่งในประวัติศาสตร์จีน บุคคลนั้นก็คือ ซูหยวน คนนี้เอง
ชมรายการย้อนหลังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=lh2Ea2NEnyQ